ประยุทธ์เลียบค่ายนายกฯพปชร.


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ย้ำ 8 ก.พ. ตอบเทียบเชิญ "พปชร." บัญชีนายกฯ แน่ เผยอ่านนโยบายพรรคเยอะแล้ว รับมีหลายอย่างตรงกับที่ได้ทำไป ลั่นวันนี้ใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ทุกอย่าง อึ้ง! พวกเปลี่ยนชื่อทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ "พุทธิพงษ์" ทิ้งเก้าอี้ลุยการเมืองเต็มตัว สมัคร ส.ส.แบ่งเขตวันสองเพิ่มอีก 883 คน "กกต." ไม่ฟันธงชูรูป "ประยุทธ์" หาเสียงผิดหรือไม่ "รองเลขาฯ" ระบุรอมีเรื่องร้องเรียนก่อน "ตำรวจ" ตั้งศูนย์ดูแลความเรียบร้อย มอบ "ศรีวราห์" ดูแล

    เมื่อวันที่ 5 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณานโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อนจะตัดสินใจรับคำเชิญมีชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า  กำลังดูอยู่ นำนโยบายมาศึกษาก็อ่านไปได้เยอะแล้ว หลายๆ อย่างก็ทำกันแล้ว ส่วนเขาจะทำให้ดีต่อไปอย่างไรก็ไปดูอีกครั้ง ก็ต้องถามเขาอีกทีว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตนจะพิจารณาไม่เกินวันที่ 8 ก.พ. ขอให้เวลาบ้าง เพราะทำงานอย่างอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะเมื่อไหร่ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร นั่งดูเรื่องนี้เรื่องเดียว มีร้อยแปดพันเรื่องที่ต้องทำในการเป็นนายกฯ และรัฐบาล 
    ถามถึงกระแสข่าวไม่พอใจรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค พปชร. โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีคดีความติดตัวอยู่ในลำดับต้นๆ จะเป็นเงื่อนไขในการตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรคหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่เห็น ก็แล้วแต่พรรคเขาทำไม่เกี่ยวกับตน เพราะยังไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย เขามีกำหนดการส่งรายชื่อของเขาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปเกี่ยวกับเขาด้วย เรื่องของตนคือจะไปร่วมให้เขาเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีหรือไม่
    "สมมุติถ้าผมตอบรับให้พรรคเสนอชื่อแล้วเป็นนายกฯ ขึ้นมา อะไรที่ต้องทำก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถึงตอนนั้นก็มีคนมาร่วมรัฐบาล ก็คือรัฐบาลอนาคต ถ้าผมได้อยู่ตรงนั้น ก็จะทำให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่ไม่ดีก็ขอร้องว่าอย่าทำกันอีกเลย ต้องสอนคนแบบนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลแล้วกัน จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม เราต้องคิดถึงเรื่องการปฏิรูปเรื่องการเมือง การปรองดองสมานฉันท์ เราก็ต้องดูว่าคนที่เข้ามาทำงานการเมืองวันนี้ มีใครบ้างที่ปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่ต่อยตีกันตลอดเวลา ก็ไปไม่ได้หมด วันหน้าการเลือกตั้งถึงจะได้รัฐบาลมาจะได้ความเชื่อมั่นหรือไม่ ถ้าเรากันเองไม่เชื่อมั่นกันตรงนี้ ทุกคนต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก
    "วันนี้ผมใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ทุกอย่าง ไม่ใช้นิติศาสตร์นำรัฐศาสตร์อยู่แล้ว เราเอากฎหมายมาเป็นตัวตั้ง แต่เราก็ต้องพิจารณาหาทางออก จะทำอย่างไรไม่ผิดกฎหมายและปฏิบัติได้ อย่าคิดว่าออกกฎหมายแล้วกฎหมายจะปฏิบัติได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้กฎหมายที่ออกมาก็ล้มเหลว กฎหมายบางตัวที่ออกมาใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาแต่ละจุด แต่การจะแก้ทีเดียวทั้งระบบอาจจะต้องลดลงบ้าง เอาประเด็นหลักมาก่อน แล้วประเด็นอื่นๆ ก็มีการแก้กฎหมายได้ทุกรัฐบาลเพื่อให้ดีขึ้น ไม่ใช่เขียนกฎหมายฉบับนี้แล้วจะให้เป็นประวัติศาสตร์ไปเลย คงไม่ใช่ กฎหมายทุกตัวต้องพัฒนาให้ดีขึ้น สร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เป็นห่วงว่าอำนาจรัฐจะลดน้อยลง แต่เกรงว่าการออกกฎหมายมาเพื่อหวังดีกับคนนี้ รวมถึงมีมาตรการลงโทษต่างๆ แต่จะมีผลกระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยไปด้วย ผมคิดละเอียดทุกอัน ไม่คิดเอาง่ายๆ" นายกฯกล่าว
ลั่นยังไม่ทำอะไรอีกเยอะ
    ซักว่า เผื่อใจไว้สำหรับการไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เผื่อทุกเรื่อง ตนพร้อมทุกอย่างจะทำอะไรก็ได้ ก็ติดอยู่อย่างเดียวคือภาระดูแลประเทศชาติมา 3-4 ปี มีอะไรดีขึ้นตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็มีอะไรที่ไม่ได้ทำตั้งเยอะตั้งแยะเหมือนกัน อะไรที่ประชาชนคาดหวังก็อยากทำให้ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกตั้งใคร
    ถามว่า นอกจากเรื่องนโยบายพรรค สถานการณ์บ้านเมืองถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่มีข่าวสารอะไรที่ทำให้สับสนอลหม่าน ทุกคนก็ร่วมมือกันดี เว้นแต่ถ้ามีใครทำให้วุ่นวาย ประชาชนก็ไปว่ากันเอาเอง ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว จะไปทำอะไรได้ และสถานการณ์วันนี้ถือว่าปกติ อย่าพูดให้ไม่ปกติ
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงเรื่องที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อชาติ (พช.) เปลี่ยนชื่อเป็นทักษิณและยิ่งลักษณ์ว่า ก็แปลกดีนะประเทศไทย แต่ไม่น่าสนใจสำหรับตน ส่วนใครจะสนใจก็แล้วแต่ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแลอยู่แล้ว 
    ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อเป็นทักษิณและยิ่งลักษณ์ว่า ตามกฎหมายแล้วทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อได้ ขอแต่เพียงไม่เป็นคำหยาบ และอยู่ในความเหมาะสม ไม่ถือว่ามีความผิด และไม่ขอวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เขาตัดสินใจกันเองที่เปลี่ยนชื่อ เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อกันได้ ถ้าคิดว่าเปลี่ยนแล้วดีก็เปลี่ยนไป จะเอาทุกทาง ทุกเทคนิคก็ไม่เป็นอะไร แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ต้องไปถาม กกต. เพราะเห็นเลขาธิการ กกต.จะไปศึกษาเรื่องนี้ เพราะไม่เคยพบ
    ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงลาออกจากตำแหน่งว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการทำงานกับสื่อมวลชน แม้เป็นเวลาที่ไม่นานมาก แต่ความตั้งใจที่เคยพูดไว้ก่อนเข้ามารับตำแหน่ง ได้ทำแล้วหลายเรื่อง และสำเร็จระดับหนึ่ง ทั้งการสร้างความรับรู้เรื่องการทำงานของรัฐบาลให้กับประชาชน การสร้างความรับรู้ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นมิติเชิงรุก 
    "ผมได้เรียนให้นายกฯ ทราบแล้วว่าจะข้อยุติบทบาทการทำหน้าที่รองเลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนักนายกฯ ซึ่งการลาออกครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะแม้จะมีบทบาทในพรรคการเมือง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับ เพียงแต่ส่วนตัวรู้สึกว่าเมื่อตัดสินใจเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ การทำงานทั้งสองด้านพร้อมกัน อาจไม่เหมาะสม และเกิดความสับสน การลาออกไปทำงานการเมืองน่าจะเหมาะสมกว่า และสามารถทำงานการเมืองได้เต็มเวลา" นายพุทธิพงษ์กล่าว
    พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่ กกต.ได้หารือร่วมกับนายวิษณุ โดยให้ยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของข้าราชการเมื่อวันที่ 17 ต.ค.43, 9 ต.ค.50 และ 12 ก.พ.51 โดยให้ยึดแนวทางใหม่ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อได้รับการร้องขอจาก กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง 
    2.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภท ทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง 3.นับแต่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกประเภทและทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง 4.ให้ข้าราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐ ให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สมัครแบ่งเขตเพิ่ม 883 คน
    5.ให้หน่วยงานทุกฝ่ายตามข้อ 4 สนับสนุนเกี่ยวกับสถานที่ปิดประกาศ และที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน 6.ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครด้านความปลอดภัย เพื่อให้การคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้รับความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. บรรดารัฐมนตรีได้สอบถามเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ช่วงเลือกตั้ง โดยนายกฯ เน้นย้ำให้ระมัดระวังในการวางตัวและไม่ควรพูดโจมตีนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ  
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงภาพรวมการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศวันที่สองว่า ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีการรับสมัครเพิ่มเติมในวันนี้ 883 คน รวมการเปิดรับสมัครสองวันมีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว 6,828 คน 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า อยากเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทราบว่าตนเองจะไม่สามารถไปเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ได้ ให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งสามารถขอใช้สิทธิได้ทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง โดยในเขตเลือกตั้ง สามารถไปยื่นแสดงความจำนงด้วยตนเองต่อนายทะเบียนอำเภอ พร้อมนำหลักฐานจากหน่วยงานว่าติดภารกิจต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง จึงอาจไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ 
    "ส่วนนอกเขตเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวตได้ โดยในแอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครแยกเป็นรายเขต หน่วยเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิจะไปใช้สิทธิ แต่ขณะนี้อาจกรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนแล้วอาจจะยังไม่ปรากฏข้อมูลหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองจะต้องไปใช้สิทธิ เพราะยังอยู่ในระหว่างการสำรวจเพื่อตั้งหน่วยเลือกตั้งอยู่" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
    ทั้งนี้ สำหรับจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.-วันนี้ ณ เวลา 17.00 น. นอกเขตเลือกตั้งมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 303,276 คน นอกราชอาณาจักร 23,844 คน โดย กกต.กำหนดจะปิดการลงทะเบียนในวันที่ 19 ก.พ.
    เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ในส่วนการเสนอบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี 2 วันที่ผ่านมา มีพรรคสังคมประชาธิปไตย เสนอชื่อนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ และพรรคไทยธรรม เสนอชื่อนายอโณทัย ดวงดารา หัวหน้าพรรค นายภูสิติ ภูวภัสสิริ  นพ.กิติกร วิชัยเรืองธรรม เป็นนายกฯ ส่วนพรรคเพื่อนไทยมีปัญหาเรื่องเอกสารไม่เรียบร้อย จึงได้ถอนเรื่องกลับและจะมายื่นในภายหลัง
    "พรรคเพื่อไทยเสนอบัญชีนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์,  นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ พรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่มีนายดำรงค์ พิเดช เป็นหัวหน้าพรรค มีปัญหาเรื่องเอกสารไม่ครบถ้วน จึงได้ขอถอนเรื่องกลับไปแก้ไข และจะนำมายื่นในภายหลัง" เลขาฯกกต.กล่าว
    ขณะที่นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมจะขึ้นรูป พล.อ.ประยุทธ์คู่กับผู้สมัครบนป้ายหาเสียงทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเป็นบัญชีนายกฯ พรรคว่า ตนกังวลว่าระเบียบของ กกต. ว่าด้วยเรื่องของป้ายหาเสียง ซึ่งจะมีรูปบุคคลอื่นนอกจากรูปผู้สมัคร ซึ่งตามปกติแล้วบุคคลที่สามารถนำรูปขึ้นป้ายได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกพรรค หรือเป็นบัญชีนายกฯ ของพรรคที่จะต้องมีการเสนอภายในวันที่ 8 ก.พ.นี้ ซึ่งพรรคการเมืองควรจะเสนอบัญชีนายกฯ ของพรรคก่อนที่จะดำเนินการนำรูปของบุคคลนั้นไปขึ้นป้ายเพื่อหาเสียง
ปัดชี้ชูรูปบิ๊กตู่ผิดหรือไม่
    "การขึ้นรูป พล.อ.ประยุทธ์หาเสียงทั้งที่ยังอยู่ตำแหน่งนายกฯ นั้น ต้องมองว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก ต้องแยกแยะระหว่างกฎหมายกับความรู้สึก ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดู ยังไม่มีอะไรเข้าข่ายผิดกฎหมาย หากในภายหลังมีผู้มาร้องเรียนเข้ามา กกต.ทั้ง 7 จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวมองว่าเราวิตกกังวลกันเกินไปหรือไม่ ขณะนี้ประชาชนสนใจการเมืองพอสมควร เพราะทุกอย่างจะไปตัดสินใจกันในวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. กกต.จะไม่พิจารณาประเด็นที่มาจากสื่อ เพราะข่าวก็คือข่าว ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง" นายณัฏฐ์กล่าว
    ถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเป็นนายกฯของ พปชร.จะต้องยกเลิกการจัดรายการทุกวันศุกร์ และการลงพื้นที่ ครม.สัญจรด้วยหรือไม่ รองเลขาฯ กกต.กล่าวว่า ในเรื่องจัดรายการไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในวิสัยของผู้วินิจฉัย ส่วนการลงพื้นที่ครม.สัญจรได้หรือไม่นั้น ถ้าดูกฎหมายดีๆ จะพบว่าการที่บุคคลใดถูกทาบทาม โดยหลักแล้วการที่บุคคลใดถูกทาบทามให้อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคใด ไม่บังคับให้เป็นสมาชิกพรรค และต้องไม่กระทบกระเทือนต่อวิชาชีพของเขา เคยประกอบอาชีพใด เคยทำตัวอย่างไรก็ยังสามารถทำได้ ส่วนที่ทำไปแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ก็เป็นข้อเท็จจริงของผลกระทบ ต้องว่าเป็นกรณีไป 
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยหลังการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศว่า ทุกจังหวัดรายงานมาแล้ว เบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการไปทุกจังหวัดให้ดูแลความเรียบทุกอย่างเป็นไปด้วยดี 
    โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีศูนย์เลือกตั้งเพื่อดูแลความเรียบร้อย ตั้งอยู่ชั้น 20 โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าศูนย์ ส่วนงานสืบสวนมี พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. ดูแล  ส่วนขอบเขตของตำรวจเป็นการดูแลรักษาความเรียบร้อยการเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งในทุกกรณี
    ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ทุกจุดเรียบร้อยดี โดยในส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะเรียกมาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมากำชับอีกครั้งกว่าจะต้องมีการเพิ่มมาตรการอย่างไรบ้าง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้บังคับใช้กฎหมายเสมอภาคเท่าเทียม เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คำสั่ง ตร.ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ทั้งในหน้าที่และส่วนตัว
    "การดูแลกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหว ได้สั่งพื้นที่ให้ระดมกวาดล้างเฝ้าระวังทั่วประเทศไปจนสิ้นเดือน มี.ค. หลังเลือกตั้งเสร็จ เบื้องต้นพบมีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ไม่ร้ายแรง ความเสียหายยังไม่มี ยังสามารถดูแลได้ 100 เปอร์เซ็นต์" หัวหน้าศูนย์การเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าว. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"