"บิ๊กตู่" คิกออฟ "ไทยนิยม" ติวเข้ม ผวจ.-นอภ.ขับเคลื่อนลงถึงพื้นที่ ลั่นหวังให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ปัดทำเพื่อค้ำรัฐบาล-คสช. "บิ๊กป้อม" สั่ง มท.คัดทีมวิทยากรให้เหมาะกับพื้นที่ เคาะประตูบ้านปรับทุกข์ผูกมิตร "วิษณุ" แจงมุ่งรับฟังแก้ปัญหาชาวบ้าน
ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้แก่คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ และบุคลากรที่เป็นวิทยากรระดับจังหวัด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนประเทศของเราให้เป็นไปทางวิสัยทัศน์ที่วางไว้ คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เหมือนกับการสร้างความฝัน ซึ่งอาจจะดูยิ่งใหญ่ แต่ความฝันจะใหญ่หรือเล็ก อยู่ที่การกระทำ เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง เป็นรูปธรรมให้ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคน วันนี้รองนายกฯ มาอยู่รวมกัน รวมทั้งรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดี และลงไปถึงข้างล่าง ถือเป็นการรวมกันในการขับเคลื่อนนโยบายไทยนิยมลงไปให้ถึงพื้นที่ ระดับนโยบาย ระดับขับเคลื่อน ไปสู่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งจะมีกลไกหลายๆ ส่วน ซึ่งต้องทำให้ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพราะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
"สิ่งที่เราทำวันนี้ เราทำเพื่อตอบสนอง 2 คำ คือความเท่าเทียมและเป็นธรรม ทุกระดับอาชีพและรายได้ แสวงหาในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร จะต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันทั้งหมด รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยการ อำนวยความสะดวกในเรื่องของกฎหมาย สิ่งสำคัญทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง และทำเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ วันนี้ต้องขับเคลื่อนไทยนิยมให้ได้ อย่าไปตีความหมายเป็นอย่างอื่น โครงการไทยนิยมไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาลนี้หรือ คสช.อยู่ได้ ผมไม่ต้องการเช่นนั้น ผมต้องการมุ่งหวังให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้สักที ทำกันมาหลายปีหลายรัฐบาลแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนทราบดีว่าอยู่ที่ความไม่ทั่วถึง ลงเฉพาะบางพื้นที่ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เราจึงต้องมาถอดแบบทุกตารางนิ้วในประเทศไทย มีความเท่าเทียม ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน นี้คือกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ยึด ปชช.เป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ จะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเท่าเทียมคือการที่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องตามกฎหมายเท่ากัน อย่าให้ใครมาแบ่งชนชั้นจนรวย ระบบประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่คำนึงแต่ประชาชนเฉพาะพื้นที่ หน้าที่ของผู้แทนราษฎรต้องเสนอแผนงานโครงการและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตัวเองขึ้นไป รัฐบาลจะต้องมีความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ และกำหนดให้ชัดเจนว่างบประมาณฟังก์ชันและงบประมาณนโยบายจะลงไปอย่างไร ซึ่งรัฐบาลเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เราจะต้องผลิตพลังคน สร้างพลังสังคม ลดการเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้ จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย อย่าให้ใครเขามาบิดเบือนว่าไม่ดูแลคนจน
นายกฯ กล่าวว่า ชุดที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ ต้องไปสร้างหลักคิดที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องความปรองดองของคนในชาติ ไม่อย่างนั้นก็ตีกันอยู่อย่างนี้ ทั้งเรื่องรายได้ เรื่องการเอื้อประโยชน์นายทุน บิดเบือนจนผิดเพี้ยนไปหมด กฎหมายก็เสีย และยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความรวดเร็ว เมื่อข่าวออกไป ผิดคือผิด เพราะฉะนั้นทำอะไรต้องระมัดระวัง ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องบอกเขาก่อนว่าจะทำอะไร อย่าคิดว่าเป็นข้าราชการแล้วมีอำนาจตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้กำกับดูแลอำนวยความสะดวกประชาชน ช่วยกันดูแลบ้านเมือง แต่ขณะเดียวกันกฎหมายพื้นฐานต้องไม่ละเมิด ส่วนการทำงานทุกคนต้องตอบให้ได้ทุกกระทรวงว่าให้อะไรประชาชน อย่าไปมองข้ามความต้องการของพื้นที่ หากทำอย่างที่ตนพูด นโยบายรัฐบาลนี้ ทุกคนต้องทำงานหนัก ถ้าใครยังคิดว่าสบาย แสดงยังทำงานไม่ดี
จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมมอบนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า งานฝ่ายความมั่นคงมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยเป็นรากฐานสำคัญในการดูแลประเทศในมิติที่กว้างขวางและหลากหลาย สร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำสัญญาประชาคม โดยรับฟังความเห็นฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง จึงขอให้ไปศึกษาองค์ประกอบในสัญญาประชาคม 10 ข้อ และภาคผนวก 15 ข้อ เพื่อนำไปบูรณาการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
"ขอให้กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด คัดสรรชุดวิทยากรที่ทำโครงการจะต้องเป็นคนที่ทำความเข้าใจกับประชาชนได้ และคัดเลือกให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย มีเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยในขั้นต้นเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่อาจจะต้องเดินเท้าเคาะประตูเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อปรับทุกข์ผูกมิตร วิเคราะห์ความเดือดร้อน นำไปเป็นข้อมูลแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป ขั้นที่สองเมื่อรู้ปัญหาแล้ว ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน บางเรื่องจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเสนอหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพิจารณาแก้ไขต่อไป และขั้นสุดท้าย เมื่อประชาชนไว้วางใจให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่แล้ว จึงจะสร้างการรับรู้ในสัญญาประชาคม เรื่องความสามัคคีปรองดองควบคู่กับความรู้อื่นๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล" พล.อ.ประวิตรระบุ
แจงนิยามไทยนิยม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตั้งชื่อโครงการไทยนิยม หมายถึงการพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ โดยนำองค์ความรู้ทุกด้านมาแก้ปัญหาให้เข้าถึงทุกตำบล หมู่บ้าน ในประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำ เอารหัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสไว้แล้วมาทำให้ได้ โดยโครงการไทยนิยมมีกรอบความคิด 10 เรื่อง คือ 1.สัญญาประชาคมผูกใจเป็นหนึ่ง เป็นการลงไปทำในเรื่องของไทยนิยม การสร้างความสามัคคีปรองดอง ความไม่ขัดแย้ง ค่านิยมเก่าของไทยที่ดีงาม 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน 3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4.วิถีไทยวิถีพอเพียง 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6.รู้กลไกการบริหารราชการ 7.รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9.ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10.งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน
รองนายกฯ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ขึ้นมาครั้งนี้ เพื่อทำให้รัฐบาลได้ทราบความต้องการของประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำเป็นองค์ความรู้ สำหรับการวางแนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยวางกรอบการทำงานคือ การลงไปรับข้อมูล การนำเสนอแนวทางและการสรุปผลการทำงานร่วมกัน
"สมัยก่อนมีคำติดปาก คำว่านิยมไทย ซึ่งเป็นคำที่รัฐบาลเมื่อ 30 ปีที่แล้วรณรงค์ให้คนไทยแต่งชุดไทย นิยมในไทย ซึ่งยังคงรณรงค์อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันกลับคำใหม่ เป็นไทยนิยม ซึ่งไม่ใช่การรณรงค์ให้คนไทยทำอะไรที่เป็นไทย แต่เป็นสิ่งที่ดีที่คนไทยทุกคนมีอยู่แล้ว ให้นำออกมาแสดงให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นแนวทางของประเทศ โครงการไทยนิยมยั่งยืนทำขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เชื่อว่ารัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ โดยไว้ใจคณะทำงานทุกคน" นายวิษณุกล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการด้านเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการยกระดับศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในระดับอำเภอและตำบล ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ มีโครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี ให้กับครอบครัวที่ยากจน หรือมีรายได้น้อย สำหรับด้านการบริหารจัดการน้ำจะสร้างความมั่นคงให้ผู้บริโภคอุปโภค รวมถึงเกษตรอุตสาหกรรม ดูแลการป้องกันภัยพิบัติและลดความเสียหายให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทีมขับเคลื่อนระดับตำบลจะสร้างการรับรู้ สร้างความสำเร็จร่วมกัน และภาคราชการจะได้รับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชนเพื่อนำมาปรับแผนให้สมบูรณ์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ทุกกระทรวงจัดทำเว็บไซต์ข้อมูลของรัฐบาล เพื่อที่จะใช้เป็นฐานในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยทีมไทยนิยมจะต้องนำส่วนนี้ไปใช้ และให้อธิบายง่ายๆ ส่วนเรื่องประชาธิปไตยถือว่ามีความสำคัญ เพราะที่ผ่านมาปีที่แล้วประเทศไทยจะเกิดวิกฤติจากคำนี้มาแล้วจากความไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ ยึดติดกับคำว่าเปลือกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ยืนยันว่าอนาคตประเทศจะเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งแน่นอน รัฐบาลจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่การจะได้รัฐบาลที่ดีต้องมาจากการเลือกตั้งที่ดีก่อน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |