ฝุ่นพิษเพิ่มเกินมาตรฐาน 1 จุด คาด 6-8, 13-15 ก.พ. วิกฤติซ้ำ กทม.-หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งเตรียมแผนรับมือ ครม.คลอด 3 มาตรการแก้ปัญหา นายกฯ วอนอย่าตื่นตระหนก-ให้ร้ายกัน สั่งปิดโรงงาน 600 แห่ง ศธ.บี้พื้นที่เสี่ยง นร.ต้องใส่หน้ากากอนามัย
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีพื้นที่ที่มีค่าเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 5 ก.พ. เกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 พื้นที่ อยู่ในระดับสีส้ม คือ บริเวณเขตบางเขน มีค่า 55 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีฟ้าจำนวน 3 เขต สีเขียวจำนวน 17 เขต และสีเหลืองจำนวน 3 เขต ผลการตรวจวัดและคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ลมสงบ มีเมฆบางส่วน และคาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ คาดว่าในวันที่ 6 ก.พ. ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มลดลงในหลายพื้นที่ ประกอบกับการดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองของทุกหน่วยงานอย่างเข้มข้น จะส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. ในการติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แจ้งว่า ช่วงวันที่ 6-8 ก.พ. และ 13-15 ก.พ. ฝุ่นละอองอาจมีแนวโน้มรุนแรง เนื่องจากสภาพอากาศจะปิด ซึ่งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของ กทม.และปริมณฑล จะติดตามสถานการณ์และเตรียมแผนปฏิบัติการลดฝุ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดช่วงที่มีอากาศปิด กทม.จะประสานไปยังโรงเรียนการบินกรุงเทพอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องบินเล็กฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศทุกชั่วโมง และบินให้ครอบคลุมพื้นที่ค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน
นพ.สมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า จะมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนทุก 5 เขต ทุกเสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือน ก.พ.-มี.ค.
ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รมว.อุตสาหกรรมและคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำเสนอเครื่องต้นแบบ “ระบบขจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่” โดยนายกฯ กล่าวว่า หลายคนอย่าไปหัวเราะ ขอให้ช่วยกันคนละอย่างสองอย่าง หากไม่ร่วมมือกันก็จะไม่สำเร็จ และขอให้นำเครื่องดังกล่าวไปหาจุดติดตั้ง โดยเฉพาะจุดที่มีรถติดมากๆ เช่น ศูนย์การค้าและบริเวณหน้าโรงเรียน ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยมีข้อมูลเรื่องฝุ่นให้ประชาชนรับรู้ทั้งปี ไม่ใช่แค่ต้นปีและปลายปี และขอให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่าอย่าตื่นตระหนก
จากนั้น นายกฯ ได้ชมอุโมงค์พ่นละอองน้ำแรงดันสูง และแผงพ่นละอองน้ำแรงดันสูง ซึ่งนายกฯ ได้ขอให้มาสำรวจพื้นที่เพื่อติดตั้งแผงพ่นละอองน้ำแรงดันสูง บริเวณทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ได้ลองสวมหน้ากากอนามัย พร้อมสั่งผู้ที่เกี่ยวข้องไปคิดและผลิตหน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะมีการปิดโรงงานบางเวลา หากมีความจำเป็นจริงๆ เพราะจากการตรวจโรงงาน จาก 100,000 โรงงาน พบว่ามีความเสี่ยงประมาณ 1,700 โรงงาน โดยสั่งการให้หยุดปรับปรุงประมาณ 600 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ต้องใช้ความร้อนด้วยการต้มน้ำ
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มองว่าการฉีดน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องตลก เพราะถือเป็นการช่วยเหลือของภาคประชาชนด้วยกัน อย่างน้อยสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5-PM 10 ส่วนใหญ่แล้วมาจากการใช้รถยนต์บนท้องถนนที่มีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องลดลงให้เหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมสำรวจว่ารถยนต์ที่ใช้ตามท้องถนนได้ติดตั้งเครื่องลดมลพิษหรือไม่ ส่วนการรณรงค์ให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้านั้น รัฐบาลได้ลดภาษีของรถพลังงานไฟฟ้าลงแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่แถลงข่าว นายกฯได้พกเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ไว้ด้วย และคอยดูเป็นระยะๆ โดยบอกด้วยว่า "ในห้องนี้วัดได้ประมาณ 30 แต่ให้ช่วยกันดู อย่าไปตื่นตระหนก ไม่ควรให้ร้ายกัน เพราะปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดปีนี้ แต่เกิดกับทุกเมืองใหญ่ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่ผมไม่โทษใครทั้งนั้น เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งวันนี้สถานการณ์ก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอเรื่องแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอากาศดี เพื่อคนไทยและผู้มาเยือน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.มาตรการระยะเร่งด่วน ได้กำหนดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 ) มีค่าไม่เกิน 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ
ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่ามากกว่า 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. ให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ งดเว้นกิจกรรมที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่น ห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เป็นต้น
ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมพื้นที่เพื่อยับยั้งสถานการณ์ และระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ โดยจะต้องนำเสนอนายกฯ เป็นการเร่งด่วน เพื่อสั่งการแนวทางหรือมาตรการลดมลพิษ
2.มาตรการระยะกลาง (พ.ศ.2562-2564) ลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น และ 3.มาตรการระยะยาว (พ.ศ.2565-2567) ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 6 กำหนดให้เจ้าของและผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งเป็นความผิดอาญา
นอกจากนี้ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าฯ จังหวัดนั้นเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นร.พื้นที่เสี่ยงใส่หน้ากากอนามัย
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. เป็นประธาน ว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า นายกฯ ได้กำชับให้ ศธ.ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นนั้นถือว่าดีขึ้น ซึ่งวันที่ 5 ก.พ. ยังมีโรงเรียนปิดอยู่ 6 แห่ง และวันที่ 6 ก.พ. มี โรงเรียนปิดอยู่ 2 แห่ง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีปลัด ศธ. เป็นประธาน เพื่อติดตามวิกฤติฝุ่นของโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงทุกวัน และจะให้โรงเรียนรายงานสถานการณ์ฝุ่นไม่เกิน 15.00 น.
"มาตรการเร่งด่วน สถานศึกษาใดที่อยู่ในพื้นที่วิกฤติจะต้องให้เด็กใส่หน้ากากอนามัยทุกคน หากหน้ากากไม่เพียงพอ ให้ประสานมายังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นอกจากนี้ ให้ สอศ.ผลิตเครื่องพ่นละอองน้ำ จำนวน 750 ชุด และให้บริการติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ จัดตั้งศูนย์อาชีวะอาสาลดควัน ลดฝุ่น Fix It Center 100 ศูนย์บริการประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 100,000 ชิ้น แจกจ่ายให้สถานศึกษาและประชาชนที่ศูนย์อาชีวะอาสาลดควัน" นายชลำระบุ
ส่วนมาตรการระยะยาว ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลดการจัดกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้ผู้คนจำนวนมาก รวมถึงรณรงค์สร้างความรับรู้ให้นักเรียนถึงวิกฤติฝุ่นไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน ผลิตสื่อแอนิเมชั่นในรูปแบบที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายในโรงเรียนให้เกิดโครงการ "พิทักษ์ฝุ่น PM 2.5" ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |