("ซอสปรุงรส" อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ผู้สูงวัยควรบริโภคให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันโรคไตกำเริบ)
“การบริโภคอาหาร” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับการดูแลสุขภาพด้านต่างๆ เพื่อป้องกันโรคหรือลดอาการป่วยในผู้สูงอายุแต่ละคน โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยๆในวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคหวัด และโรคปอด ที่อาจกำเริบในช่วงที่ฝุ่นควันพิษเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบกับคนเมืองกรุงทุกเพศทุกวัย จึงเกิดเป็นคำถามว่า แล้วผู้ป่วยทั้ง 4 โรคที่กล่าวมานั้นควรจะบริโภคและหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไหนจึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพ อ.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการและที่ปรึกษากรมอนามัย มีข้อมูลมาแนะนำกัน
(อ.สง่า ดามาพงษ์)
อ.สง่า นักโภชนาการและที่ปรึกษากรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า “เริ่มกันที่ผู้สูงอายุที่ป่วย “โรคไต” อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงและกินแต่น้อย ได้แก่ อาหารที่มีโซเดียม หรือความเค็มสูง ซึ่งรวมไปถึงโซเดียมที่อยู่ในเครื่องปรุงรสอย่าง น้ำปลา และซอสปรุงรส รวมถึงผงชูรส และผงฟูที่อยู่ขนมปัง ซึ่งอาหารกลุ่มโซเดียมสูงดังกล่าวจะกระตุ้นให้ไตทำงานหนัก รวมถึงยังทำให้ผู้ป่วยต้องเพิ่มการกินยารักษาโรคไต และที่อันตรายที่สุดอาหารรสเค็มจัด อาจทำให้เกิดอาการไตวายได้เช่นกัน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ใหญ่ และอาหารที่ผ่านการหมักดองเค็มจากเกลือ ส่วนอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตนั้น คือ “ผักใบเขียว” และควร “บริโภคอาหารรสจืด” อีกทั้งต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
รองลงมาคือ “โรคเบาหวาน” อันที่จริงแล้วผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังนี้ การกินอาหารสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบำบัดโรคให้หายขาดได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมโดยการไม่รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง และมีรสหวานจัด หรือควรบริโภคอาหารประเภทแป้งให้น้อย เพราะแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่เมื่อกินเข้าไปก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ที่สามารถกระตุ้นโรคเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ก็ให้เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน เนื่องจากยังไม่มีข้อห้ามว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถกินทุเรียนได้ ดังนั้นหากจะรับประทาน แนะนำว่าใน 1 วัน ควรบริโภคเพียง 1 เม็ด เพื่อให้รู้รสชาติเท่านั้น อีกทั้งเมื่อบริโภคทุเรียนแล้ว ก็ให้เลี่ยงการกินอาหารรสหวานอื่นๆ ที่สำคัญต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากเบาหวานสามารถบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้จากการออกกำลัง และควบคุมอาหารรสหวานจัด
ส่วนผู้สูงวัยที่ป่วย “โรคปอด” ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงต้องเรียนว่ายังไม่มีกลุ่มอาหารชนิดใดเป็นพิเศษที่ป้องกันโรคได้ แต่ให้เน้นการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้กินอาหารกลุ่มโปรตีนจากเนื้อปลาเป็นหลัก ควบคู่กับการกินข้าวกล้อง ที่ลืมไม่ได้ให้กินผักและผลไม้ควบคู่กันไปด้วย อีกทั้งต้องหมั่นออกกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การว่ายน้ำเบาๆ การเดินจ๊อกกิ้งในสวนสาธารณะ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นตัวช่วยที่ทำให้ปอดแข็งแรงอย่างแท้จริง
(“แกงส้มดอกแค” ช่วยป้องกันโรคหวัดในผู้สูงอายุได้)
ปิดท้ายกันด้วย “โรคหวัด” ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นควันพิษเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ป่วยแล้วก็แนะนำว่าให้ดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนา หรือกินอาหารที่สะอาด และต้องบริโภคให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็มจัด และต้องหมั่นดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ที่สำคัญหากมีไข้ก็ไม่ควรออกกำลังกาย อีกทั้งในระหว่างที่ป่วยก็ยังสามารถรับประทานผลไม้ได้ทุกชนิด เนื่องจากในผลไม้จะมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ในส่วนของผู้ที่ยังไม่ป่วยโรคหวัด การป้องกันก็สำคัญมาก จึงขอแนะนำว่าให้กินผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่ได้จากผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่อากาศเปลี่ยน แนะนำให้กินแกงส้มดอกแค เพราะเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง อีกทั้งเครื่องแกงส้มอย่าง พริก และหอมแดง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้หายใจโล่ง อีกทั้งผู้บริโภคยังได้โปรตีนจากเนื้อปลาอีกด้วย หรือหากใครที่ไม่ชอบแกงส้มดอกแค ก็สามารถบริโภคแกงส้มผักรวมแทนได้เช่นกัน ที่สำคัญในช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่แออัดครับ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |