สิงห์อมควันกระอัก! "บุหรี่” ซอง 60 บาท ปรับพรวดใกล้ 100 บาท ยสท.แจงมี 5 ยี่ห้อ 10 ชนิด ขึ้นจาก 60 บาทเป็น 93 บาท ชี้ผลภาษีอัตราใหม่ ส่วนบุหรี่เกินซองละ 90 บาทเตรียมขยับตาม “เครือข่ายชาวไร่ยาสูบ” จี้รัฐทบทวนก่อนพาอาชีพพัง “อธิบดีสรรพสามิต” ย้ำเดินหน้า ขึ้นราคาเป็นไปตามกลไกตลาด!
เมื่อวันอาทิตย์ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ยสท.มีแผนขึ้นราคาบุหรี่หลายชนิดเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ที่จะขึ้นภาษีบุหรี่ซองราคาไม่เกิน 60 บาท จาก 20% เป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค.2562 โดยเบื้องต้นจะขึ้นราคาบุหรี่ที่ขายซองละ 60 บาท ซึ่งมีอยู่ 5 ยี่ห้อ 10 ชนิด เป็นซองละ 93 บาท หรือขึ้นซองละ 33 บาท ส่วนบุหรี่ที่ขายเกินซองละ 90 บาท ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาจะขยับราคาขึ้นไปด้วย ซึ่งอาจเป็นซองละหลักร้อยบาทก็ได้
“การขึ้นราคาเช่นนี้ไม่ได้เป็นเพราะ ยสท.ต้องการกำไรเยอะ แต่ต้องปรับเพราะภาษีสรรพสามิตใหม่คิดคำนวณจากราคาปลีก เมื่อมีการขึ้นภาษีมากถึง 1 เท่าตัว ยสท.ก็ต้องขยับราคาตาม ไม่เช่นนั้นก็จะขาดทุน โดยกำไรจากภาษีปัจจุบันตกอยู่ซองละ 10 สตางค์เศษ แต่ถ้าขึ้นราคาตามภาษีใหม่กำไรก็ใกล้เคียงกับของเดิม ไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่หากรัฐบาลชะลอการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 40% ออกไปก่อน ยสท.ก็จะขายราคาเดิมไม่ขึ้นราคา” น.ส.ดาวน้อยกล่าว
นอกจากนี้ ในปีนี้ ยสท.ยังมีแผนปรับการตลาดใหม่ เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่จากต่างประเทศมากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. ได้ออกบุหรี่ใหม่อีก 1 ยี่ห้อ ขายซองละ 55 บาท ซึ่งราคาถูกที่สุดของ ยสท. เพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูง และกลุ่มผู้สูบที่ต้องการบุหรี่สูตรเย็นจัด เพื่อใช้แข่งขันทำตลาดกับบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งลดราคาออกมาแข่งในช่วงก่อนหน้านี้ รวมทั้งยังพิจารณาขยายตลาดยาเส้นเพิ่มเติม โดยจะผลิตออกมาอีกหลายยี่ห้อ เพราะผลสำรวจพบว่านับตั้งแต่รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ได้ทำให้กลุ่มคนรายได้ไม่สูง หรือกลุ่มชาวบ้านตามต่างจังหวัดเลิกสูบบุหรี่และหันไปสูบยาเส้นเพิ่ม เพราะมีราคาถูกกว่าบุหรี่มาก เช่น บุหรี่ซองละ 60 บาท แต่ยาเส้นขายเพียง 10-15 บาท
น.ส.ดาวน้อยกล่าวอีกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้น เห็นได้จากการจัดเก็บรายได้ภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิตไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง แต่คนหันไปสูบยาเส้นที่ภาษีต่ำกว่าแทน รวมถึงยังมีบุหรี่หนีภาษีลักลอบนำเข้าขายมากขึ้น เนื่องจากราคาขายในไทยสูงกว่าต่างชาติมาก จึงมีแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบ และที่สำคัญ เมื่อการบริโภคบุหรี่ลดลง ก็จะมีผลต่อการรับซื้อใบยาจากชาวไร่ยาสูบในอนาคตอีกด้วย
สำหรับเป้าหมายผลดำเนินงานในปี 2562 ยสท. คาดว่าจะผลิตและจำหน่ายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านมวนใกล้เคียงปี 2561 และกำไรอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท ลดลงจากปี 261 ที่กำไร 900 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 20 เท่าตัว เมื่อเทียบกับกำไรก่อนหน้าปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งในปี 2560 ยสท.เคยกำไรสูงถึง 9.8 พันล้านบาท
แหล่งข่าวจากผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศยอมรับว่า การคิดอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่าที่ 40% ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศทุกรายต้องขยับราคาขายปลีกบุหรี่ที่ไม่เกินซองละ 60 บาท เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 90 บาท เพราะหากไม่ขยับราคาตามภาษีที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
ขณะที่นายสุธี ชวชาติ ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ กล่าวว่า ที่ประชุมตัวแทนภาคีเครือข่ายมีมติให้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ตามมูลค่าเป็น 40% ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.นี้ไปก่อน ซึ่งควรเลื่อนการขึ้นภาษีก่อนเลือกตั้งใหม่ เพื่อไม่ให้ชาวไร่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเตรียมยื่นสรุปผลการประชุมให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อผลักดันนโยบายเลื่อนการขึ้นภาษีเพื่อดูแลปากท้องชาวไร่ยาสูบอย่างจริงจัง
“หากขึ้นภาษีบุหรี่ 40% อาจทำให้ชาวไร่ยาสูบต้องสูญสิ้นอาชีพสุจริตนี้ไป เพราะการขึ้นภาษีสรรพสามิตเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวไร่ยาสูบรายได้หายไป 230 ล้านบาท ในฤดูกาลปลูกปี 2561/62 เนื่องจากถูกลดโควตาการรับซื้อใบยาลงเฉลี่ย 50% แม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางวงเงิน 159 ล้านบาท เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ชาวไร่ยาสูบที่ถูกตัดโควตา แต่ก็เป็นการช่วยฤดูกาลปลูกเดียวเท่านั้น”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2562 ที่ประชุมอุตสาหกรรมยาสูบครั้งที่ 2 มีมติขอให้รัฐบาลปรับแผนการขึ้นอัตรภาษีสรรพสามิตที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ โดยแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น คือ ปรับราคาจุดตัดอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 20% จาก 60 บาท เป็น 70 บาท และยังคงอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่าแบบสองอัตราที่ 20% และ 40% ต่อไป เพื่อลดการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมบุหรี่ รวมทั้งยังขอให้รัฐบาลเลื่อนการเก็บภาษีด้านมูลค่าแบบอัตราเดียวที่ 40% ในวันที่ 1 ต.ค.2562 ออกไปอีก เพื่อให้ชาวไร่ยาสูบ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม มีระยะเวลาในการปรับตัวมากขึ้น ส่วนแผนระยะยาว เสนอให้พิจารณาขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ตามมูลค่า จาก 20% แบบขั้นบันได คือเพิ่มทีละ 5% เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสูบปรับตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า การเก็บภาษีอัตราใหม่ยังคงเดินหน้าตามกฎหมายใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยอัตราภาษีใหม่เริ่มใช้มาตั้งแต่ 16 ก.ย.2560 โดยอัตราภาษีสำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท จะคิดตามปริมาณ อยู่ที่ 1.20 บาทต่อมวน และตามมูลค่า 20% ขณะที่บุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาทขึ้นไป จะคิดภาษีตามมูลค่าที่ 40% แต่ในวันที่ 1 ต.ค.2562 การเก็บภาษีบุหรี่ทั้งที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท และราคาเกินซองละ 60 บาท จะคิดอัตราภาษีตามมูลค่าเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ 40% ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายเวลาออกไปแต่อย่างใด
"ข้อเสนอให้ขยายเวลาอัตราภาษีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องออกเป็นประกาศกระทรวง ที่ต้องเสนอเข้า ครม. ซึ่งถ้ามาพิจารณาตอนนี้คงไม่ทัน เพราะอยู่ในช่วงต้องเตรียมการเลือกตั้ง ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะมีการปรับราคา ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไก" นายพชรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |