นายกฯ ส่ง "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะหามาตรการแก้วิกฤติฝุ่นละออง สั่งกลาโหมประสานเอกชนฉีดพ่นละอองน้ำจากตึกสูงบรรเทาเร่งด่วน เล็งยกเครื่องออก กม.ควบคุมภาพรวมทั้งระบบ "รมว.ทส." ตั้งวอร์รูมแก้ PM 2.5 จี้ กทม.หากที่ใดค่าเกินมาตรฐานติดกัน 3 วัน ต้องประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ "อัศวิน" แย้มมี 20 จุดเข้าข่ายแล้ว อึ้ง! ตรวจรถเมล์อู่คลองเตยไม่พบควันดำเกินกำหนด
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.และ 5 จังหวัดรอบ กทม.ว่า ฝุ่นละอองยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดในระยะเวลาอันใกล้ได้ จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสม ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะยาว และมาตรการเบาไปหาหนัก ซึ่งวันนี้หารือกัน และจะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้ขับเคลื่อนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งระบบหารือภาพรวม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การฉีดพ่นน้ำสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง วันนี้มีความคิดใหม่ ให้เพิ่มพ่นละอองน้ำจากตึกสูง เช่น จากตึกใบหยกลงมา ซึ่งเอกชนได้เสียสละเงินส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย โดยส่วนนี้ขณะนี้กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการ
"การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ผมไม่ได้ตำหนิว่าใครต้องทำอะไร อย่างที่กล่าวอ้างกันไปก็ทำทุกอัน สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการให้ไปแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถช่วยลดมลภาวะนี้อย่างไร ซึ่งมีกฎหมายในการบังคับใช้อยู่แล้ว ต้องไปดู พอบังคับใช้หรือไม่ หรือต้องมีมาตรการพิเศษหยุดเครื่องจักรในช่วงเช้า ช่วงเย็นได้หรือไม่ แต่หากเราไปบังคับมากๆ ก็จะส่งผลกระทบในส่วนอื่นๆ ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า มีการเสนอว่าหลายประเทศมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงบูรณาการในภาพรวมว่ากลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการเกษตร แต่ต้องปรับบริบทให้สอดคล้องกับสังคมไทย
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ถึงปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม. โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประชุมร่วมกับ กทม.ในวันที่ 29 ม.ค. เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงในช่วงตรุษจีนที่จะมาถึง ซึ่งจะมีการจุดธูปและเผากระดาษเงินกระดาษทอง จึงอยากให้เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดวิธีปฏิบัติดังกล่าวลง
"ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมา" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5 )ใน กทม.และปริมณฑล ร่วมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละอองมาจากเครื่องยนต์รถที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์มากกว่าร้อยละ 50 ขณะนี้อยู่ในขั้นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ซึ่งมี 4 ระดับ หากค่าฝุ่นเกิน 90 ไมโครกรัม (มคก. )/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง ให้ยกเป็นสถานการณ์รุนแรง ให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นสูงเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เฝ้าระวังคือ กรุงเทพฯ, มหาชัย จ.สมุทรสาคร และอีกหลายพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ
"การตรวจเยี่ยมครั้งนี้นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ศูนย์หรือวอร์รูมดังกล่าวจะแจ้งข่าวสารปริมาณฝุ่นละอองทุกวัน เช้าและเย็น พร้อมมาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน เป็นการสื่อสารเชิงรุก โดยขอให้ประชาชนยึดข้อมูลจากศูนย์นี้เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน กทม.และกรมควบคุมฯ มีสถานีตรวจวัดที่ติดตั้งเครื่องตรวจความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 จำนวน 43 สถานี ไม่ครอบคลุมทุกเขต จะมีการติดตั้งเพิ่มในส่วน กทม. ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะหารือกับกระทรวงมหาดไทยด้วย" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ในส่วนแผนระยะกลางและระยะยาวป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะมีการประชุมวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณามาตรการแก้ปัญหาที่ดำเนินการในระยะเร่งด่วนเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้จะมีการพิจารณาปรับมาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 35 มคก./ลบ.ม. ภายใน 3-5 ปี และลดเป็น 25 มคก./ลบ.ม. ภายใน 10 ปี ซึ่งค่าฝุ่นระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอยู่ที่ 25 มคก. เป็นการกำหนดเป้าหมายควบคุมมลพิษอากาศในอนาคต รวมถึงผลักดันกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพอากาศโดยเฉพาะ ผู้ปล่อยมลพิษต้องมีโทษความผิดร้ายแรง เพราะมลพิษทางอากาศเป็นมหันตภัยต่อชีวิตประชาชนประเทศไทยต้องตั้งเป้าและทำให้ได้เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สั่งให้พิจารณา 50 เขตใน กทม. เขตใดที่เกินค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. หรืออยู่ในระดับที่สูง ให้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ แต่ตนขอใช้คำว่าพื้นที่ควบคุมมลภาวะทางอากาศพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้เร่งรวบรวมข้อมูลปริมาณค่าฝุ่นละอองเพื่อประกอบการพิจารณา โดยมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงกว่า 20 จุด
"คาดว่าจะประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมดังกล่าว เช่น เขตดินแดง, สาทร, บางเขน หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ถนนอินทรพิทักษ์, บางขุนเทียน, ถนนพระราม 2 ติดต่อพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร โดยจะพิจารณาเป็นจุดๆ ไม่ประกาศทั้งเขต คาดว่าภายในวันนี้ (29 ม.ค.) จะสามารถออกประกาศควบคุมพื้นที่ได้ และจะมีมาตรการต่างๆ มารองรับเพื่อลดฝุ่นอันตราย" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. เสริมว่า หากมีการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญแล้ว จะประสานกองบังคับการตำรวจจราจรปิดการจราจรหรือมีมาตรการลดความคับคั่งการผ่านของยานพาหนะ รวมถึงห้ามยานพาหนะบางประเภทที่ก่อมลพิษผ่าน ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นละอองได้ ส่วนแหล่งก่อมลพิษอื่นๆ จะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นมากขึ้น
"กทม.จะสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนโดยไม่ปกปิด สุขภาพประชาชนต้องมาก่อน ซึ่งพื้นที่ประกาศควบคุมมลภาวะจะแจ้งข้อมูลไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อพิจารณางดทำกิจกรรมกลางแจ้งกับนักเรียน หรือถึงขั้นปิดโรงเรียนถ้าจำเป็น เพื่อความปลอดภัยของเด็กด้วย" รองปลัด กทม.กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้ว่าฯ กทม.จะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เป็นผลสำเร็จ พล.ต.อ.อัศวินตอบกลับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ผมหน้าด้าน จะอยู่ทำงานต่อไป"
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังจนถึงวันที่ 4 ก.พ.นี้ ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดมาตรการควบคุมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับพื้นที่เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกิน 51-75 มคก./ลบ.ม. จะประกาศให้คำแนะนำแก่ประชาชนวิธีป้องกันฝุ่นละออง พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับเจ้าของโครงการก่อสร้างและสถานประกอบการต่างๆ ให้ควบคุมการก่อสร้างเพื่อลดฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ รวมถึงร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการกำหนดมาตรการควบคุมจุดที่มีการจราจรหนาแน่นเพื่อลดฝุ่น
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่เขตที่มีค่าฝุ่นละอองตั้งแต่ 76-100 มคก./ลบ.ม. กทม.จะใช้มาตรการในการเฝ้าระวังและกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 การกระทำใดที่เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรืออื่นใด ซึ่งเป็นเหตุสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในพื้นที่ และมีความเป็นอยู่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขและป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศที่จะมีผลกระทบกับประชาชน ในวันที่ 30 ม.ค.62 กทม.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด และจะนำมติที่ได้จากการประชุมเสนอเป็นมาตราการให้ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาลงนามและประกาศใช้มาตรการควบคุมในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละออง 76 มคก. ขึ้นไป
วันเดียวกัน พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. พร้อมด้วยนายสมชาย ราชแก้ว หัวหน้าฝ่ายตรวจการ กองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก สำนักงานสิ่งแวดล้อมเขตคลองเตย กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.จร. ลงพื้นที่ตรวจควันดำจากท่อไอเสียรถประจำทาง (ขสมก.) เครื่องยนต์ดีเซล ที่ท่าอู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (คลองเตย) ถนนสุนทรโกษา เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
มีรายงานว่า อู่ดังกล่าวป็นจุดจอดรถประจำทาง 5 สาย ประกอบด้วย สาย 13, สาย 72, สาย 136, สาย 195, สาย 205 รวมจำนวน 141 คัน โดยขั้นตอนในการตรวจวัดมีการไล่เขม่าค้างเครื่อง ก่อนจะตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจควันชนิดทึบแสง จากนั้นเริ่มทำการตรวจวัด 2 ครั้ง โดยค่าจะต้องต่างกันไม่เกิน 5% ผลการสุ่มตรวจยังไม่พบว่ามีรถโดยสารประจำทางขสมก. มีค่าตรวจวัดควันดำเกินกำหนด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |