สมเด็จพระเทพฯ ทรงย้ำ เผยแพร่ข่าวสารงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องถูกต้องแม่นยำ ให้ประชาชนซึมซับประวัติศาสตร์ "ฉัตรชัย" เผยเดือนมีนาเริ่มซ้อมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ เพียงประพฤติตนเป็นคนดี ไม่เกะกะระราน ไม่สร้างความวุ่นวายภายในบ้านเมือง ก็ถือว่ามีส่วนร่วมสูงสุดแล้ว เตรียมถ่ายทอดสดพระราชพิธีไป 170 ประเทศทั่วโลก
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุม 2 ชั้น 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินงานและเรื่องที่เน้นย้ำเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า พระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การให้ข้อมูลข่าวสารในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ผู้ประกาศหรือผู้บรรยายต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ เรื่องที่ 2 คือ ระบบการถ่ายทอดในช่วงพระราชพิธี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญ ผู้บรรยายบางครั้งบรรยายมากเกินไป จนกระทั่งประชาชนไม่สามารถซึมซับบรรยากาศพระราชพิธีเลย ถือเป็น 2 ข้อที่มีรับสั่งไว้ การประชุมครั้งนี้ได้นำทั้ง 2 เรื่องที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งไว้มาเน้นย้ำกับคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนไปวางแผนให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดสดซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก โดยต้องมองลึกลงไปในช่วงเวลาถ่ายทอด ต้องนำเรื่องที่มีรับสั่งไว้มาใส่เกล้าฯ และดำเนินการอย่างเข้มงวด
"การที่จะบรรยายสดๆ ต้องระมัดระวัง เน้นว่าต้องมีบทบรรยายที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยบทบรรยายจะผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ เพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่ต้องไม่บรรยายมากจนเกินไป เพราะบางครั้งประชาชนที่รับฟังทางวิทยุหรือโทรทัศน์ต้องการซึมซับบรรยากาศงานพระราชพิธี เรื่องนี้ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่"
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ในการทำงานร่วมกันเบื้องต้นจะใช้การถ่ายทอดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเป็นหลัก แต่อาจมีเพิ่มเติมว่า ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับโทรทัศน์และวิทยุก็อยากจะมีส่วนร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ จึงอยากขอความร่วมมือให้คณะกรรมการถ่ายทอดสดเปิดโอกาสให้ทีวีช่องต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเผยแพร่ เพื่อให้พระราชพิธีนี้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ และสื่อออกไปให้พี่น้องประชาชนได้เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มเรื่องของพิธีตักน้ำที่จะให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพเผยแพร่ด้วย
"ผมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ, คณะอนุกรรมการด้านศูนย์ถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์, คณะอนุกรรมการด้านศูนย์สื่อมวลชน และคณะอนุกรรมการด้านต่างประเทศ จัดทำงบประมาณเสนอภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ขั้นตอนต่อไปจะเสนองบเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณพิจารณา"
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ตนได้เน้นย้ำรัฐบาลถือว่างานพระราชพิธีเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ฉะนั้นต้องละเอียดรอบคอบและสามารถสื่อสารได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องทำงานให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งสองเรื่องพร้อมกัน ซึ่งพระราชพิธีจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน แต่พิธีการต่างๆ จะเริ่มซักซ้อมตั้งแต่เดือนมีนาคม อาทิ ซักซ้อมริ้วขบวนเสด็จฯ ทางสถลมารค อยากเชิญชวนชาวไทยมีส่วนร่วมในพระราชพิธีประวัติศาสตร์แห่งชีวิตที่มีความสำคัญของชาติ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้หมด อาทิในช่วงนั้นประพฤติตนเป็นคนดี ไม่เกะกะระราน ไม่สร้างความวุ่นวายภายในบ้านเมือง ก็ถือว่ามีส่วนร่วมสูงสุดแล้ว
"ในช่วงพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยจะถ่ายทอดสดทั้งในและต่างประเทศ 170 ประเทศทั่วโลก อยากเน้นให้คนไทยสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง www.phralan.in.th และแฟนเพจเฟซบุ๊กพระราชพิธีบรมราชาภิเษก" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
ด้านนางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะอนุกรรมการด้านศูนย์สื่อมวลชน กล่าวว่า ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.phralan.in.th และเฟซบุ๊กพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสองช่องทางเปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว
รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กล่าวต่อว่า ได้เตรียมจัดอบรมสื่อมวลชนจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์มาอบรมให้ความรู้จำนวน 3 วัน ครั้งที่ 2 เชิญผู้บรรยายในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 3 จัดอบรมจิตอาสา และครั้งที่ 4 จัดอบรมสื่อมวลชนและเดินทางลงพื้นที่ที่มีการเตรียมงานพระราชพิธี เช่น กระบวนพยุหยาตราสถลมารค และเครื่องประกอบพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งกรมศิลปากร โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว
"พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการใช้คำศัพท์เฉพาะ และมีประวัติความเป็นมาตามโบราณราชประเพณี จะต้องคำนึงถึงความถูกต้อง หากประชาชนไม่แน่ใจการใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่ถูกต้อง สามารถสอบถามได้ที่กรมประชาสัมพันธ์และสำนักราชบัณฑิตยสภาเท่านั้น ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานและสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อสร้างการรับรู้ในโบราณราชประเพณีที่มีมาโดยตลอด ซึ่งคนไทยมีความรักความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์"
นางทัศนีย์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้มีการจัดพิมพ์หนังสือความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหนังสือรวบรวมบทความพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และหนังสือรวบรวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดในประเทศไทย จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจกจ่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและห้องสมุดสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |