31 ม.ค.62 - มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง"ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับ คสช. วาระซ่อนเร้น-ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ? " ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ภาครัฐต้องไม่ปฏิเสธปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันจำนวนโรงงานในประเทศไทย 1.4 แสนโรง เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ตาม พรบ.โรงงาน ส่วนจำนวนนิคมอุตสากรรม เขตอุตสาหกรรมในไทยมี 87 แห่ง แม้แต่โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่มีการตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 มีแต่วัดค่าฝุ่น PM 10 และจากแบบจำลองการกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล พบว่า กระจุกตัวใน จ.สมุทรปราการ เพราะมีภาคอุตสาหกรรมหนาแน่น รองลงมา จ.สมุทรสาคร ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษหนักอย่างต่อเนื่อง
นายธารา กล่าวว่า ภัยฝุ่นจิ๋วยังมาจากโรงไฟฟ้าเก่า ซึ่งไม่ตรวจวัด PM 2.5 เช่นเดียวกันเตาเผามูลฝอยใหม่และเก่า ตลอดจนเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งตรวจวัดแต่ปริมาณฝุ่นละอองรวม มาตรการแก้ปัญหาขณะนี้ไม่ได้สนใจเรื่องโรงงาน ออกมาตรการคุมแต่ภาคขนส่งกับเผากลางแจ้ง กทม.มีโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าขนาด 300-500 ตัน โรงขยะหนองแขม เป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 กลับไม่พูดถึงการจัดการที่ปลายปล่องอุตสาหกรรม ฉะนั้น การแก้ปัญหาฝุ่นอันตรายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องจัดการฝุ่นทุติยภูมิและโรงงานอุตสาหกรรมรอบๆ ที่ปล่อยด้วย ประเทศไทยไม่มีข้อมูลหรือกฎหมายเพื่อบังคับให้รายงานฝุ่น PM 2.5 ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันหรือลดการปล่อย PM 2.5 ได้
"กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นขนาดเล็กทั้ง PM 10 และ PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่ โดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมายที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ นอกจากนี้ต้องกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 และปรอทที่แหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่ รวมถึงการตรวจวัด และรายงานการปล่อย PM 2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้า โดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมาย"นายธารา กล่าว
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรงมากขึ้น หากมีการคลอดกฎหมายโรงงานฉบับใหม่ เราพบวาระซ้อนเร้นในร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. กฎหมายจะนำพาไปสู่วิกฤตการสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น มีการลดขั้นตอนออกใบอนุญาต ยกเลิกอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการ และลดการตรวจสอบมลพิษ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยันขณะนี้ไม่มีรายงานอุตสาหกรรมปล่อยฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ขาดความรับผิดชอบ เพราะไทยไม่มีมาตรฐานควบคุมปลายปล่อง ไร้ทำเนียบการปล่อยมลพิษทางอากาศ น่ากังวลกระทรวงอุตสาหกรรมกลับออกกฎหมายการไม่ต้องต่ออายุใบ รง 4.ทุก 5 ปี อ้างเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
"แม้กฎหมายเอื้อการลงทุน แต่ลดการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตัดแขนตัดขามาตรการสิ่งแวดล้อม ละเลยคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชน หากกฎหมายคลอดโรงงานจำพวก 1 และ 2 กว่า 6 หมื่นแห่งจาก 1.4 แสนแห่งจะหลุดรอดไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับนี้ เพราะมีการตั้งนิยามโรงงานและการตั้งโรงงานที่เปลี่ยนไป แต่อยู่ภายใต้กฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายสาธารณสุขซึ่งมาตรการดูแลอ่อน"นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว และย้ำขอให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงมากขึ้น สิทธิชุมชนจะถูกลิดรอนมากกว่านี้
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า ประเทศจีนที่เผชิญปัญหาฝุ่นพิษประกาศชัดเจนโรงงานรีไซเคิลของเสียและโรงงานคัดแยกขยะเป็นต้นเหตุฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมีการย้ายฐานอุตสาหกรรมการผลิตประเภทนี้มาลงทุนที่ไทย เรื่องนี้สำคัญต้องช่วยกันยับยั้งแหล่งกำเนิดมลพิษใหม่ มิฉะนั้น ก็จะแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทยไม่สำเร็จ
"แม้กรุงเทพจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่รายล้อมด้วยจังหวัดที่เต็มไปด้วยโรงงาน ทั้งโรงปูน โรงเหล็ก โรงเผาขยะ นี่คือที่มาของฝุ่น สมุทรปราการมีความเข้มข้นมาก ไม่มีการควบคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่ คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเลวร้ายมาก แต่ยังมาซ้ำเติมด้วยกฎหมายโรงงานฉบับนี้ วันนี้ปิดโรงเรียน 400 โรง อนาคตไม่รู้จะปิดอีกเท่าไหร่ ฝุ่นพิษเป็นตัวการก่อมะเร็ง สุขภาพเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ นี่คือความสูญเสียของประเทศ " นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว
ด้าน นายสุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นความไม่ชอบธรรมในการเสนอและพิจารณากฎหมายโรงงานของรัฐบาล คสช. เพราะรัฐบาลรักษาการ คือ รัฐบาลที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ปฏืบัติหน้าที่เฉพาะงานประจำ ที่ไม่ใช่งานนโยบาย กฎหมายสำคัญที่จะมีผลผูกพันรัฐบาลต่อไป หรือเพื่อหาเสียงหาประโยชน์ในการเลือกตั้ง ครม.ต้องถอนร่างกฎหมายใหม่นี้ออก
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (31 ม.ค.) เวลา 14.00 น. มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถอนร่าง พ.ร.บ. โรงงาน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... จากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยุติการผลักดันเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |