นปช.หมดสภาพ!ปัดน้อยใจทษช.


เพิ่มเพื่อน    


    กกต.สรุปยอดสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ 4  วัน 9,215 คน ยื่นรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์แล้ว 34 พรรค    "ปชป." ส่งบัญชีรายชื่อ 150 คน ชู "มาร์ค" เป็นนายกฯ  ส่วน "พปชร." วางไว้ 120 คน "รปช." เคาะ 150 คน ไร้ชื่อลุงกำนันตามคาด "จรุงวิทย์" แย้ม 15 ก.พ.ประกาศรับรองคุณสมบัติ "นปช." ดาหน้าปัดน้อยใจพรรค ยันร่วมหาเสียงเหมือนเดิม "ณัฐวุฒิ" อ้ำอึ้งโดนซักกระแสลือมีบุคคลสำคัญนั่งนายกฯ บัญชี "ทษช." บอกเอาไว้รู้พร้อมกัน 8 ก.พ. "จาตุรนต์" รับสภาพหลุดแคนดิเดต แกนนำ 4 พรรคใหญ่โชว์นโยบายเศรษฐกิจ
    ตลอดทั้งวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัคร ส.ส.เป็นวันที่สี่ ได้มีพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กต่างทยอยเดินทางมายื่นใบสมัครเพิ่มเติมที่สำนักงาน กกต. อาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ อย่างคึกคักต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเสนอบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี  
    โดยตั้งแต่เวลา 09.30 น. พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค พร้อมด้วยนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้เดินทางมายื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 67 คน
    นายนิกรกล่าวว่า พรรคได้เตรียมเอกสารส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 67 คน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 80 รายชื่อ แต่ติดปัญหาเรื่องเอกสาร โดยเฉพาะรายการเสียภาษีย้อนหลัง ในส่วนของการสมัครแบบแบ่งเขต มั่นใจว่าส่งสมัครมากกว่า 300 เขตแน่นอน และเป็นครั้งแรกที่ส่งสมัครใน กทม.ครบ 30 เต็มพื้นที่ 
    "นอกจากการยื่นสมัครแบบบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคจะเสนอชื่อ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว ส่วนนายวราวุธ, พล.อ.สนธิ และนายธีระ วงศ์สมุทร จะอยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด และจะยื่นหนังสือขอใช้สิทธิใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ตามระเบียบของ กกต. รวมถึงได้ประสานให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตไปยื่นจองสิทธิ เพราะหากพ้นกำหนดในวันที่ 8 ก.พ. ก็จะเสียสิทธิทันที" นายนิกรกล่าว
     เวลา 10.00 น. พรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.)  นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางมายื่นรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค จำนวน 40 คน โดยมีรายชื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน อันดับ 1, นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ อันดับ 2, นพ.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช อันดับ 3 เป็นต้น และไม่มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
    นายไพบูลย์กล่าวว่า พรรค ปชช.ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในแบบแบ่งเขตจำนวน 320 เขต 75 จังหวัด ไม่ได้ส่งใน จ.ตราด และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งมติของพรรคจะไม่ส่งชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี รอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ ต่อไปเท่านั้น และเชื่อว่าพรรคจะมีผู้สนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ล้านเสียง
    เวลา 10.30 น. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายกรณ์ จาติกวณิช และแกนนำพรรค เข้ายื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และยื่นบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ยื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน และเสนอชื่อคนดำรงตำแหน่งนายกฯ 1 คน คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 10 ลำดับแรก คือตนลำดับที่หนึ่ง ตามด้วยนายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายจุติ ไกรฤกษ์, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู โดยทุกคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อครั้งนี้เป็นคนที่ทำงานให้กับพรรค 
สมัคร ส.ส.วันที่สี่คึกคัก
    "เราได้ประชุมกับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้ง 150 คนแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครติดใจ และขอให้พรรคเป็นคนจัดลำดับ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะพอใจ เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งคงคาดการณ์ลำดับปลอดภัยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่หากคะแนนเราเท่าเดิมกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส.ส.เขตเราจะได้ประมาณ 100 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 40 คน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
    ถามว่ามีข่าวลือรัฐบาลแห่งชาติ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า เราเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ก็ควรให้ประชาชนได้ตัดสินใจก่อน อยากให้ใครเป็น ส.ส. อยากสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ก็ว่าไปตามกระบวนการ ซึ่งกระบวนการการเลือกตั้งได้เดินไปแล้ว ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องไปดูผลการเลือกตั้งก่อน
    จากนั้น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์,  นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เดินทางมายื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 120 รายชื่อต่อ กกต. 
    ต่อมาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค มายื่นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคชาติพัฒนา หลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่มาสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ยื่นไว้ ซึ่งนายเทวัญกล่าวว่า บัญชีนายชื่อนายกฯ ของพรรคเป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคที่ให้เสนอนายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และตน รวม 3 ชื่อ
    "นายสุวัจน์และ นพ.วรรณรัตน์มีความพร้อมที่จะเป็นนายกฯ เนื่องจากมีประสบการณ์ทางการเมืองมามากกว่า 30 ปี เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา" หัวหน้าพรรค ชพน.กล่าว 
    เวลา 11.00 น. พรรคประชาชาติ (ปช.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรค เข้ายื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 58 คน พร้อมบัญชีนายกรัฐมนตรี
    นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า พรรคมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผู้สมัคร ส.สแบบแบ่งเขต 215 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 58 คน ส่วนบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคมี 3 ชื่อ ได้แก่ ตนในฐานะหัวหน้าพรรค, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม ตั้งเป้าอย่างน้อยต้องได้ ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ 25 ที่นั่ง โดยเวลาที่เหลืออยู่จะเร่งหาเสียง เพื่อเสนอตัวว่าพลังประชาชาติพร้อมดูแลประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความมั่นใจว่ายกทีม รวมถึงอีกหลายจังหวัดในภาคใต้และจังหวัดในฝั่งอันดามัน มั่นใจว่าจะได้ไม่น้อยกว่า 11-12 ที่นั่งแน่นอน 
    เวลา 11.30 น. พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรค พร้อมคณะผู้บริหารพรรค เดินทางมายื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค โดยนายมิ่งขวัญกล่าวว่า พรรคเสนอ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 82 คน ส่วนบัญชีนายกฯ คือตนคนเดียว ส่งผู้สมัครเขตประมาณ 340 เขต นโยบายของพรรคจะเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก
    เวลา 13.30 น. พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรค นำผู้สมัครมายื่นเอกสารสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 ราย ส่วนบัญชีนายกฯ ของพรรคไม่ยื่น
    นายเอนกกล่าวว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต ที่ไม่มีชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นความชัดเจนตามความตั้งใจของนายสุเทพที่ไม่ลงเล่นการเมือง ส่วนบัญชีรายชื่อของพรรคเรียงลำดับสลับชายและหญิง เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศและหลากหลายกลุ่มอายุ แม้พรรคจะไม่พูดถึงเรื่องคนรุ่นใหม่มากนัก แต่พรรคมีความชัดเจน โดยให้คนรุ่นใหม่อยู่ใน 10 ลำดับบัญชีรายชื่อด้วย 
    ต่อมาเวลา 16.54 น. กกต.ได้สรุปการปิดรับสมัคร ส.ส.ในวันที่สี่ว่า ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้สมัคร ส.ส.ใน 350 เขต รวม 1,629 คน รวมผู้สมัคร 4 วัน 9,215 คน จาก 73 พรรคการเมือง ส่วนในระบบบัญชีรายชื่อวันนี้มียื่นสมัคร 34 พรรคการเมือง และกกต.ได้ตรวจรับรองแล้ว 23 พรรคการเมือง โดยในส่วนที่เหลือทางเจ้าหน้าที่ยังดำเนินการตรวจสอบเอกสารอยู่
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า หลังการปิดรับสมัคร กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติของทั้งผู้สมัครในระบบแบ่งเขต ระบบบัญชีรายชื่อ และผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกรณีของผู้ได้รับการเสนอชื่อนายกฯ จะดูคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรีเป็นหลัก ซึ่งในวันที่ 15 ก.พ. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครอย่างเป็นทางการทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าใครเป็นผู้สมัครในแบบใด จะได้เลือกได้ถูกต้อง
    ถามถึงคำร้องของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ขอให้ตรวจสอบกรณีถูกใส่ร้ายผ่านโซเชียลมีเดีย เลขาฯ กกต.กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาเรื่องการใส่ร้ายในโซเชียลมีเดียของ กกต. ได้มีการพิจารณากรณีดังกล่าวและจะเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันที่ 8 ก.พ.นี้ หาก กกต.เห็นว่าข้อความที่มีการโพสต์เป็นการใส่ร้ายจริง ก็จะมีมติแจ้งให้ผู้โพสต์ทำการลบข้อความ แต่ถ้าไม่ลบ ก็จะแจ้งให้เฟซบุ๊กดำเนินการลบแทน 
    "แม้ลบแล้วการดำเนินคดีก็จะยังคงมีอยู่ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน และถ้าพบว่าผู้ดำเนินการเข้าข่ายเป็นผู้ใด ก็จะแจ้งความดำเนินคดีอาญา ซึ่งโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถ้าหากพบว่าผู้สมัครพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะพิจารณาเรื่องการเพิกถอน ตัดสิทธิเลือกตั้งและยุบพรรคการเมืองนั้น" เลขาฯ กกต.ระบุ
ลุ้นชื่อนายกฯ'ทษช.'
    ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงพรรค พร้อมด้วย นพ.เหวง โตจิราการ และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ทษช. ซึ่งทั้งหมดเป็นแกนนำกลุ่ม นปช. แถลงข่าวกรณีมีกระแสความไม่พอใจการจัดอันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อจนอาจทำให้พรรคแตกร้าว
    นายณัฐวุฒิยืนยันข่าวที่ออกมาไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง พวกตนก่อนตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคได้ปรึกษาหารือกัน มีคำถามต่อมายังพรรคไทยรักษาชาติว่า ยืนยันแผนการประชาธิปไตยต่อต้านการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ซึ่งได้รับคำยืนยันว่า ใช่ พวกเราเลยมา โดยไม่ได้พกข้อเรียกร้อง ความต้องการทางการเมืองมาด้วย 
    "ในส่วนของเพื่อนมิตรอีกหลายคน ที่ไม่ได้มาปรากฏตัววันนี้ ส่วนใหญ่ติดภารกิจ ต้องขอพื้นที่ความตั้งใจ บางคนที่ถูกหยิบยกชื่อขึ้นมา น้องๆ เหล่านั้นไม่ใช่คู่ต่อสู้ของพวกผม คู่ต่อสู้คือเผด็จการ เราจะจับมือร่วมกันเดิน คนที่เข้ามาในพรรคล้วนมีศักยภาพ พวกผมพร้อมยืนบนเวทีเดียวกัน ส่วนกรณีนายพายัพ ปั้นเกตุ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41 ไม่ได้มาร่วมแถลงข่าวด้วย คาดว่าในอีก 1-2 วันคงจะกลับมา และยังเป็นกำลังหลักในการหาเสียง ส่วนกรณีออกจากกลุ่มไลน์พรรคนั้น เชื่อว่านายพายัพจะกลับเข้ามาในกลุ่มใหม่ในไม่ช้า" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นพ.เหวงกล่าวว่า ขอให้ได้สบายใจ ตนไม่ไปไหนยังอยู่ไทยรักษาชาติ และจะเดินต่อไป เรื่องลำดับที่ เป็นเรื่องเบาเหลือเกิน ถ้าเทียบกับเราต้องการโค่นล้มรัฐประหาร ปิดประตูรัฐประหาร ไม่ให้เกิดอีกในประเทศไทย เพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
    เช่นเดียวกับนายวิภูแถลงกล่าวว่า นับแต่ต่อสู้ปี 2549 ออกมา เพราะไม่ชอบรัฐประหาร ต้องการการเมืองระบอบประชาธิปไตย ถามว่าน้อยใจเสียใจหรือไม่ ขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาอย่างลูกผู้ชายว่าเป็นเรื่องเล็กมาก เรายืนอยู่ตรงไหนก็ได้ หากมีภารกิจเป้าหมายเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 
    "วันนี้จำเป็นต้องชี้แจง ผมและเพื่อนมิตรไม่มีปัญหา ภารกิจของเราหนักหนาใหญ่โต อย่าคิดเล็ก คิดน้อย ไม่เช่นนั้นจะทำให้กระบวนการกระเพื่อมได้ เรายังยืนหยัดชัดเจนกับพรรคไทยรักษาชาติ" แกนนำ นปช.รายนี้ระบุ
    ซักถึงแคนดิเดตนายกฯ ที่มีกระแสข่าวจะมีบุคคลสำคัญภายนอกพรรคเข้ามา นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารพรรค ตนไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค เลยยังตอบไม่ได้ แต่เรายืนยันต่อจุดยืนอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
    ถามว่า ในฐานะแกนนำ นปช.เห็นว่าใครเหมาะสมกับบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค นายณัฐวุฒิกล่าวว่า คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะหากพูดไปจะกลายเป็นการชี้นำ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในวงกว้าง จะมีบุคคลสำคัญถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สมาชิกพรรคและแกนนำพรรคต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น บางรายระบุเพียงว่า เอาไว้ทราบพร้อมกันในวันยื่นรายชื่อต่อ กกต.วันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรับสมัคร
    "ในช่วงเช้าวันที่ 8 ก.พ. คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นัดหารือที่ทำการพรรค ย่านแจ้งวัฒนะ จากนั้น ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค แกนนำพรรค จะยื่นรายชื่อนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักษาชาติต่อ กกต. เวลา 09.10 น." แหล่งข่าวจากพรรค ทษช.ระบุ
4 พรรคใหญ่โชว์นโยบาย
    ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่หาเสียงกับพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่มาซื้อของภายในตลาดวัดตะกล่ำ จากนั้นเดินทางไปหาเสียงต่อที่ตลาดเอี่ยมสมบัติ โดยได้แวะรับประทานอาหารเช้าที่ตลาดเอี่ยมสมบัติ และปิดท้ายที่การเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดทุ่งลานนา
    นายจาตุรนต์กล่าวถึงรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคว่า ยังไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ก่อนหน้านี้ก็มีชื่อตนว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนหนึ่งของพรรค ซึ่งก็รอว่าจะมีหนังสือมาให้เซ็นยินยอมหรือไม่ แต่วันนี้ก็วันที่ 7 ก.พ.เข้าไปแล้ว เข้าใจว่าคงจะไม่ต้องเซ็นแล้ว 
    "ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนจะเป็นบุคคลจากภายนอกหรือไม่นั้น  คณะกรรมการบริหารก็ยังไม่ได้แจ้งให้สมาชิกพรรคทราบ ขอให้รอการชี้แจงจากคณะกรรมการบริหารพรรคจะดีที่สุด" นายจาตุรนต์กล่าว
    ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ มีการจัดงาน Bangkok Post Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนา
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อเราถามประชาชนเลือกตั้งครั้งนี้มีความคาดหวังอะไร คำตอบคงไม่ต่างกัน คือ 1.ต้องการหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ 2.ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า 3.ไม่ต้องการให้การเมืองกลับมาเป็นแบบนี้อีก การปฏิวัติสองครั้งเกิดจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดของทุกฝ่าย ประเทศเสียหาย เศรษฐกิจตกต่ำ การเลือกตั้งครั้งนี้ ปชป.ต้องการนำพาประเทศไปข้างหน้า กลับคืนสู่เวทีสากลด้วยความภาคภูมิ หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ตอบโจทย์สังคมสูงวัย และที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยจะเดินบนเส้นทางประชาธิปไตย และไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบนี้อีก
    “ปชป.ไม่สนจะเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน หรือบริหารเศรษฐกิจไม่ดี แต่เราพร้อมที่จะร่วมมือกับพรรคการเมืองที่หวังจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น” หัวหน้า ปชป.กล่าว
    ส่วนนายชัชชาติกล่าวว่า หลังการเลือกตั้งต้องถามพรรคการเมืองที่จะร่วมมือกับเราว่าเห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่ หากเห็นด้วยคงจะร่วมมือกันไม่ได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็อาจจะคุยกันได้ ซึ่งโครงการอีอีซี ตนเห็นด้วยต้องทำต่อ แต้ต้องมีการทำความเข้าใจใหม่ เนื่องจากปัจจุบันทางรัฐบาลยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะเรื่องระบบคมนาคม ระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับอีอีซี นอกจากนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากคณะกรรมการของอีอีซี ชุดปัจจุบันไม่มีผู้แทนจากฝ่ายสิ่งแวดล้อมเลย
    ขณะที่นายอุตตมกล่าวว่า เราจะขยายโครงการลักษณะเดียวกับอีอีซีไปทั่วประเทศไทย อย่างอีสาน 4.0 หรือล้านนา 4.0 เป็นต้น เพราะเราต้องการลงทุนเพื่ออนาคต โดยสร้างประโยชน์อย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก ซึ่งผมมองว่าเป็นการสร้างฐานความเจริญใหม่ ไม่ใช่เพียงเรื่องการงทุนในอุตสาหกรรม แต่เป็นการลงทุนในเรื่องการสร้างเมืองใหม่ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย
    ด้านนายธนาธรกล่าวว่า ต้องการปฏิรูป และต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ปลดล็อกศักยภาพขอประเทศไทยให้ระเบิดออกมา แต่เราไม่สามารถทำได้เลยไม่จัดการปัญหาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ อย่างกรณีกลุ่มทุนผูกขาด duty free ในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังจะหมดสัญญา แต่รัฐพยายามแก้พ.ร.บ.ร่วมทุนเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนนี้ได้สัมปทานต่อ ซึ่งกลุ่มทุนเดียวกันนี้เป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องถามว่าเราจะเอาแบบนี้หรือ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"