4ก.พ.62-ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้มีมติรับรองผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
รมว.สธ. กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีที่ผ่านมา สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ทั้งในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณและการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จากงบประมาณกองทุนฯปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลที่ได้รวมกับงบกลางที่เพิ่มเติม จำนวน 130,719.62 ล้านบาท (หลังหักเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ) ทั้งในส่วนของงบบริการสาธารณสุขเหมาจ่ายรายหัวและงบบริการเฉพาะ อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น
พบว่าในปีงบฯ 61 มีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.803 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.24 ล้านคน สามารถดำเนินการดูแลครอบคลุมผู้มีสิทธิได้ถึงร้อยละ 99.94 มีการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 184.6 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.73 ครั้ง/คน/ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราเข้ารับบริการเกิน 7 ครั้ง/คน/ปี ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยใน อยู่ที่ 6.2 ล้านครั้ง หรือ 0.12 ครั้ง/คน/ปี
ขณะที่การดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่แยกบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ตามเป้าหมาย โดยบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ป่วยรับบริการ 261,930 คน การการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 74,857 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 57,288 คน การควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดัน) 3.93 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 10,389 คน ผู้อายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 211,290 คน นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2561 ได้เพิ่มเติมค่าใช้จ่าย ให้กับหน่วยบริการ 202 แห่ง จากที่กำหนดเป้าหมาย 175 แห่ง อย่างไรก็ตามมีเพียงบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริการ 332,968 ครั้ง หรือร้อยละ 51.1 ซึ่งต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายในปีต่อไป
รมว.สธ. กล่าวอีกว่า จากรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ยังได้มีการรายงานในส่วนภาพรวมการคลังสุขภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2533-2560 โดยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2561คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ขณะที่รายจ่ายสุขภาพโดยรวมของทั้งประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.02 เมื่อเทียบกับ GDP
การลดลงของครัวเรือนที่ต้องยากจนลงจากจ่ายค่ารักษา พบว่าหลังมีระบบบัตรทอง จากร้อยละ 2.01 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 หรือจาก 2.2 แสนครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือนในปี 2560, ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากร้อยละ 4.06 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.26 ในปี 2560 หรือจาก 6.6 ครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 4.8 แสนครัวเรือนในปี 2560 และสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจากครัวเรือนจากร้อยละ 27 ในปี 2545 ลดลงเหลือร้อยละ 11.32 ในปี 2560
“จากผลดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับครัวเรือน ช่วยลดวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะจากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ส่งผลต่อความพึ่งพอใจของประชาชนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 93.93 ขณะที่ความพึงพอใจผู้ให้บริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 70.67 ซึ่งเกิดจากผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง” รมว.สธ.กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |