แก้วิกฤติฝุ่นจิ๋วต้องการ ความกล้าหาญทางการเมือง!


เพิ่มเพื่อน    

    การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองที่กำลังกระทบวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ จังหวัดขณะนี้ต้องทำเป็นระบบและต่อเนื่องจริงจัง
    เพียงแค่มีนโยบายสวยหรูฟังดูดีไม่พอ เพราะหากขาด “ความกล้าหาญทางการเมือง” ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้
    เพราะการแก้ปัญหามลพิษที่ต้นตอย่อมกระทบผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ธุรกิจบางประเภทในระยะแรก ทุกฝ่ายต้องปรับตัวและสร้างวินัยให้กับตนเอง เสียงคัดค้านและการวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้ต้องทำตามกฎกติกาก็จะเกิดขึ้น
    แต่ผู้มีหน้าที่ทำให้นโยบายเกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติจะต้องมุ่งมั่นอดทนและฟันฝ่าอุปสรรคระยะสั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายส่วนรวมของชาติ
    ต้องสู้ด้วยสถิติ, ข้อเท็จจริงและงานวิจัย มิใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึกหรืออคติอันเกิดจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
    ตัวอย่างของประเทศจีนที่แก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งเป้าชัดเจนว่าปี ไหนจะให้ลดจำนวน PM-10 และ PM-2.5 เท่าไหร่ ติดตามความคืบหน้าตลอดเวลา ประเมินผลทางปฏิบัติและปัญหาเพื่อการแก้ไขอย่างปัจจุบันทันด่วน
    ที่สำคัญคือ การสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เอาข้อมูลและข้อเท็จจริงเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ชักชวนให้ประชาชนเป็นส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง
    กรณีศึกษาของประเทศจีนคือผลการศึกษาและวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของจีนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ใน 74 เมืองสำคัญในจีนลดลง 33% จากการทำตามแผนของรัฐบาลในการลดปริมาณฝุ่นและกำจัดมลพิษต่างๆ 
     เขาเรียกแผนนี้ว่าเป็น Air Pollution Control ระดับชาติ มีการวัด KPI ชัดเจน ด้าน Air Quality พร้อมสิ่งสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย ในระยะเวลา 5 ปี (2013-2017)
    ผลที่ได้มาคือ นอกจากฝุ่นและมลพิษต่างๆ จะลดลงแล้ว อัตราการเสียชีวิตของประชากรจีนจากโรคปอด โรคที่เกี่ยวกับหลอดลม และโรคหัวใจ ก็ลดลงด้วย 
    ข่าวเรื่องนี้ปรากฏในสื่อของอินเดียที่แสดงความเห็นว่านี่คือตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ควรเรียนรู้จากจีน
    เพราะนิวเดลฮีเมืองหลวงของอินเดียกับปักกิ่งของจีนมีปัญหาละม้ายกัน แต่ที่แตกต่างกันคือวิธีการแก้ปัญหาที่เด็ดขาดชัดเจนของจีน เพราะรัฐบาลกลางสามารถสั่งการให้เดินหน้าตามมาตรการระยะสั้น, กลางและยาวได้
    อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก ทุกนโยบายมีการถกแถลงอย่างกว้างขวาง พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และระบบราชการของเขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หวงแหนอำนาจของตนเหมือนระบบราชการไทย
    แต่หากเราอ้างว่าการปกครองแบบประชาธิปไตย (แบบที่ไทยเราคาดหวังหลังเลือกตั้ง) ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเด็ดขาดได้เหมือนระบอบคอมมิวนิสต์ที่ผู้นำสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ก็เท่ากับเรายอมจำนน ยอมรับว่าระบบการปกครองแบบรวมศูนย์เท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้
    ความจริงระบอบประชาธิปไตยที่มีความคิดหลากหลายและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงนั้นไม่ควรจะเป็นระบอบที่อ่อนแอ แก้ปัญหาระดับชาติไม่ได้ 
    ตรงกันข้ามระบอบที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศผ่านตัวแทนนั้นควรจะต้องเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้รัฐบาลที่อาสามาทำงานให้ประชาชนต้องลงมือทำงานอย่างจริงจัง และมีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งที่อาจมีผลกระทบระยะสั้นต่อคนบางกลุ่ม แต่เป็นผลประโยชน์ระยะยาวสำหรับคนทั้งประเทศ
    ประเทศไทยไม่ได้ขาดข้อมูลและผลงานวิจัยที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหา บทเรียนและตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ก็มีให้ศึกษาและนำมาปรับใช้
    ที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยคือ ผู้นำที่ขาดความมุ่งมั่นกล้าหาญและยึดเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
    วิกฤติมลพิษ “ฝุ่นจิ๋ว” ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบครั้งใหญ่สำหรับทุกคนที่ต้องการอำนาจทางการเมือง แต่ไร้ความสำนึกในการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"