พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่เรียนรู้วิถีพื้นบ้านอีสาน
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ในจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ที่เปิดพื้นที่ให้มาเช็กอินพร้อมซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านสมัยก่อนอันเรียบง่าย คือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ท่ามกลางชุมชนเล็กๆ 50 ครัวเรือนที่เงียบสงบ
เรือนไม้อีสานที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนนี้ เป็นบ้านของครอบครัวนักออกแบบภาพลักษณ์อาหารและการเกษตร สุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ "ขาบ" อาจารย์พิเศษสถาบันโทคโนโลยีจิตรลดา เจ้าของ Karb Studio ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในอดีตผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสาน เครื่องครัว และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเข้าสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมในวิถีพื้นบ้าน
ปรับปรุงเรือนไม้อีสานเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ประดับด้วยภาพในหลวง ร.9
สุทธิพงษ์ สุริยะ เล่าว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬได้นำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชนมุ่งหวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อยากให้ผู้คนมาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน มีการเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน จุดเด่นของที่นี่ คือ ศิลปะ โดยนำแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชน เล่าวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อม ทำให้เกิดความยั่งยืน พื้นที่กว่า 3 ไร่ แบ่งเป็น 3 โซน ให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ สำหรับโซนพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เก็บค่าเข้าชม 50 บาทต่อคน เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่
" พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตเป็นเรือนไม้อีสานเก่าแก่อายุกว่า 60 ปี ที่นับวันจะหายไปตามกาลเวลา บ้านอีสานทั่วไปจะมีระเบียงกว้างสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในบ้านเป็นห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและปีกขวา พิพิธภัณฑ์นี้นำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวอีสานและชาวไทย ส่วนตัวบ้านสมัยก่อนจะมีบายศรีทำจากใบตอง และตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาว เป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไหว้พระ ตนใช้เป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์" สุทธิพงษ์ กล่าว
สุทธิพงษ์ สุริยะ ปรับปรุงเรือนไม้อีสานของครอบครัวเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
หากเข้ามาเยี่ยมชมจะเห็นว่า ตามมุมห้องจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษที่คนอีสาน ส่วนอีกฝั่งของบ้านพื้นที่เชื่อมติดกันเป็นครัวอีสานแบบสมัยก่อน มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงให้ดู ด้านหลังของห้องครัวได้ปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ กล่าวได้ว่า เป็นการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัว ตัวบ้านสมัยก่อนจะมีบายศรีซึ่งทำจากใบตอง และตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาว เป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไหว้พระ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์
บริเวณพื้นที่โดยรอบของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยโซนต่างๆ อาทิ “กรีน แอคทิวิตี้” ลานอเนกประสงค์ติดกับพิพิธภัณฑ์ มีการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยและบุคลากรในสาขาต่างๆ หมุนเวียนมาสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำให้กับชุมชนในการสร้างอาชีพ นอกจากนี้ยังดีไซน์เป็นห้องจัดประชุมนอกสถานที่ให้กับผู้สนใจที่ต้องการฉีกรูปแบบการประชุมไปจากโรงแรมเดิมๆ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเล่าวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมอย่างน่าสนใจ
ยังไม่พอมี "ตลาดชุมชนพอเพียง” เน้นส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยทุกอำเภอในบึงกาฬ นำวัตถุดิบท้องถิ่น พืชผักพื้นบ้าน อาหารการกิน งานหัตถกรรมวางจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไฮไลต์คือการแต่งกายสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายช่วยกันรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ธีมเข้าวัดเข้าวา ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นของตระกูลใส่เสื้อสีขาว ผู้ชายนุ่งโสร่งใส่เสื้อสีขาว นุ่งกางเกงใส่เสื้อสีขาว มีผ้าขาวม้ามัดเอว ตลาดเปิดให้บริการฟรี ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.
ถัดมาเป็น “พื้นที่ศิลปะและชมดอกไม้ริมทุ่ง” สำหรับสร้างจินตนาการให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาเดินเล่นดูทุ่งดอกไม้ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ในลานมีภาพวาดศิลปะแนวธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป ใครชื่นชอบวาดรูป มานั่งวาดภาพบนขอนไม้สีเขียวสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์
วิถีอีสานบ้านและวัดผูกพันกัน สื่อผ่านโซน “พิพิธภัณฑ์วัด พุทธหัตถศิลป์” วัดเล็กๆ ในชุมชน มีพระจำพรรษาเพียง 4 รูป ในวัดมีพระประธานที่ชาวบ้านกราบไหว้ด้วยหมากเบ็งหรือบายศรีขนาดเล็ก ทำจากใบตองธรรมชาติเท่ากำปั้น เป็นงานฝีมือของหลวงปู่และผู้สูงวัย นักท่องเที่ยวมาพักโฮมสเตย์ตื่นเช้าตักบาตร อยากไหว้พระก็สักการะด้วยหมากเบ็งดอกพุดแบบเรียบง่าย ไม่ต้องจุดธูปเทียนเกิดมลพิษ รายได้หมุนกลับมาช่วยชุมชน
ตักบาตรยามเช้าร่วมกับชาวบ้านขร้เหล็กใหญ่ วิถีผูกพันพันกับพุทธศาสนา
อีกสีสันของพื้นที่คือ โซน “เช็กอินภาพวาดเขียนสีพญานาคกับอาชีพชุมชน” มีภาพวาดพญานาคจุดเช็กอิน 22 จุดทั่วหมู่บ้าน ดึงดูดคนต่างถิ่นมาชม ถ่ายรูปเช็กอิน แถมได้พูดคุยกับชาวบ้านเกิดความคุ้นเคย สำหรับแนวคิดภาพวาดพญานาคเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการ “วาดบ้านแปงเมือง” ลงพื้นที่สำรวจอาชีพ ความสนใจและสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งทั้งชุมชนมีความเชื่อและศรัทธาพญานาค ภาพวาดเขียนสีพญานาคกับอาชีพจึงเกิดขึ้นกระจายตามฝาบ้านแต่ละหลัง อาทิ ภาพพญานาคตัดผม อาชีพเจ้าของบ้าน คือ ช่างตัดผม ภาพพญานาครดน้ำต้นไม้ อาชีพเจ้าของบ้าน คือ ทำสวนเกษตร ภาพพญานาคขับรถไถนา เจ้าของบ้านยึดอาชีพรถไถนารับจ้าง เป็นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |