บทสนทนาที่วังขุนพรหม ว่าด้วยค่าเงินบาทและดอกเบี้ย


เพิ่มเพื่อน    

     เงินบาทแข็งไปหรือไม่ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 7 ปีด้วยเหตุผลอันใด? 

    รัฐมนตรีคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ บอกนักข่าววันก่อนว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นตามลำดับ ล่าสุดมาอยู่ที่ 31.46 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
    ท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะดูแลไม่ให้เงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป และต้องปรับสมดุลให้เงินบาทอยู่ในระดับเดียวกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งของไทย เพราะถ้าหากเงินบาทแข็งค่าเกินไป ผู้ส่งออกจะเสียเปรียบคู่แข่งในเวทีการค้าโลก
    อีกข่าวหนึ่งบอกว่าเพราะบาทแข็งขึ้นทำให้การส่งออกข้าวลดลง ปีนี้เหลือเพียง 9.5 ล้านตัน และถูกคู่แข่งแย่งชิงตลาดไป
    ผมเจอท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภาพ วันก่อนจึงต้องถามประเด็นเรื่องเงินบาทแข็งไปหรือไม่
    ท่านตอบผมว่า "ค่าเงินบาทเป็นเหรียญสองด้าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศที่เราควบคุมได้  ขณะนี้ค่าเดินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุล ถ้ามองตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินของตลาด emerging markets หลายตลาดก็แข็งค่ากว่าเงินบาท เช่นเงินรูเปียของอินโดฯ ก็แข็งค่าค่อนข้างเร็ว..."
    ดร.วิรไทบอกว่าค่าเงินบาทขณะนี้ก็ยังอ่อนกว่าเมื่อต้นปีที่แล้ว 
    "นักธุรกิจต้องอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมากำหนดค่าเงินให้ได้ ไม่มี เพราะมันถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกเยอะมาก ดังนั้นนักธุรกิจจึงต้องเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน"
    ดร.วิรไทเสริมว่า "ผมไม่อยากให้เราไปให้ความสำคัญกับที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่เท่าไหร่  บางทีเมื่อเราพูดถึงค่าเงินก็อาจจะมีบางคนพูดว่า 32 ดี หรือ 33 ดี หรือ 31 ดี เพราะเราต้องเปรียบเทียบกับบริบทหลายอย่าง ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้พยายามทำหลายเรื่องที่จะทำให้การบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนดีขึ้น เพื่อให้เรามีภูมิต้านทานระดับที่มีความผันผวนได้สูง ตัวอย่างเช่นแทนที่จะใช้เงินสกุลดอลลาร์ในการ quote ราคาส่งออกสินค้าไปขายประเทศอื่น เราก็ส่งเสริมให้ตลาดเงินบาทกับเงินสกุลคู่ค้าเราเช่นเยนของญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น หรือการค้าขายของเรากับประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซียก็น่าจะใช้เงินบาทกับริงกิตมากกว่า"
    เหตุผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้คืออะไร?
    คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติให้ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกใน 7 ปี 
    ดร.วิรไทอธิบายว่าเป็นการปรับขึ้นจากระดับ 1.5% มา 3 ปีเศษ
    "เราประเมินอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกในปีใหม่นี้จะขยายตัวน้อยกว่าปีก่อน คณะกรรมการ กนง. พิจารณาประกอบหลายๆ ด้าน แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การตัดในนโยบายก็เช่นกัน ต้องมีอะไรแลกกับอะไรบางอย่างเสมอ ต้องชั่งน้ำหนักกับปัจจัยต่างๆ ..." ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอธิบาย
    ปัจจัยหลักที่ใช้พิจารณาประกอบมี
    1.ทิศทางเงินเฟ้อ โดยยึดนโยบายกรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
     2.การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นไปตามศักยภาพของเศรษฐกิจไหม
    3.เสถียรภาพของระบบการเงิน
    "อีกด้านหนึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเรื่องระยะสั้นกับระยะยาว ยามปกติจะไม่มีใครเห็นความสำคัญของเสถียรภาพ แต่พอเกิดวิกฤติจะมีการถามว่าทำไมไม่ทำตอนนั้นตอนนี้"
    หน้าที่ธนาคารกลางจึงต้อง "มองยาว มองไกล" และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระยะยาว
    เงินเฟ้อไทยในปีที่ผ่านมากลับเข้าสู่ "กรอบเป้าหมาย" และต่ำกว่าขอบล่างของ 1-4% แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไปได้ดี โดยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.0-4.2% ปีนี้ประมาณว่าอยู่ที่ 4%  หรืออาจจะลบเล็กน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลก
    ผลข้างเคียงที่คงนโยบายดอกเบี้ยต่ำกระทบต่อเสถียรภาพการเงินได้เช่นกัน หลายประเทศก็ต้องปรับให้ดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่เป็นปกติหรือ normalization of monetary policy 
    นโยบายดอกเบี้ยต่ำนานๆ ทำให้คนก่อหนี้เกินตัว ทั้งหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน
    "ในกรณีประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงจนเกิดปัญหาทั้งในครัวเรือนเอง และในระดับประเทศการบริโภคก็ไม่ฟื้นตัวเท่าไหร่เพราะประชาชนมีหนี้อยู่มาก และเมื่อดอกเบี้ยต่ำก็ไม่มีแรงจูงใจให้ออม..."
    ดร.วิรไทบอกว่า ในการวางนโยบายอัตราดอกเบี้ยต้องดูแลทั้งผู้กู้และผู้ออม 
    การที่ดอกเบี้ยต่ำนานๆ ทำให้เกิดกรณีแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือ search for yield ซึ่งทำให้ไม่ประเมินความเสี่ยงเท่าที่ควร และกลายเป็นปัญหา
    และเกิดพฤติกรรม "ธนาคารเงา" ขึ้น 
    เมื่อเร็วๆ นี้ก็เกิดปัญหาตราสารหนี้ที่เกิด default ไม่สามารถจ่ายได้ตามกำหนด เพราะคนไปลงทุนได้ผลตอบแทนสูงขึ้น 4-5% "โดยไม่ถามว่าเขาเอาเงินเราไปทำอะไร"
    ถ้าดอกเบี้ยต่ำนานๆ บางคนอาจไปกู้เงินมาแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยซ้ำไป
    บทสนทนาที่วังบางขุนพรหมวันนั้นสรุปได้สั้นๆ ว่าปีใหม่นี้เตรียมรับความผันผวนกันทั่วหน้า!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"