“วิษณุ” แจงสังคมสับสนเรื่องทุจริต ยก “นาฬิกาเพื่อน” แค่ผิดเรื่องไม่แจ้งบัญชีไม่ใช่คอร์รัปชัน “วัชรพล” แนะเลือกนักการไม่โกง เตรียมชงมาตรการสกัดทุจริตเชิงนโยบายให้รัฐบาล หลังส่งให้ กกต.ส่องแล้ว
เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่องนโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ภายในงานเปิดโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 10 ว่านโยบายระดับประเทศเรื่องการปราบปรามการทุจริตกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการกระทำมากกว่าการเรียนหรือการศึกษา มีความเป็นศาสตร์และศิลป์ ซึ่งปัจจุบันในสังคมยังไม่เข้าใจถึงความหมายของการทุจริต จนเกิดความสับสนในเรื่องประพฤติทุจริตและประพฤติมิชอบ
"กรณีนาฬิกาหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของการทุจริต ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่หากไม่ยื่นก็ไม่ทุจริต แต่ผิดที่ไม่ได้ยื่น ซึ่งการโยงไปสู่การทุจริตหรือไม่ สุดท้ายเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันองค์ความรู้ผู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นสากล ป.ป.ช.ได้เสนอเรื่องมายังคณะรัฐมนตรีให้จัดการสอนวิชาเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้รู้เท่าทัน ครม.รับหลักการให้กระทรวงศึกษาฯ ไปดำเนินการสอดแทรกเรื่องนี้ไปในการเรียนการสอน หรือตั้งเป็นวิชาใหม่" นายวิษณุกล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. บรรยายเรื่องนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. ตอนหนึ่งว่า ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทย ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ของอาเซียน โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีการตั้งสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะทำหน้าที่มอนิเตอร์ค่าคะแนนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยต้องดูว่าคะแนนในแหล่งข้อมูลที่ลดลงเกิดจากอะไร และจะทำอย่างไรให้คะแนนดีขึ้น ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่ ก็ต้องมาดูว่าจะเพิ่มคะแนนได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีการประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และรัฐบาล เพราะการจะทำให้ค่า CPI ดีขึ้น ต้องอาศัยการดำเนินการของรัฐบาล
“นอกจากค่า CPI ที่ถือว่าเป็นการประเมินระดับนานาชาติแล้ว ไทยยังมีค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ซึ่งเป็นผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งพบว่าปี 2555-2556 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่และนักการเมืองที่ทุจริตเฉลี่ยอยู่ที่ 25-35% ปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ปี 2558-2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1-15% และในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% หากเราลดการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้ 1% จะประหยัดงบประมาณได้ถึงหมื่นล้านบาท นอกจากนั้นในการสำรวจค่า CSI ปีล่าสุด มีการจัดทำเป็นระดับคะแนน ซึ่งพบว่าปัญหาการคอร์รัปชันในไทยมีแนวโน้มลดลง หรือสถานการณ์ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้ 54 คะแนน และมีแนวโน้มได้ 57 คะแนนในอนาคต เวลาทำงานของ ป.ป.ช. จึงต้องตระหนักทั้งค่าคะแนน CPI และ CSI ด้วย”
พล.ต.อ.วัชรพลยังกล่าวว่า ป.ป.ช.มียุทธศาสตร์ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต คือ 1.การพัฒนากลไกการกำหนดให้นักการเมืองแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตต่อสาธารณชน 2.เร่งรัดการกำกับติดตามมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ 3.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนกำหนดกลยุทธ์และมาตรการในการต่อต้านการทุจริต 4.พัฒนาระบบการบริหารงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มีเหมาะสมกับการแก้ปัญหา 5.ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนต่อต้านการทุจริตสำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยรัฐให้การสนับสนุนทุนตั้งต้น และ 6.ประยุกต์นวัตกรรมในการกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานตามเจตจำนงทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ได้แสดงไว้ต่อสาธารณะ
“ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากนักการเมืองคนใดไม่มีการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริตอย่างจริงจัง ก็ไม่ควรเลือกนักการเมืองคนนั้น ส่วนการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายนั้น ตามกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการวางมาตรการเสริมในการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายบนฐานธรรมาภิบาลในทุกขั้นตอน ซึ่งเราได้จัดทำหลักเกณฑ์ใช้วัดเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งในขั้นเริ่มต้นและขั้นตอนดำเนินนโยบายแล้ว และเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้ง และเตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณา” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |