มีบางอย่างแสดงให้เห็นว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระมัดระวังตัวมากขึ้น ภายหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เทียบเชิญให้เป็น “เบอร์ 1” ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรค พปชร.จะเสนอ
เสมือนเป็นการ “เตรียมพร้อม” ทันทีที่ “บิ๊กตู่” ตกปากรับคำ “พปชร.” ในฐานะ “ตัวชูโรง” ของพรรคในศึกเลือกตั้งหนนี้ ที่เริ่มทวีอุณหภูมิความดุเดือด
ให้หลังวันที่ 1 ก.พ. หลัง 4 อดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค พปชร. เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า “รายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในวันดังกล่าวปราศจากการพูดถึงเรื่องการเมือง หรือชี้แจงประเด็นร้อนเหมือนที่ผ่านๆ มา มีแต่เรื่องผลงานของรัฐบาล
ถัดมาวันอังคารที่ 5 ก.พ. “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” แถลงลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อความเหมาะสม และต้องการทำงานการเมืองเต็มเวลา
การลาออกของ “พุทธิพงษ์” ทำให้ปัจจุบัน “รัฐบาลบิ๊กตู่” ปราศจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไปสังกัดพรรค หลังก่อนหน้านี้ 4 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศไขก๊อกไปก่อน
สำหรับตำแหน่งของ “พุทธิพงษ์” เมื่อเทียบกับ 4 รัฐมนตรี ถือว่าไม่ได้ตกเป็นเป้าเท่าไร แต่การชิงลาออกตามไปในสัปดาห์ถัดมา อาจเป็นการแยกออกจากกันให้ชัดระหว่าง “รัฐบาล” และ “พปชร.”
สิ่งที่จะป้องกันตัวเองได้ระดับหนึ่งหลังจากนี้คือ ในรัฐบาลไม่มีคนของพรรค พปชร.เหลือแม้แต่คนเดียว ขณะที่ “บิ๊กตู่” และ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นเพียงคนที่ถูกเทียบเชิญให้ไปเป็นนายกฯ เท่านั้น
การไม่มีบุคคลในรัฐบาลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ยังทำให้การลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” ดูปลอดภัยมากขึ้นจากการจับผิดของฝั่งตรงข้าม ไม่ให้ถูกตีความว่าเป็นการหาเสียงทางอ้อมให้ “พปชร.” โดยเฉพาะเมื่อคณะทั้งหมดไม่มี “ฝ่ายการเมือง” เลย โดยเฉพาะเงาตามตัวอย่าง “พุทธิพงษ์” ในฐานะอดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ
ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นชอบแนวทางปฏิบัติของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ จำนวน 6 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องการวางตัว “เป็นกลาง” ทางการเมือง ซึ่งเป็นมาตรการที่เคาะกันระหว่าง “รัฐบาล” และ “กกต.”
เนื้อหาอาจเป็นคล้ายกับของเดิม แต่การเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อเป็นการ “ย้ำเตือน” ให้ทุกคนระมัดระวังตัวมากขึ้นต่อจากนี้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ทีมกฎหมายของนายกฯ เช็กกับ กกต.แทบทุกเรื่องว่า ทำอะไรได้หรือไม่ได้
เพราะ “บิ๊กตู่” รู้ว่า ทันทีที่ตอบรับ ทุกย่างก้าวจะถูกจับจ้อง–จับผิด–ติดตาม เพื่อดิสเครดิตหนักขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
แม้แต่การโพสต์เฟซบุ๊กก็ลดโทนเรื่องการเมืองลงไป พูดแต่เรื่องการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ต่างจังหวัดล่าสุดที่ยโสธรและมุกดาหาร แม้แต่สองข้างทางที่เดินทางไปก็ไร้ป้ายหาเสียงของพรรค พปชร. ปรากฏแต่พรรคอื่น
คำพูดระหว่างการลงพื้นที่ก็พยายามหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับ “พปชร.” เพราะนี่คือกฎเหล็กสำคัญที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุเอาไว้ว่า ไม่สามารถหาเสียงให้พรรคที่เสนอชื่อตัวเองได้
จากนี้ “บิ๊กตู่” พูดได้เพียงขอบเขตงานของรัฐบาล ขณะที่ “พปชร.” ก็ทำหน้าที่เชียร์ หาเสียงให้ โดยแยกออกจากกันชัดเจน เพียงการขับเคลื่อนของทั้งคู่ มีผลและเกื้อหนุนต่อกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |