8 ก.พ.2562 นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ประจำไตรมาส 4/2561 จาก 1,242 พันตัวอย่างทั่วประเทศ ว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ 43.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาส 1/2562 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 43.9 โดยมองว่าสถานการณ์ธุรกิจของภาคเอสเอ็มอีจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แม้จะไม่ดีมาก แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ประคองให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ในไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ระดับ 50.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาส 1/2562 จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50.6 ส่วนดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ในไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ระดับ 52.8 ลดลง 0.3 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาส 1/2562 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 53.1 ถือเป็นระดับการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ในไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ระดับ 49 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/2561 เป็นต้นมา และคาดว่าไตรมาส 1/2562 จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 49.2 ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอสเอ็มอีเติบโตได้ดีขึ้น พร้อมทั้งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้านสินเชื่อ ด้านหนี้สิน ด้านภาษีและด้านการศึกษา
ทั้งนี้ มองว่า ไตรมาส 1/2562 มีหลายปัจจัยที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ อาทิ ความชัดเจนเรื่องสงครามการค้า แผน Brexit ของอังกฤษ การเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะมีผลถึงทิศทางของภาคเอสเอ็มอีในประเทศด้วย
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงก่อนหน้านี้ ถือเป็นปัจจัยลบของภาคเอสเอ็มอี เพราะมีผลกับต้นทุนทางการเงิน แต่ในระยะสั้นนี้ยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่มีการตอบสนองกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากนัก โดยยังคงดูแลลูกค้าต่อไป แต่ผลจากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณทางหนึ่งว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25-0.50% ในปีนี้ ตรงนี้ทำให้ภาคเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัว เช่น การทำบัญชีให้ถูกต้องซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มอบยุทธศาสตร์ 3 เติม ให้แก่เอสเอ็มอีไทย ได้แก่ 1. เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอบรมสัมมนา 2. เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3. เติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับสร้างความมั่นคงในอาชีพ โดย 3 เติมดังกล่าว จะช่วยยกระดับเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอี สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |