'กระทรวงการต่างประเทศ'


เพิ่มเพื่อน    

    เรื่อง "นายฮาคีม" ดูจริงๆ แล้ว........ 
    ปัญหา "ไม่น่าเกิด"
    แต่ที่เกิด นั่นก็ ไม่ได้เกิดจากไทย
    พูดกันตรงๆ "ออสเตรเลีย" นั่นแหละ สร้างปัญหาให้เกิด
    เกิดแล้ว แทนที่จะรีบแก้ไข 
    แสดงให้ไทยเห็นถึงความรับผิดชอบและสำนึกต่อสิ่งที่ทำให้ "มิตรแสนดี" อย่างไทย พลอยยุ่งยากไปด้วย
    แต่นี่...กลับตรงกันข้าม 
    นอกจากไม่รับผิดชอบแล้ว ยังโหนกระแสสิทธิมนุษยชน แว้งไทย 
    พูดแบบประชาธิปไตยเมืองขึ้น......
    เออะ จะให้ไทยปล่อยตัวนายฮาคีมกลับออสเตรเลียท่าเดียว โดยไม่ตระหนักว่า
    ไทยไม่ใช่อาณานิคมหรือประเทศบริวารของใคร อย่างที่ออสเตรเลียเป็น
    ไทยมี "อำนาจอธิปไตย" เมื่อเรื่องนายฮาคีมเข้าสู่ขั้นตอนศาล 
    ใครก็ไปสั่งไม่ได้ 
    ต้อง "ตุลาการ" ในชั้นศาล เท่านั้น ชี้ขาด!
    เราปล่อยให้พวกสิทธิมนุษยชนทั้งในชาติและนอกชาติใต้กลไกของกระบวนการหนึ่ง "ยำไทย" มาหลายวัน
    เมื่อวาน (๖ ก.พ.๖๒) ไทย โดยฝ่ายอัยการและกระทรวงต่างประเทศ ออกมาสอนความเป็นอารยะ 
    สอนกิริยามารยาท รวมทั้งสอนความเป็นสากลทางกฎหมายให้ได้ทราบกัน 
    ทีมงาน "โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" ได้ชี้แจงความเป็นมาและขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับคดีนี้ไปเมื่อวาน 
    ผมจะสรุปบางขั้นตอนมาให้ดู
    -๓ ธ.ค.๖๑ สำนักงานอัยการสูงสุด รับเรื่องร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากบาห์เรน ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญา 
    เพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง ส่งตัวนายฮาคีมให้บาห์เรน "ประเทศผู้มีคำร้องขอ"
    -ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ความว่า นายฮาคีมถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากลาง บาห์เรน ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง 
    ศาลพิพากษาจำคุก ๑๐ ปี 
    หลังจากนั้น นายฮาคีม หลบหนีไปและมาถูกควบคุมตัวในไทยขณะนี้
    -ไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่าคำร้องของบาห์เรน ที่ขอให้ส่งนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีอาญานั้น เป็นข้อหาคดีอาญา 
    เป็นการกระทำที่บัญญัติให้เป็นความผิดตามกฎหมายของไทยด้วย 
    และข้อหาต่างๆ ดังกล่าว มีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่า ๑ ปี อีกทั้ง ไม่ใช่ความผิดทางการเมืองหรือความผิดทางการทหาร 
    จึงเข้าหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑
    -๔ ก.พ.๖๒ ศาลเบิกตัวนายฮาคีมมาสอบปากคำ นายฮาคีมปฏิเสธ ว่าไม่ได้ทำความผิด และไม่ยินยอมกลับไปบาห์เรน 
    ศาลจึงมีคำสั่ง ให้นายฮาคีมและทนาย ยื่นคำคัดค้านคำฟ้อง ภายใน ๕ เม.ย. นัดตรวจสอบพยานสองฝ่าย ๒๒ เม.ย.
    ในประเด็นพูดกันว่า อัยการจะถอนฟ้องนายฮาคีมได้หรือไม่นั้น มีคำตอบจากทีมโฆษกฯ ว่า
    "ไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาล" เท่านั้น 
    ที่สงสัยกันมาก.....
    "หมายแดง" อินเตอร์โพล ถือเป็นหมายจับหรือไม่ และเราจะต้องจับตามหมายนั้นเสมอไปหรือไม่ มีคำตอบว่า
    "หมายแดง" คือหมายจับของอินเตอร์โพล เวลามีการแจ้งลงระบบ ก็จะรับทราบทั่วกัน ในหมู่ประเทศสมาชิก 
    ถือเป็นการ "แจ้งเตือน" ให้ประเทศที่ได้รับแจ้งทราบว่า มีบุคคลที่มีหมายจับติดตัวอยู่เข้ามา
    กรณีนายฮาคีม ไทยได้รับแจ้งจากทางบาห์เรนด้วย ทาง "ตรวจคนเข้าเมือง" จึงได้กักตัวไว้
    และนี่ เป็นอีกประเด็นควรทราบ......
    คือไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบาห์เรน แล้วเราใช้หลักการอะไรในการฟ้อง?    
    มีคำตอบอีกเช่นกัน ว่า 
    การ "ส่งผู้ร้ายข้ามแดน" เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกที่จะช่วยกัน ในการติดตามจับคนร้าย มีด้วยกัน ๒ รูปแบบ 
    คือ แบบ "มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน" กับแบบ "ไม่มีสนธิสัญญาฯ"
    กรณีที่ไม่มีสนธิสัญญาฯ ต้องใช้ขั้นตอนมากขึ้น เช่น ต้องมีคำรับรองต่างตอบแทน 
    "ประเทศผู้ขอ" จะต้องระบุไว้เลยว่า หากอนาคตประเทศไทยจะขอความร่วมมือ ก็จะต้องช่วยกัน 
    ตรงนี้ต้อง "เขียนไว้ให้ชัดเจน" 
    ความผิดที่มีการขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องตรงกันของทั้งสองประเทศ และต้องใช้วิธีทางการทูต คือจะต้อง "ส่งผ่าน" กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น 
    กรณีนายฮาคีม อัยการตรวจแล้ว เห็นว่าเข้าเกณฑ์ครบทุกประเด็น จึงดำเนินการให้  
    ความผิดนั้น ศาลบาห์เรนมีคำพิพากษาแล้ว การวางเพลิงเผาทรัพย์และมีวัตถุระเบิด เป็นความผิดอาญา ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง อัยการจึงดำเนินการไปดังกล่าว
    และที่สังคมอยากรู้ ว่าอีกนานมั้ย กว่าศาลจะตัดสิน?
    ต้องดูวันที่ ๒๒ เม.ย.เป็นเกณฑ์.....
    ว่าทั้งสองฝ่ายจะเสนอบัญชีพยานต่อศาลมากน้อยแค่ไหน บัญชีพยานจะเป็นตัวบอกว่าเร็วหรือช้า
    แต่ทีมโฆษก อสส.สรุปไว้ดี คือท่านบอกว่า
    "ศาลไทยมีหลักกระบวนการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพราะความล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม"
    ก็ตามนั้น....สาธุ!
    นี่ผมสรุปจากบางประเด็น ที่ "ครบ" น่าจะหาตามข่าวได้หรอก
    ทีนี้ มาถึง "แถลงสำคัญ" ของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเรียกเสียงชมอื้ออึง ว่า 
    เป็นภาษาทูตและภาษาทางราชการ "ฉบับแรก" ก็ว่าได้ ในมาดโจงกระเบน พาดสไบเฉียง 
    แต่อร่อย-จี๊ดจ๊าด เหมือนน้ำพริกไทย ที่ถึงครก-ถึงสาก
    เอ้า...อ่านดู คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศ ๖ ก.พ.๖๒
    "โดย สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย"
    "เรื่อง นายฮาคีม อัล อาไรบี ........
    กับปัญหาระหว่างออสเตรเลียกับบาห์เรน"
    ๑.ประเทศไทยไม่รู้จักนายฮาคีม ไม่มีอคติต่อตัวบุคคลและคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการมาไทยของเขา หากไม่ใช่ Interpol ของออสเตรเลีย ที่ได้แจ้งเตือนเรื่องหมายแดงของนายฮาคีมแต่แรก 
    และหากทางการบาห์เรนไม่ได้มีคำร้องขออย่างเป็นทางการให้จับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายฮาคีม 
    ซึ่งไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือ ให้จับเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
    ๒.ทางการออสเตรเลียใช้เวลาหลายวันหลังจากที่นายฮาคีมเดินทางถึงไทยในการแจ้งการยกเลิกหมายแดง 
    ซึ่งในขณะนั้น กระบวนการทางกฎหมายในไทยได้เริ่มขึ้นแล้วและไม่สามารถย้อนกลับได้
    ๓.ขณะนี้ เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ในการเดินตามขั้นตอนของกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ ซึ่งเป็นหลักสากลและเชื่อว่าออสเตรเลียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นเดียวกัน
    ๔.ขออย่าได้ด่วนสรุปว่า ไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน 
    เรื่องนี้ ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งมีพื้นฐาน จากหมายจับ/หมายศาลของบาห์เรน เมื่อเขาหนีความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนมา 
    และบาห์เรน ได้ขอให้คุมตัวเมื่อมาไทย พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานทางกฎหมายให้ฝ่ายไทย  พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงดำเนินการต่อไปแล้ว
    ๕.ขณะเดียวกัน ศาลไทยพร้อมรับหลักฐานทุกชิ้นทุกชนิดที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรมต่อนายฮาคีมที่ทนายของนายฮาคีมจะนำส่งให้ศาลพิจารณา
    ๖.ไม่มีส่วนใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการควบคุมตัวนายฮาคีม 
    แต่ในฐานะรัฐอธิปไตยที่มีพันธะทางกฎหมายและความถูกต้องต่อสังคมโลก ไทยได้มาพบว่าเพื่อนที่ดีของไทย ๒ ประเทศเกิดแย่งตัวบุคคลคือนายฮาคีมที่มาประเทศไทย ในภาวะดังกล่าว ไทยมีทางเดินอันชอบธรรมเพียงว่า (๑) ให้ความร่วมมือทางด้านกฎหมาย และ 
    (๒) เสนอแนะให้เพื่อนที่ดีทั้งสองนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันด้วย หันหน้าหารือ หาทางออกในปัญหาซึ่งเป็นของตนเองเสีย 
    แทนการผลักดันหาทางออกทางอ้อมจากไทยซึ่งเผอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ในภาพของประเด็นปัญหานี้ ซึ่งเพื่อน ๒ ประเทศของไทยมีระหว่างกันมาแต่ก่อน
    ๗.การขอให้ออสเตรเลียกับบาห์เรนคุยกัน หาทางออกร่วมกัน จึงเป็นท่าทีโดยชอบธรรมของไทย 
    และไม่ว่าแนวทางออกร่วมกันดังกล่าวจะมาในรูปแบบใด ไทยก็ยินดีจะช่วยส่งเสริมให้เป็นจริงและบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็น win-win
    ๘.ไทยหวังว่าทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนจะมีมิตรไมตรีที่ดีเพียงพอที่จะร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ 
    หากผลลัพธ์เป็น win-win เชื่อได้แน่นอนว่า คนไทยและผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ของโลก ที่รับรู้เรื่องนี้ จะสรรเสริญทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนอย่างแน่นอน
    ครับ...
    ถ้าจำไม่พลาด "คุณนันทนา ศิวะเกื้อ" คือเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา และสำนวนนี้ ไม่น่าพลาดจากท่าน
    มีคนพูดกันว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"
    นี่เหมือนกัน อ่านแล้วสะเทือนถึงรากเหง้าแดนเดนคุกเลย!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"