“พาณิชย์”เตรียมออกประกาศ กกร. กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคา “ยาและเวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์” ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแต่ละระดับ ขีดเส้นภายใน 60วัน
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ว่า กรมการค้าภายในในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะออกประกาศ กกร. กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการแรกที่จะนำมาใช้หลังจากที่ได้กำหนดให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม โดยคาดว่าน่าจะออกประกาศได้ภายในสัปดาห์หน้า
“การปิดป้ายแสดงราคา ก็แล้วแต่โรงพยาบาลเอกชนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ต้องทำให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการดูได้ง่าย เห็นได้ง่าย อาจจะทำเป็นสมุดให้เปิดดู ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ หรือทำตู้คีออสให้กดดูเหมือนที่บางโรงพยาบาลทำก็ได้ แต่ไม่ใช่ทำแล้วเอาไปแอบไว้ เก็บไว้หลังเคาน์เตอร์ โดยเบื้องต้น ในส่วนของยา ให้เน้นรายการที่มีคนใช้เยอะๆ ก่อน อาจจะ 1,000 รายการ แล้วค่อยขยับเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องแสดงราคาด้วย”
ทั้งนี้ ในส่วนของบริการทางการแพทย์ ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้แจ้งสมาชิกทุกรายให้แจกแจงค่าบริการทางการแพทย์อย่างละเอียด ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ค่ารักษาพยาบาล กับบริการเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ค่าห้อง และค่าบริการอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการได้รับรู้ก่อนตัดสินใจเข้าไปใช้บริการ
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงาน มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละระดับ เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีระดับต่างกัน ตั้งแต่ 5 ดาว 4 ดาว ลงมาจนถึง 2-3 ดาว ต้นทุนการประกอบการก็อาจจะไม่เท่ากัน โดยให้เวลาในการพิจารณาภายใน 60 วัน และนำให้รายละเอียดที่ได้ทั้งหมดเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลต่อไป
ส่วนประเด็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิ์ในการขอใบสั่งยาและนำใบสั่งยาไปซื้อยาข้างนอกโรงพยาบาล ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประกาศสิทธิ์ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน เพราะถือเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่จะขอใบสั่งยาและไปซื้อยาข้างนอกได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหายามีราคาแพงลงได้อีกแนวทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในทุกโรงพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก แต่ก็ยังมีการกำหนดเงื่อนไขการรับรักษา ต้องเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลือง หรือสีเขียว ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถูกโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่รับรักษา จึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยควรจะได้สิทธิ์ในการรักษา
ขณะเดียวกัน เห็นว่าในการรักษาโรค โรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนว่าจะได้รับการรักษายังไง มีค่าใช้จ่ายขนาดไหน โดยมีการยกตัวอย่างกรณีมีดบาด ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่เข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่มีการตรวจสอบพบเจอโรคอื่นเพิ่มเติม ก็จะต้องแจ้งรายละเอียดการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |