เป็นไปตามคาดกับความคึกคักในการรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ 350 เขต ที่เปิดรับสมัครกันไปวันแรกเมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ภาพรวมเป็นไปอย่างคึกคัก เข้มข้น
โดยหลังจากได้หมายเลขในการหาเสียงแล้ว ผู้สมัครแต่ละพรรค แต่ละเขต พรรคการเมืองต้นสังกัด ก็เร่งเครื่องหาเสียงกันทันที หลายพรรคการเมือง กางโปรแกรมหาเสียง ทั้งตั้งเวทีปราศรัยใหญ่-ปราศรัยย่อย-การเดินสายหาเสียงของแกนนำพรรคตามจุดต่างๆ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งกันเต็มที่ ส่วนกลยุทธ์เลือกตั้งแบบใต้ดิน เพื่อให้ฝ่ายตัวเองชนะ พรรคไหนจะใช้กลยุทธ์อะไร ก็เป็นเรื่องที่คงไม่มีใครเอามาพูดกันแบบเปิดเผย
สำหรับสมรภูมิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะพบว่า “กฎหมาย-กติกา-กฎเกณฑ์-ระเบียบปฏิบัติทางข้อกฎหมายต่างๆ ของผู้สมัครและพรรคการเมือง” มีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายอย่าง จนหลายพรรคโอดครวญว่า รอบนี้มีทั้งกฎเหล็ก-ยาแรง-ข้อห้าม มากมาย จนต้องระวังตัวแจ เพราะแม้ไม่คิดทำผิดกฎหมาย แต่ก็เกรงจะถูกกลั่นแกล้งหรือพลาดพลั้งจนสะดุดม้าตายได้ ขณะเดียวกัน ระเบียบปฏิบัติหลายอย่าง พรรคการเมืองทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ต่างมองว่า ไม่เปิดโอกาสให้หาเสียงได้เต็มที่เหมือนที่ผ่านมา เช่น การหาเสียงผ่านทางวิทยุ–โทรทัศน์ ที่สำนักงาน กกต.จะต้องจัดสรรเวลาให้ ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศสปอตโฆษณาของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที และเวทีดีเบตประชันนโยบายของพรรค
เรื่องดังกล่าวที่มีปัญหา เพราะว่าการหาเสียงผ่านโทรทัศน์แต่ละสถานีโดยเฉพาะช่องที่มี "สีการเมือง-สื่อเลือกข้าง” จะไม่สามารถเชิญพรรคเดิมที่เคยมาออกแล้วได้ เพราะ กกต.ได้ย้ำว่าทางช่องต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน จะต้องเชิญหลายๆ พรรคร่วมเข้ามาพูดคุย ในเรื่องของการดีเบตจะทำคล้ายกับฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ให้แต่ละพรรคประชันนโยบายผ่านหลายช่องโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่กับประเทศไทยถือเป็นเรื่องลำบากถ้าอยากให้ประชาชนได้เห็นการประชันนโยบายของทุกพรรค เพราะว่าสื่อโทรทัศน์เดี๋ยวนี้มีหลายช่อง อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่เปิดเพียงไม่กี่ช่อง และมักจะเปิดช่องที่ตัวเองดูอยู่แล้วเป็นประจำ ทำให้บางพรรคที่ไปออกอากาศในช่องที่ไม่ค่อยโด่งดังอาจจะเกิดความเสียเปรียบได้
แต่ฝั่งของอเมริกานั้น มีแค่ไม่กี่พรรคที่ต่อสู้กันในเวทีการเมืองทำให้ประชาชน สามารถซึมซับนโยบายของ 2 พรรคใหญ่ได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งบางพรรคยังมองว่าการดีเบตผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ยังเป็นเรื่องที่โบราณ เนื่องจากว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสพสื่อแค่ทางนี้ แต่ร้อยละ 80 ของประเทศเสพสื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย น้อยคนนักที่จะเปิดโทรทัศน์ที่บ้าน หรือถ้าเปิดจริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสถานที่ราชการและออฟฟิศสำนักงานเท่านั้น
ส่วนเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามในการหาเสียง กกต.ได้ใส่กฎเหล็กเอาไว้ โดยเฉพาะการห้ามผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น ให้นักแสดง นักร้อง ศิลปิน สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ซึ่งความหมายตรงตัวคือ พรรคการเมืองจะไม่สามารถจ้างนักร้อง หรือศิลปิน มาแต่งเพลงหรือร้องเพลงประจำพรรคให้อีกเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ การติดป้ายหาเสียงก็ไม่สามารถติดป้ายปกติ หรือป้ายบิลบอร์ดใหญ่ๆ ของเอกชนได้อีกต่อไป โดยกกต.ให้เหตุผลว่า เพื่อความเท่าเทียมกันของทุกพรรค จึงกำหนดให้มีการติดป้ายตามที่ได้กำหนดเท่านั้น จนทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหนา ก็ไม่สามารถติดป้ายได้แบบจัดเต็มเหมือนอดีต
รวมทั้งการคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางโซเชียลก็ต้องบอกล่วงหน้าด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องบอกต่อ กกต.ให้ชัดเจนว่าเราเสียค่าโฆษณาเท่าไหร่ โปรโมตโพสต์เฟซบุ๊กบ่อยแค่ไหน ซึ่งยังมีข้อกังวลของฝั่งพรรคการเมืองว่าถ้าต้องการโปรโมตเฟซบุ๊กอีกครั้ง นอกเหนือจากที่ได้แจ้ง กกต.มาจะต้องกลับมาแจ้งที่ กกต.อีกครั้งหรือไม่
ในส่วนของพรรคที่สามารถส่งผู้สมัครลง ส.ส.นั้น ในขณะนี้มีแค่ 41 พรรค เนื่องจากสามารถจัดตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดที่จะส่งสมัครได้ครบถ้วน แต่มีแค่ 3 พรรคที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต คือ พรรคประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย และรักษ์ผืนป่าประเทศไทย ในขณะเดียวกันพรรคที่บอกว่าจะส่งผู้สมัครทุกเขต แต่ที่ กกต.เปิดเผยมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งได้ 70 หรืออนาคตใหม่ ที่ส่งได้ 69 เนื่องจากว่าอาจจะมีบางพรรคที่มีผู้สมัครแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคในจังหวัดที่ตัวเองส่ง หรือจัดทำอะไรเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่แจ้งต่อ กกต.รับทราบ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 มาตรา 145 บัญญัติไว้ว่า พรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองใดไม่ประสงค์จะส่งผู้สมัครครบ 350 เขตใน 77 จังหวัด ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบทั้ง 77 จังหวัด แต่ตั้งเฉพาะในจังหวัดที่จะส่งเท่านั้น
ซึ่งการส่งผู้สมัครผู้สมัครของพรรคที่อยู่นอกบัญชีที่ทางสำนักงานฯ แจ้งต่อ ผอ.กกต.จังหวัด ไปยื่นสมัคร กกต.เขต
ทาง แสวง บุญมี รองเลขาฯ กกต. เคยระบุเอาไว้ว่าสามารถรับสมัครได้ เพียงแต่ว่าพรรคการเมืองจะต้องแจ้งให้ กกต.รับทราบ แต่ถ้าปิดรับสมัครแล้ว กกต.ตรวจคุณสมบัติแล้วพบว่าการจัดตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และข้อบังคับ ก็จะทำให้ผู้สมัครของพรรคไม่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะเดียวกันผู้สมัคร และหัวหน้าพรรค นอกจากการส่งผู้สมัครของพรรคในเขตนั้นๆ จะเป็นโมฆะแล้ว ยังถูกดำเนินคดีอาญาด้วย
กฎกติกา-ระเบียบข้อห้ามต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ออกมาเพื่อรองรับระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องรอดูกันว่า สุดท้ายแล้ว จะทำให้การเลือกตั้ง ออกมาโปร่งใส ยุติธรรม ได้หรือไม่ ต้องรอดูต่อจากนี้.
ชัชดนัย ตันศิริ
รายงาน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |