ผมไปเก็บขยะที่อินเดียมาครับ
เป็นประสบการณ์เรียนรู้การสร้าง "แนวร่วมชาวบ้าน" เพื่อแก้ปัญหาขยะของชุมชนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง
ผมนัดกับ Afroz Shah นักกฎหมายอินเดียวัย 37 ที่ตัดสินใจใช้ "สองมือของเราเอง" เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเหลือเชื่อ
ตอนเด็กๆ เขาวิ่งเล่นอยู่ริมชายหาด Versova ของมุมไบ โตขึ้นไปเรียนหนังสือ จบแล้วมีอาชีพเป็นทนายความ ประสบความสำเร็จอย่างดี หากทำงานกฎหมายต่อไปอีกไม่นานก็อาจจะสอบเป็นผู้พิพากษาได้
แต่วันหนึ่งเมื่อเขากลับมาที่ชายหาดเดิม Afroz มีอันต้องตกใจ เพราะชายหาดตรงนั้นกลายเป็นภูเขาขยะ เหม็นเน่า ผู้คนเดินหนี ทิ้งเป็นกองขยะที่ไม่มีใครคิดจะรับผิดชอบอยู่อย่างนั้น
เพราะทุกคนในชุมชนนั้นคาดหวังว่าเทศบาลจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง อีกทั้งเพิงที่พักริมทะเลตรงนั้นประมาณ 3,000 คนล้วนแล้วแต่เป็น "ชาวสลัม" กลางเมืองที่ครอบครองที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมาย
"ผมถามตัวเองว่าจะปล่อยให้ชายหาดกลางเมืองบ้านเกิดผมกลายเป็นที่ทิ้งขยะเหม็นเน่าไปอย่างนี้หรือ ผมจะรอให้เทศบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมาแก้ปัญหาหรือ ผมเรียนกฎหมายมาอย่างลึกซึ้ง แต่ผมคาดหวังว่ากฎหมายจะแก้ปัญหาได้หรือ..."
วันนั้นเขาตัดสินใจชวนเพื่อนบ้านวัย 84 มาลงมือเก็บขยะตรงชายหาดนั้นเอง
คุณแม่ของเขาถามว่าเขาคนเดียวจะเก็บขยะมากมายอย่างนั้นได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เขาบอกแม่ว่าขอลองลงมือเก็บเอง ประเทศอินเดียมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน คนละสองมือ ถ้าลงมือทำกันจริงๆ ก็จะมี 2,000 ล้านมือ ขยะกองใหญ่แค่ไหนก็เก็บได้หมด
แน่นอนว่า Afroz ไม่เคยคิดว่าการลงมือเก็บขยะริมหาดข้างบ้านเองจะแก้ปัญหาได้ แต่เขาเชื่อว่าปัญหาใหญ่อย่างนี้ถ้าประชาชนไม่ลงมือเองก็จะไม่มีทางสำเร็จ
พอเขาลงมือเก็บขยะเอง แยกขยะพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนบ้านเห็นเข้าก็อดสงสัยไม่ได้ มาถามไถ่กันว่าทำอะไรอยู่ เขาก็เพียงแต่ชวนให้มาเก็บขยะเองดู
เขาเรียกการรณรงค์นี้ว่า A Date with the Ocean หมายถึงการนัดพบกับทะเลเพื่อแสดงความรักกับธรรมชาติ จะปกปักรักษาทะเลด้วยมือสองข้าง ไม่บ่น ไม่โวยวาย ไม่ชี้นิ้วโทษใคร แต่จะชักชวนให้ทุกคนใส่ถุงมือสองข้างและลงไปเก็บขยะเอง
ไม่ช้าไม่นาน เมื่อมีการส่งข่าวต่อๆ กัน ชาวบ้านแถบนั้นก็ชวนกันมาเก็บขยะริมชายหาดทุกสุดสัปดาห์
"เราต้องการจะเรียกคืนทะเลของเรา เพราะทะเลเป็นของเรา ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง" เขาบอก
เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป เขาก็เคาะประตูบ้านคนในย่านนั้น และอธิบายให้ฟังว่าหากมาช่วยกันเก็บขยะ และเริ่มแยกขยะประเภทต่างๆ จากที่บ้าน ทุกอย่างก็อาจจะดีขึ้น
เมื่อชาวบ้านออกมาเก็บขยะมากขึ้น เขาก็ไปชักชวนนักเรียนและนักศึกษาในย่านนั้นให้มาร่วมเก็บขยะ
พอสื่อท้องถิ่นเริ่มมาทำข่าวเรื่องนี้ คนมีชื่อเสียง ดารา นักร้องและเซเลบก็เริ่มทำตัวเป็นอาสาสมัคร มาเก็บขยะวันเสาร์อาทิตย์ด้วยตัวเอง
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้าง "ขบวนการประชาชน" ที่ไม่หวังพึ่งทางการ ไม่เรียกร้อง ไม่บ่น ไม่โยนความผิดให้คนอื่น แต่ลงมือทำเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ภายใน 3 ปีเศษ วันนี้หาด Versova สะอาด สัตว์ทะเลบางชนิดเช่นเต่าก็กลับมามีให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง
สหประชาชาติให้รางวัล Champion of the Earth ในฐานะเป็นนักต่อสู้เพื่อรักษาโลกใบนี้เอาไว้
ผมไปนั่งพูดคุยและลงมือเก็บขยะกับ Afroz และอาสาสมัครทั้งที่เป็นชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ แล้วก็ยืนยันได้ว่าเขาสร้างปราฏการณ์สังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นายกรัฐมนตรีนเรนธรา โมดี ประกาศสนับสนุนความริเริ่มของชาวบ้านเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
ผมคิดถึงเมืองไทย คิดถึงการสร้างขบวนการประชาชนคนไทยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
ถ้าเราเลิกบ่น เลิกโทษคนอื่น และลงมือแก้ไขปัญหาเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนักหนาสากรรจ์เพียงใดก็สามารถลรรลุเป้าหมายได้แน่นอน
ด้วยสองมือของเรานี่แหละ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |