ทางแก้เฉพาะหน้า ควบคุมฝุ่นพิษ PM 2.5


เพิ่มเพื่อน    

ประกาศปิด รร.และสถานศึกษา ลดผลกระทบสุขภาพและการใช้รถยนต์ในเมือง 

 

     กว่า 3 สัปดาห์แล้วที่เกิดสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล รวมถึงจังหวัดสมุทรสาคร คนเมืองยังไม่เจอวันที่อากาศดี ฝุ่นจิ๋วส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แม้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษเฉพาะหน้า เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง  ห้ามเผาในที่โล่งอย่างเด็ดขาด ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ประกาศปิดโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ แต่หมอกควันพิษก็ยังห่มคลุมทั่วเมือง

      ขณะที่ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาฝุ่นพิษได้ รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหา วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ร่อนแถลงการณ์ขอความร่วมมือประชาชนให้รถยนต์ส่วนบุคคลเครื่องยนต์ดีเซลเดินทางเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเท่าที่จำเป็น หรืองดใช้ระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นพิษจะคลี่คลาย เพราะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์เป็นต้นเหตุของฝุ่นอันตรายมากที่สุด

      ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. ชงมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จากยานพาหนะระยะเร่งด่วนเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ พิจารณาในการจัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 (นัดพิเศษ) วันที่ 4 ก.พ.นี้ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1.มาตรการห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก 2.มาตรการเร่งรัดให้นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm (เทียบเท่า EURO 5) มาจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกัน 4.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี และ 5.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์และการบังคับใช้คำสั่งห้ามใช้ ก็ต้องดูว่า 5 มาตรการรัฐบาลจะให้ผ่านหรือเปล่า

 

 กทม.ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศบนตึกสูง ลดฝุ่นพิษ PM2.5     

 

     ฝั่งสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นสถานการณ์ฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานกับประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ประชาชนคิดว่าเข้าขั้นวิกฤติ ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยังแก้ไขไม่ได้ และคนเมืองเกือบร้อยละ 50 อยากให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ออกคำสั่งควบคุมสถานการณ์ ประกาศหยุดราชการ ห้ามใช้รถ บังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน ฯลฯ และให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบและรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ข้อมูลที่เป็นจริง

      อย่างไรก็ตาม ฝุ่นจิ๋วเมืองใหญ่มาจากรถยนต์บนท้องถนนกว่าร้อยละ 60 ทุกปีมีรถจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคัน ไทยติดอันดับหนึ่งของโลกการจราจรติดขัด มีตัวเลขคนไทยเสียเวลา 50-60 ชั่วโมงต่อปีจอดแช่บนถนน กระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เพิ่มฝุ่นและมลพิษสะสมในบรรยากาศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ปัญหาฝุ่นในปัจจุบันได้ ประชาชนต้องเปลี่ยนวิธีเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

 กว่า 3 สัปดาห์หมอกควันพิษปกคลุมพื่นที่กรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

     

     นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในระยะเร่งด่วน เพื่อลดฝุ่น ต้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งมีส่วนก่อปัญหามลพิษฝุ่นละอองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รัฐบาลออกมาตรการห้ามรถยนต์นั่งคนเดียวเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ส่งเสริมคาร์พูล ร่วมโดยสารไปในเส้นทางเดียวกันหรือเส้นทางใกล้กัน หรือที่ทำงานเดียวกันชวนนั่งไปคันเดียวกัน ลดการใช้รถยนต์ที่เป็นตัวการปลดปล่อยฝุ่นพิษ นอกจากลดการใช้รถยนต์ ช่วยบรรเทาการจราจรที่คับคั่ง ขณะเดียวกันต้องห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งเข้าพื้นที่ รถดีเซลที่ก่อควันดำต้องเอาออกให้หมด แล้วใช้รถเอ็นจีวีบริการประชาชน พร้อมกับเปิดบัสเลนพิเศษ เชื่อมต่อกลุ่มคนตามจุดต่างๆ มาสู่รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที อาจทำเป็นพื้นที่เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนในเมือง

      " ปัญหาฝุ่นรัฐบาลและกรุงเทพมหานครแก้ปัญหาด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำ ติดตั้งเครื่องพ่นน้ำบนตึกสูง บินโดรนลดฝุ่นตามพื้นที่ค่าฝุ่นสูง แม้เป็นวิธีการทดลอง แต่เป็นปฏิบัติการที่เสียเวลาเปล่า เพราะฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าละอองเกสรดอกไม้ กทม.ควรโฟกัสพื้นที่ไหนสามารถจัดการจราจรใหม่ได้ พื้นที่ใดจำเป็นเร่งด่วน ห้ามรถยนต์เข้าพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ มาตรการแก้ปัญหาต้องสอดคล้องกับการเดินทางของคนเมือง" นายธารา กล่าว และฝากถึง กทม.ที่ได้ดำเนินมาตรการประกาศปิดโรงเรียน มีการประเมินผลว่าส่งให้จราจรคล่องตัวและช่วยลดมลพิษฝุ่น PM2.5 ได้มากน้อยเพียงใด

 

ธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้          (ภาพโดยบารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ)

 

      กรณีมีการเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ ม.44 แก้ปัญหาฝุ่นเพื่อให้ทันสถานการณ์ ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่ารัฐบาลถูกด่าเยอะ น่าเห็นใจ แต่ก็ต้องตั้งสติและทำการบ้านก่อนว่า ถ้าประกาศเปิดให้บริการฟรี รถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ ใน กทม. จะช่วยลดรถยนต์ได้มากน้อยแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบขนส่งมวลชน เครือข่ายรถไฟฟ้า ยังไม่ครอบคลุม ไม่รองรับความต้องการของคน รวมถึงระบบจอดรถแล้วจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และชานเมือง ยังไม่พร้อม ตนเห็นว่า ทุกแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจะต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน

      ธารา กล่าวว่า วันนี้ถ้ารัฐบาลจะใช้ยาแรง ควรใช้จัดการกับฝุ่นพิษจากปล่องโรงงาน ปัญหาหมอกควันคลุมกรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ได้ลมสามารถพัดพาฝุ่นและควันพิษมาจากพื้นที่ใกล้เคียง แม้จะไม่มีโรงงานตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ แต่ชานเมืองและจังหวัดที่รายรอบกรุงล้วนเป็นดงโรงงาน พื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม มีโรงงานหลายพันแห่งซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ที่แหล่งกำเนิดโรงงาน รวมถึงไม่มีการตรวจวัดการปล่อยฝุ่นพิษ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรมโรงงาน กรมควบคุมมลพิษ กทม. ต้องตรวจสอบว่าโรงงาน โรงฟ้า โรงปูน เตาเผาขยะใหม่และเก่า ปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณเท่าไหร่ นอกจากนี้ ต่อไปกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับปรุงมาตรฐานเรื่องนี้ ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องตรวจวัดกับแหล่งกำเนิดจากโรงงาน โรงไฟฟ้า เตาเผาต่างๆ ด้วย ไทยมีโรงงานอุตสาหกรรม 1.4 แสนโรง แต่ไม่มีกฎหมายบังคับให้รายงานปริมาณการปล่อย PM 2.5 ในประเทศที่เผชิญสภาพอากาศเลวร้าย เต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างจีน รัฐบาลได้ออกมาตรการปิดโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นอันตรายและย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วยลดปริมาณ PM 2.5 ลดอัตราการตายของผู้คนได้ 

      “ ฝุ่นพิษ PM2.5 มีขนาดเล็ก แต่ร้ายกาจ และมาเป็นแก๊ง มีองค์ประกอบทางเคมี 4 ตัว ทั้งสารหนู แคดเมียม ปรอท และพีเอเอช สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปอวัยวะต่างๆ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง แหล่งกำเนิดมีทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง ต้องมีมาตรการควบคุม ข้อเสนอกรีนพีซต้องติดตั้งและรายงานค่า PM 2.5 ในทุกสถานีตรวจวัด ปัจจุบันใน กทม.ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และปรับลดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จาก 50 ไมโครกรัม (มคก.) ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 35 มคก. ต่อ ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 มคก.ลบ.ม. ภายในปี 62 นี้โดยเร็ว ที่เชียงใหม่ที่ผู้คนเจอปัญหาหมอกควันมากว่า 10 ปี นักวิชาการและภาคประชาชนช่วยกันยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่ แค่ค่าฝุ่น 35 มคก.ต่อ ลบ.ม. ก็ประกาศแจ้งเตือนเสี่ยงต่อสุขภาพแล้ว ไม่ได้ใช้มาตรฐานของ คพ. รอให้เกิน 50 หรือ 100 ถึงเตือนอันตรายกับประชาชน" ธาราย้ำต้องตั้งเป้าให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ปฏิบัติการบินโดรนแก้ฝุ่นละอองขนาดเล็กทั่วพื้นที่ กทม.

 

      ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ และ ทส. ต้องกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะควบคุมและป้องกันการเผาในที่โล่ง ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของสารมลพิศอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน ไม่เฉพาะรายงานฝุ่นอันตราย โดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมาย ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ

      ด้านกระทรวงสาธารณสุขต้องตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคที่สัมพันธ์กับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ จะได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในช่วงอายุต่างๆ ได้ ประเมินโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ระดับมลพิษสูงถึงการเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ จากโรคและการเจ็บป่วย มีแผนรองรับและดูแลให้คำแนะนำผู้ป่วย รวมถึงติดตามดูการเปลี่ยนแปลงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการนำมาตรการลดพิษอากาศมาใช้ เช่น การเปลี่ยนชนิดน้ำมัน นอกจากนี้ สธ.ต้องมีบทบาทแจ้งเตือนเมื่อมลพิษระดับสูง ช่วยให้ผู้คนป้องกันและหลีกเลี่ยงการรับมลพิษทางอากาศได้

      ขณะที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องเดินหน้าแผนระยะยาวส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในภาคการขนส่ง ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เทียบเท่ายูโร 5 ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐานยูโร 6 เปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก.ให้เป็นรถยนต์มลพิษต่ำ ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ราคาสมเหตุสมผล ทั้งค่าบริการรถไฟฟ้า รถใต้ดิน นอกจากนี้ จะแก้ฝุ่นพิษได้ต้องปรับปรุงระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ด้านการใช้พลังงานมากขึ้น สนับสนุนประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ประหยัดพลังงาน สุดท้ายสนับสนุนการใช้จักรยาน การเดิน รถยนต์ไฟฟ้า มีมาตรการส่งเสริมการขับขี่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง หรือ Eco driving ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกพยายามทำเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพอย่างร้ายแรง

 

 

      อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการดำเนินงานแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ล่าสุด (วันที่ 2 ก.พ.) กระทรวงอุตสาหกรรมประชุมหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรม กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลมีมาตรการเร่งด่วนลดฝุ่นละออง ดังนี้ โรงงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งหมดประมาณ 2,500 แห่ง จะดำเนินโครงการ “Big Cleaning Day” ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2562 โดยการล้างทำความสะอาดพื้นที่โรงงาน ทำความสะอาด ปรับแต่งเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดปัญหาการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5

      โรงงานประมาณ 1,300 แห่ง ให้ความร่วมมือในการลดการปลดปล่อย PM 2.5 โดยบางส่วนจะหยุดการประกอบกิจการระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2562 และบางส่วนจะลดกำลังการผลิต 30% ในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กอ.รมน. และ ทส. มีแผนงานตรวจโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกันเพื่อป้องกันและควบคุมการระบายฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"