6 ก.พ.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์, นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และ น.ส.เสฎฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ช่วยแถลงภาษาอังกฤษ) ร่วมกันแถลงข่าวคดีฟ้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายฮาคีม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัล โอไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ถึงขั้นตอนปฏิบัติ ข้อกฎหมายและตอบข้อซักถามประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน
นายธรัมพ์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 ขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งส่งตัวนายฮาคีมให้กับราชอาณาจักรบาห์เรน ประเทศผู้ร้องขอ เนื่องจากประเทศผู้ร้องขอแจ้งว่านายฮาคีมเป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีอาญาในราชอาณาจักรบาห์เรนแล้วหลบหนีไป ซึ่งกรณีดังกล่าวสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสนใจติดตามเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง ใกล้ชิด และต่อเนื่อง สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงความเป็นมาและขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเพื่อทราบ ดังนี้
1. กรณีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางของประเทศไทย ได้รับเรื่องร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากราชอาณาจักรบาห์เรนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งส่งตัวนายฮาคีมให้กับราชอาณาจักรบาห์เรน ประเทศผู้มีคำร้องขอ
2. เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับเรื่องแล้วได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องของประเทศผู้ร้องขอ ได้ความว่านายฮาคีมถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิด ไว้ในความครอบครอง ซึ่งต่อมาศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งราชอาณาจักรบาห์เรนได้มีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี หลังจากนั้น นายฮาคีมได้หลบหนีไป และมาถูกควบคุมตัวในประเทศไทยในครั้งนี้
3.ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับคำร้องขอได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องของประเทศผู้ร้องขอ เพื่อขอให้ส่งนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีอาญานั้น เป็นข้อกล่าวหาคดีอาญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย และข้อหาต่างๆ ดังกล่าว มีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี อีกทั้ง ไม่ใช่ความผิดทางการเมืองหรือความผิดทางการทหาร กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551
4. ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง จึงมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ศาลเบิกตัวนายฮาคีมมาพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย วันที่ 4 ก.พ. 2562 ศาลอาญาได้เบิกตัวนายฮาคีมมาเพื่อสอบปากคำแล้ว นายฮาคีมให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดและไม่ยินยอมกลับไปที่ราชอาณาจักรบาห์เรน ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้นายฮาคีมและทนายของนายฮาคีมยื่นคำคัดค้านคำฟ้องเข้ามาภายในวันที่ 5 เม.ย. 2562 และนัดตรวจสอบพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 22 เม.ย. 2562 สำนักงานอัยการสูงสุดจึงชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน หากมีความคืบหน้าประการใดสำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงให้ทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่านายฮาคีมเดินทางเข้าประเทศไทยและถูกควบคุมตัวตามหมายแดงของอินเตอร์โพล แต่ภายหลังมีการแจ้งถอนหมายแดงดังกล่าว ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของไทย ใช้อำนาจใดควบคุมตัวและจะส่งผลให้การควบคุมตัวไม่ชอบและจะส่งผลต่อคำสั่งศาลหรือไม่นายธรัมพ์ กล่าวว่า การควบคุมตัวนายฮาคีมไม่ใช่อำนาจของอัยการ ทางตำรวจ ตม. น่าจะตรวจสอบเอกสารการแสดงตัว พาสปอร์ต และวีซ่า ในการเข้าประเทศถูกต้องหรือไม่ เพราะกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นเรื่องการกักตัวไว้ เพื่อตรวจสอบเอกสาร ยังไม่เข้าสู่กระบวนการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ทางอัยการสูงสุดรับเรื่องเข้ามาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเราทราบข้อมูลว่าทางบาห์เรนจะขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หลังจากที่นายฮาคีมเดินทางเข้าประเทศไทยมาแล้ว
เมื่อถามว่าหากการควบคุมตัวไม่ชอบ จะทำให้กระบวนการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่ชอบด้วยหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตำรวจ ตม.จะเป็นผู้ชี้แจงมากกว่า ทางอัยการไม่สามารถตอบได้
ถามว่าภายหลังมีการกักตัวนายฮาคีมแล้ว มีผู้บริหารของออสเตรเลียพยายามเข้ามาเจรจากับทางอัยการ ซึ่งอัยการได้แจ้งว่านายกรัฐมนตรีประสงค์จะให้อัยการยื่นเรื่องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจริงหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อมูลตรงนี้ จึงไม่สามารถตอบสื่อมวลชนได้ ส่วนที่นายฮาคีมมีสถานะผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลียกับเรื่องการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น เป็นคนละประเด็นกัน จุดยืนของรัฐบาลไทยคือ เมื่อเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.แล้ว จึงเราได้ไปยื่นขอหมายจับต่อศาลอาญา จึงถือว่าได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ฉะนั้นจุดยืนของรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมไทย เรื่องนี้เราต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง ดังนั้นเราอย่าด่วนสรุปว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร และขอเรียนว่ากระบวนการยุติธรรมไทย มีมาตรฐานและจะคุ้มครองรักษาสิทธิ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามต่อว่าหากมีการยื่นประกันนายฮาคีมอีกครั้ง จะคัดค้านการประกันหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อัยการได้ยื่นคัดค้านการประกันตัวต่อศาลไปแล้ว ส่วนจะได้ประกันตัวหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งการคัดค้านประกันตัวของอัยการ นั้นอยู่ในของกฎหมาย และอัยการมีหลักปฏิบัติลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอดไม่มีอะไรเป็นพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงนายฮาคีม
เมื่อถามต่อว่า ต่างประเทศมองว่าคดีนายฮาคีมเป็นคดีทางการเมือง อัยการพิจารณาอย่างไรว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์คดีการเมือง นายธรัมพ์ กล่าวว่า เราได้ดูข้อหาความผิดที่ทางการบาห์เรนแจ้งมาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทยด้วยหรือไม่ และข้อหาวางเผลิงเผาทรัพย์ที่มีการแจ้งมา เป็นความผิดตามกฎหมายไทยทั้งสิ้น ส่วนจะเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่นั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว นายฮาคีมก็สามารถนำเสนอหลักฐานต่างๆ ต่อศาลได้
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ช่วงการชุมนุมของประเทศบาห์เรนใช่หรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า เข้าใจประเด็นดังกล่าว แต่ขณะนี้กระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว
พอถามว่าขณะนี้ทั้งประเทศบาห์เรนและออสเตรเลียต้องการได้ตัวนายฮาคีมกลับไป ทางอัยการมีความกดดันจากฝ่ายบริหารหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวยืนยันว่าไม่มีการกดดันจากฝ่ายไหนทั้งสิ้น และไม่เคยมีการพูดคุยกับฝ่ายบริหารเรื่องการพิจารณาส่งตัวนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนกระแสความไม่พอใจจากประเทศออสเตรเลีย ทางอัยการก็ได้ทราบจากสื่อมวลชน
เมื่อถามว่า เรื่องที่ประเทศออสเตรเลียไม่พอใจ จะเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดสามารถใช้ช่องว่างถอนคำฟ้องตามระเบียบคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องที่อาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีกระทรวงการต่างประเทศดูแลอยู่ คงไม่เกี่ยวอัยการที่จะพิจารณา
ถามย้ำว่าอัยการจะยังสามารถถอนฟ้องกรณีนายฮาคีมได้หรือไม่และจะพิจารณาในเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายธรัมพ์กล่าว ไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ประเทศบาห์เรนและออสเตรเลียพูดคุยกันนั้น ถ้าหากมีทางออกก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องที่เข้ามาสู่การพิจารณาของอัยการ แต่กว่าศาลจะมีคำสั่งก็อาจจะเป็นเป็นรัฐบาลที่เปลี่ยนแล้วก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องมาดูอีกครั้งว่ามีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ตอนนี้เราต้องรอคำสั่งของศาล
ต่อข้อถามว่าตามหลักสิทธิมนุษยชน ต่างประเทศมองประเทศไทยอย่างไร และการพิจารณาคดีจะใช้ระยะนานเท่าใด นายธรัมพ์ กล่าวว่า ข้อกังวลของนายฮาคีมในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้ลี้ภัยนั้นต้องบอกว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วข้อต่อสู้ต่างๆ เหล่านี้ สามารถที่จะนำเสนอขึ้นสู่การพิจารณาของศาลได้ ฝ่ายนายฮาคีมสามารถนำสืบให้ศาลพิจารณาได้ ส่วนจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ก็คงต้องใช้ระยะเวลาตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน
ถามว่าก่อนที่อัยการจะยื่นเรื่องของส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน นายฮาคีมได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการ โดยยื่นหลักฐานเช่น ข้อมูลที่อ้างว่าตอนเกิดเหตุตามที่อัยการบาห์เรนฟ้องนั้นนายฮาคีมไปแข่งขันฟุตบอล และเหตุการณ์ที่ถูกฟ้อง เป็นช่วงระหว่างชุมนุมทางการเมือง ทำให้นายฮาคีมได้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดเป็นรายละเอียดในการพิจารณาคดีของประเทศบาห์เรน แต่ทางอัยการจะพิจารณาในองค์ประกอบเบื้องต้นว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายลักษณะขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่ ส่วนรายละเอียดการพิจารณาคดีในส่วนของทางการบาห์เรน อัยการไม่ได้ลงไปพิจารณาในส่วนนั้น และทางนายฮาคีมเองก็ไม่ได้ยื่นของความเป็นธรรมมาแต่อย่างใด
ด้าน นายชัชชม กล่าวเสริมว่า ที่อัยการคัดค้านประกันตัว เพราะว่าผู้ถูกร้องเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติธรรมดา เพราะจากสถิติมีชาวต่างประเทศมักจะหลบหนีประกันจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหากผู้ถูกร้องหรือผู้ต้องหาเป็นชาวต่างประเทศ ในคดีขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อัยการก็จะคัดค้านทุกคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าหมายแดงของอินเตอร์โพลถือว่าเป็นหมายจับหรือไม่ และเรามีอำนาจที่จะต้องจับกุมตามหมายแดงอินเตอร์โพลนั้นหรือไม่ นายชัชชม กล่าวว่า หมายแดงนั้นคือหมายจับของอินเตอร์โพล ที่เวลามีการแจ้งลงระบบก็จะรับทราบทั่วกันในหมู่ที่เป็นสมาชิก ถือเป็นการแจ้งเตือนให้ประเทศที่ได้รับแจ้งทราบว่ามีบุคคลที่มีหมายจับติดตัวอยู่ ประกอบกับเราได้รับแจ้งจากทางการบาห์เรนทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จึงได้กักตัวนายฮาคีมไว้
ถามว่าประเทศไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศบาห์เรน เราใช้หลักการอะไรในการฟ้องนายฮาคีม นายชัชชม กล่าวว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกที่จะช่วยกัน ในการติดตามจับคนร้าย ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และแบบไม่มีสนธิสัญญาฯ แต่กรณีที่ไม่สนธิสัญญาฯ ก็จะต้องใช้ขั้นตอนที่มากขึ้น เช่นจะต้องมีคารับรองต่างตอบแทน ประเทศผู้ขอจะต้องระบุไว้เลยว่าหากอนาคตประเทศไทยจะขอความร่วมมือก็จะต้องช่วยกัน ตรงนี้ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน และความผิดที่มีการขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องตรงกัน ของทั้งสองประเทศ และจะต้องใช้วิธีทางการทูต คือจะต้องส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศ คดีนี้พนักงานอัยการได้ตรวจดูแล้ว เห็นว่าเข้าเกณฑ์ครบทุกประเด็น เราจึงดำเนินการให้ ความผิดดังกล่าวศาลบาห์เรนมีคำพิพากษาแล้ว เพราะการไปวางเพลิงเผาทรัพย์และมีวัตถุระเบิด ถือว่าเป็นความผิดอาญา ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง อัยการจึงมีความเห็นและดำเนินการไปดังกล่าว
ส่วนนายประยุทธ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาของศาล จะช้าหรือเร็วจะต้องดูพยานหลักฐานว่ามีมากน้อยเพียงใด ก็จะต้องดูวันที่ 22 เม.ย.นี้ ว่ามีการเสนอบัญชีพยานให้ศาลตรวจพยานมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะชี้ให้เห็นว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด อย่างไรก็ต้องศาลไทยมีหลักกระบวนการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |