ครม.เห็นชอบยกปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ด้วยเหตุผล 3 ด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม ความเป็นเจ้าของ และประโยชน์ใช้สอย "กฤษฎา" เผยผู้ค้าส่งออกเกือบ 100 ประเทศ มูลค่ากว่า 100 ล้านต่อปี คาดจะกระตุ้นยอดได้อีกมาก
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ครม.เห็นชอบเสนอให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้พิจารณาความเหมาะสมของการประกาศปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ด้วยมิติวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว มิติด้านประโยชน์ใช้สอย โดยปลากัดไทยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ นำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์การประมงเพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้ และมิติด้านความเป็นเจ้าของและความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ปลากัดไทย” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens) นั้น เป็นที่รู้จักในระดับสากลผ่านชื่อ (ไซมิส)“Siamese Fighting Fish” หรือ “Siamese Betta” จึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปลากัดไทยมีต้นกำเนิดมาจากไทย และสามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ จึงเห็นควรให้ใช้เหตุผลนี้ประกาศให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของต่อไป
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ซึ่งการเห็นชอบของที่ประชุม ครม.ในวันนี้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยสาระสำคัญของการเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 2.ด้านความเป็นเจ้าของ และ 3.ด้านประโยชน์ใช้สอย ปลากัดไทยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ข้อมูลส่งออกปลากัดไทยกว่า 95 ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556-2560 ประมาณ 20.85 ล้านตัว/ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 115.45 ล้านบาท/ปี หรือ 5.42 บาท/ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลากัดไทยทั่วโลก
นายกฤษฎากล่าวว่า ในด้านพันธุศาสตร์นั้น ชื่อของปลากัดจีน ปลากัดมาเลย์ และปลากัดอินโดฯ แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทยทั้งสิ้น โดยจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันความนิยมของปลากัดไทยประเภทกัดเก่งนั้นลดลงมาก ขณะที่ได้รับความสนใจในด้านการพัฒนาสายพันธุ์เน้นที่ความสวยงาม ทำให้มีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จำนวน 1,500 ราย เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดไทยมีการกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศไทยจำนวน 500 ราย และมีผู้ที่เลี้ยงรายย่อย ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดไทยมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นกีฬา หรือนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน รวมถึงมอบเป็นของขวัญในวันพิเศษ และยังสามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย ตลอดจนนำไปใช้ประกอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |