3 ก.พ. 2562 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณมาแจกหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้แก่เด็กนักเรียนและผู้มีรายได้น้อย โดยจากรายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษระบุไว้ว่า ในช่วงเดือนปลายเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีย้อนหลังไป 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2561 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานมาโดยตลอด
ประกอบกับหากในช่วงใดที่มีอุณหภูมิต่ำ ความกดอากาศสูง ท้องฟ้าปิด สภาพอากาศสงบนิ่งไม่กระจายตัว จะเกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ทำให้ค่าของฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าปกติ เช่นในปีนี้ที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะสภาพอากาศที่สงบนิ่ง ไม่ลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศ จึงทำให้ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศและทำให้มีการสะสมของฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 25 เท่า เมื่อสูดหายใจเข้าไปจึงสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดและไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ง่าย และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด โรคมะเร็ง กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ โรคหอบหืด รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย
โดยมีงานวิจัยระบุไว้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีสารก่อมะเร็งถึง 14 ชนิด และมีโลหะหนักที่เกินมาตรฐานและเป็นพิษต่อร่างกายถึง 18 ตัว โดยสารที่พบมากคือทังสเตน แคดเมียมและสารหนู องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง ฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และจากรายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษที่กล่าวมา สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงเดือนมีนาคมเช่นเดียวกับทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา
สถานการณ์มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานนี้ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 จึงถือว่าเป็นสาธารณภัย โดยเป็นภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชนซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน และกระทบโดยตรงกับชีวิตผู้คนจำนวนมากมายเป็นสิบ ๆ ล้านคนในหลายจังหวัด และหากจะจัดว่าเป็นภัยพิบัติก็น่าจะได้ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อแจกให้แก่เด็กนักเรียนในเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อ ในเรื่องนี้หากจะรอให้มีผู้มาบริจาคก็คงต้องใช้เวลา และการจะขอรับบริจาคหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้ทั่วถึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก รัฐบาลจึงควรจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีจำนวน 2,500 ล้านบาท และเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งมีจำนวน 99,000 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นเงินร่วม 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้ในการแจกหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนผู้มีรายได้น้อย
เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่ในภาวะวิกฤตติดต่อกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้ความใส่ใจดูแลชีวิตและสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียนและประชาชนอย่างรีบด่วน สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย หากจะต้องใช้จ่ายซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีราคาหลายสิบบาทในแต่ละวัน ถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยเลย หากรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแจกหน้ากากให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าให้ประชาชนกลุ่มนี้ต้องหาหนทางดูแลป้องกันตนเองให้พ้นอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นไปตามบุญตามกรรมหรือตามมีตามเกิดของแต่ละคน
นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มาจากไอเสียรถยนต์ดีเซล 29.2 % การเผาชีวมวลซึ่งเป็นวัสดุการเกษตร 37.8% ฝุ่นทุติยภูมิ 20.7% โรงงาน 5.6 % จึงเห็นได้ว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากการเผาอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก การเผาในที่โล่งจึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานนอกเหนือไปจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะถึงนี้ ประเพณีในระหว่างเทศกาลตรุษจีนก็เป็นสิ่งที่ต้องรักษาและประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันไป แต่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชีวิตผู้คนโดยรอบในสังคมก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแลรักษาควบคู่กันไปด้วย การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน นอกจากจะเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงแล้วก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วย ภาครัฐจึงควรจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชน และรณรงค์ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เผากระดาษ เครื่องเซ่นไหว้ และจุดธูป เท่าที่จำเป็น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย ซึ่งหากมีการสร้างความรู้เข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ย่อมไม่เป็นการยากลำบากที่จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับภาครัฐแต่อย่างใด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |