นายกฯบัญชีพรรค ประยุทธ์ไม่เป็นคนนอก/4รมต.พลังประชารัฐออก


เพิ่มเพื่อน    

     “4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐ” ไขก๊อกแล้ว  “สนธิรัตน์” โอ่ทิ้งท้ายเป็นมาตรฐานใหม่ อัดขาวิจารณ์ไม่เคยทำมาก่อน “ประยุทธ์” ลั่นไม่มีปรับ ครม.แน่นอน พร้อมเปิดใจยังมีเวลาตัดสินใจอนาคต  4-8 ก.พ.จะชัดเอาอย่างไร เพราะมีเงื่อนไขกฎหมายเยอะ แต่ไม่เป็นนายกฯ คนนอกแน่ ลั่นไม่ลาออก ทั้งนายกฯ-หัวหน้า คสช. พปชร.แจง 30 ม.ค.ชัดจะทาบใคร วาง 2 รูปแบบ เสนอชื่อ “บิ๊กตู่” คนเดียวหรือ 3 รายชื่อ “ปชป.-ภท” ดันชื่อหัวหน้าลงชิง ส่วน ทษช.เคาะสัปดาห์หน้า
     เมื่อวันอังคารที่ 29 ม.ค. เวลา 08.30 น. บรรดา 4 รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค พปชร., นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค ปชร., นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค พปชร., นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกฯ โฆษกพรรค พปชร. และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกฯ กรรมการบริหารพรรค พปชร. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า 
     จากนั้น เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกบัญชาการ 1 โดยระหว่างเดิน พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่ 4 รัฐมนตรีเข้าพบว่า พบปะพูดคุยกันเฉยๆ เมื่อถามย้ำว่ามีการพูดคุยเรื่องการลาออกเลยใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ให้รอฟัง 
     และในเวลา 09.50 น. นายอุตตมกล่าวภายหลังเข้าพบนายกฯ ว่า ขอแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการว่า 4 รัฐมนตรีได้ยื่นหนังสือลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 30 ม.ค.เป็นต้นไป โดยในช่วงเช้าวันที่ 29 ม.ค. ทั้ง 4 คนได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ตามที่ตั้งใจไว้แล้ว เพื่อกราบลาในฐานะที่มีโอกาสร่วมทำงานใน ครม.มา 
     “ตั้งแต่ 29 ก.ย.2561 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร. วันนั้นถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งที่เราทั้ง 4 คนปรากฏตัวเป็นครั้งแรก และผมเคยพูดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะออกไปทำงานการเมืองเต็มตัว ซึ่งเราทำตามกฎเกณฑ์กติกาจนมาถึงวันนี้ ซึ่งเราได้คุยกันแล้วว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อไปทำงานกับพรรค พปชร.เต็มตัว มุ่งสู่การเลือกตั้ง” นายอุตตมกล่าว และว่า การที่เราปฏิบัติตัวตามนี้ ไม่ได้เอาการเมืองนำ แต่เอาประโยชน์ของประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ภารกิจเสร็จสิ้นไปได้พอสมควร เราถึงมาทำงานการเมือง
     นายอุตตมกล่าวต่อว่า นายกฯ รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่าเราจะเดินแนวทางนี้ ในการเข้าพบครั้งนี้ นายกฯ ได้อวยพรขอให้สิ่งที่เรามุ่งหวังจะทำงานการเมืองนั้นให้ประสบความสำเร็จ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนตำแหน่งที่ว่างลง ใครมาแทนแล้วแต่นายกฯ จะพิจารณา
รมต.พปชร.โอ่มาตรฐานใหม่
     นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีรัฐมนตรีที่ลาออกหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ซึ่งแรงกดดันที่มีต่อพวกเราตลอด 3 เดือนมานี้ เรารับด้วยความอดทน เพราะเป้าหมายการเข้าสู่การเมืองของเราคือเพื่อพี่น้องประชาชน ไม่ได้เอาการเมืองนำการทำงาน เราน้อมรับคำวิจารณ์ทางการเมืองทั้งสิ้น โดยไม่ได้อยู่บนหลักการหรือเหตุผลที่เคยปฏิบัติมา แต่เมื่อเราอาสามาทำงานทางการเมือง เราก็ต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง ที่ไม่เอาความได้เปรียบทางการเมืองมาใช้ ที่ต้องรอเวลามาถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่าภารกิจงานด้านเศรษฐกิจนั้นยังไม่แล้วเสร็จ 
     “มาตรฐานเหล่านี้เราตั้งใจทำให้เห็น เช่น เราไม่ทำงานการเมืองหรือไม่ให้สัมภาษณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาราชการ เพราะเราไม่อยากเห็นประเทศไทยใช้วาทกรรมทางการเมือง เราอยากเห็นการเมืองทำเพื่อประโยชน์ประชาชน มีความรับผิดชอบ การลาออกในวันนี้นั้น ไม่เคยมีใครปฏิบัติมาก่อน นักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรา ไม่เคยลาออกหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง” นายสนธิรัตน์กล่าว
     หลังการชี้แจงการลาออก ทั้ง 4 รัฐมนตรีเดินกลับตึกไทยคู่ฟ้าอีกครั้ง เพื่อสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ จากนั้นเดินทางออกจากทำเนียบฯ ทันที ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้แซวท่าการโบกมือลาของ 4 รัฐมนตรีไม่ใช่ลาจาก แต่จะกลับมาใหม่อีกหรือไม่ นายอุตตมได้หันมายิ้มและชูนิ้วทำท่าถูกใจ   
    ในเวลา 14.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการลาออกของ 4 รัฐมนตรี พปชร.ว่า การดูแลงานด้านเศรษฐกิจคงไม่มีปัญหาอะไร รัฐบาลยังคงทำงานต่อไปได้ เพราะ 3 กระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, พาณิชย์ และอุตสาหกรรม มีรัฐมนตรีช่วยอยู่แล้ว หากไม่มีรัฐมนตรีช่วย ก็ต้องไปดูระเบียบสำนักนายกฯ ที่มีข้อกำหนดว่า ถ้ารัฐมนตรีไม่อยู่จะมอบหมายให้รัฐมนตรีท่านใดรักษาการแทน ซึ่งถ้าหลุดจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของรองนายกฯ ที่ต้องกำกับดูแลแทน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนนายกอบศักดิ์นั้น มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ดูแลแทน ส่วนนายอุตตม มีนายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม รักษาการแทน ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อนายสุวิทย์ลาออก จึงเป็นหน้าที่ของนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูแลแทน ส่วน พณ. ซึ่งนายสนธิรัตน์ลาออก ก็มี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.รักษาการอยู่ ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแทนไม่อยู่ ก็จะเป็นหน้าที่ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ต้องกำกับดูแลแทน
     “เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในการทำงาน เมื่อเช้าที่ทั้ง 4 คนไปพบผม เขามาแจ้งความจำนงว่าอยากลาออก ไปทำงานในส่วนการเมือง ซึ่งผมขัดข้องอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แม้ผมจะเสียดายท่านเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดก็ตาม ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันว่าไม่มีในช่วงนี้ไม่มีอีกแน่นอน” นายกฯ กล่าว
ด้านความเห็นของนักการเมืองในการลาออกของ 4 รัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังมีข้อกังขาระหว่างการใช้อำนาจรัฐกับการมีตำแหน่งอยู่ในพรรคการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งการลาออกถือเป็นการแสดงออกว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม
     น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวเช่นกันว่า จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ส่วนบุคคลและภาพลักษณ์ที่ดีของพรรค พปชร.ต่อการเลือกตั้ง แต่ไม่กระทบใดๆ ต่อพรรค
     นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะการมีอำนาจในรัฐบาลสามารถให้คุณให้โทษกับผู้อื่นได้ แม้ความจริงทั้ง 4 คนไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งก็ได้ หากรัฐบาล คสช.ดำรงสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้งเหมือนรัฐบาลปกติ 
     ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชม 4 รัฐมนตรีที่ลาออก แม้จะช้าไปหน่อย อันที่จริงควรลาออกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในพรรคการเมืองแล้ว
4-8 ก.พ.ค่อยตัดสินใจ
     ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ถึงอนาคตทางการเมืองว่า การตัดสินใจทางการเมืองบอกแล้วว่าต้องรอให้เขามาเชิญก่อน เมื่อเชิญมาแล้วก็ต้องมีเวลาที่จะต้องนำนโยบายเขามาศึกษา ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะร่วมกับเขาในทางการเมือง ต้องดูหลายๆ นโยบายว่ารับได้หรือไม่ เพราะทำงานมา 4-5 ปี ก็พอรู้บ้างว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำได้หรือไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษากฎหมายทุกตัว ทั้งระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การหารายได้ และรายจ่ายรัฐบาล มีสัดส่วนอยู่ในพระราชบัญญัติการเงินการคลังใหม่อย่างไร ต้องระมัดระวัง หากทำอะไรนอกเหนือจากนี้ เพราะ 4-5 ปีกฎหมายหลายอย่างเปลี่ยนแปลง หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ตรงนี้อาจไม่ทราบ ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ เวลาไปสร้างการรับรู้ข้างนอกมา บางทีทำไม่ได้จริง คนที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต้องศึกษากฎหมายเหล่านี้ด้วย เพื่อทำนโยบายให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชนและประเทศชาติ
     “เมื่อเขามาเชิญผม ผมต้องพิจารณาอย่างที่ว่า ขอเวลาสักนิดในการพิจารณาว่าผมควรจะอยู่หรือไม่อยู่ ควรจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ถ้าทำต่อ จะทำอะไร มากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันมีเวลาให้ผมตัดสินใจ เพราะเขาบอกแล้วว่า ถ้าต้องเสนอรายชื่อนายกฯ ในช่วง 4-8 ก.พ.นี้ ผมก็จะพิจารณาในช่วงนั้น ก็จะรู้กันตอนนั้นว่าอยู่หรือไม่อยู่ อย่าเพิ่งเร่งรัดอะไรผมมากนักเลย รวมถึงเรื่องบทบาทของผมได้มอบหมายในที่ประชุมวันนี้ ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยไปหารือฝ่ายกฎหมาย ทั้งกฤษฎีกาและ กกต.ให้เกิดความชัดเจน ไม่ว่าจะการเยี่ยมประชาชน การประชุม ครม.นอกสถานที่ แม้กระทั่งการพูดจาในวันศุกร์ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมส่วนตัวนั้น ผมก็จะถามเขาหมดว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางการเมืองต่อไปในการทำผิดกฎหมาย ผมต้องรอบคอบในการตัดสินใจของผม” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ 
     นายกฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีกิจกรรมตลอดทั้งเดือน พ.ค.นี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่าทำไมถึงต้องทำให้เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความเรียบร้อย ช่วงนั้นการเมืองก็เดินหน้าไปสู่การเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลไป ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเป็นห่วงกังวลอย่างเดียวหลังการเลือกตั้ง แต่ระหว่างนี้คงไม่น่ามีอะไร เพราะทุกคนมีบทเรียนแล้ว ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชน 
     เมื่อถามว่า ช่วงวันที่ 4-8 ก.พ.นี้ หากนายกฯ ตัดสินตอบรับพรรคการเมือง วันนั้นจะลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์สวนว่า ถ้าลาออกแล้วใครจะทำ ไม่ออก เป็นนายกฯ อยู่อย่างนี้แหละ กฎหมายไม่ได้ให้ออกก็ไม่ออก ส่วนเรื่องการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.นั้น คสช.เขาต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ เมื่อรู้แล้วก็ตามนั้น อย่ามาถาม ส่วนการหารือกับฝ่ายกฎหมายและ กกต. เดี๋ยวเขาก็จะหารือในวันนี้พรุ่งนี้จะรีบร้อนไปไหน
เมื่อถามว่า นายกฯ ต้องถามใครอีกหรือไม่ก่อนตัดสินใจนอกจากถามตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “มีคำตอบอยู่แล้ว จะอยู่หรือไม่อยู่ มีคำตอบอยู่ในใจขั้นแรกแล้ว ผมบอกแล้วขอดูก่อน ดูนโยบายอะไรต่างๆ และจะมีปัญหากับการเป็นนายกฯ ของผมหรือเปล่า ผมคงลาออกตอนนั้นไม่ได้อยู่แล้ว การเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช. ถ้าจะระมัดระวังตัวเอง ก็ไม่ต้องพูดอะไรเลย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า การตัดสินใจไม่เกี่ยวกับครอบครัว เป็นเรื่องของตนเอง ทุกคนเข้าใจสถานการณ์อยู่แล้ว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน 
     เมื่อถามว่า หากตัดสินใจจะเลือกอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันต้องอยู่มั้ง ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯ คนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ
     ด้านนักการเมืองก็แสดงความคิดเห็นกรณีหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อบัญชีนายกฯ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะพิจารณา หาก พล.อ.ประยุทธ์ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ส่วนจะต้องลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ในการแข่งขันทางการเมือง อยากให้มีการแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์
     น.ส.กัญจนากล่าวว่า ต้องรอฟังการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนจะต้องลาออกจำตำแหน่งหรือไม่ ไม่ขอก้าวก่ายการใช้ดุลยพินิจ
30 ม.ค.ชัด พปชร.เชิญใคร
     ส่วนนายจาตุรนต์ระบุว่า หาก พปชร.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเเคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรค ต้องติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะแม้ 4 รัฐมนตรีจะลาออกแล้ว แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจเต็ม ก็ยังสามารถสร้างความได้เปรียบหรือเอื้อประโยชน์ให้ พปชร.ได้ สิ่งสำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาล คสช.จะไม่ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งหรือเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งหลักประกันที่จะยอมรับได้คือเป็นรัฐบาลรักษาการเท่านั้น
     สำหรับความเคลื่อนไหวในการเสนอบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายอุตตมกล่าวว่า ยังไม่ได้ทาบทามใครทั้งสิ้น และยังไม่ได้หารือว่าจะเชิญท่านไหนบ้าง ขอให้รอดูเร็วๆ นี้ เพราะเราสามารถเสนอได้ถึง 3 ชื่อ โดยการประชุมกรรมการบริหารพรรคจะมีขึ้นใน 1-2 วันนี้
     ขณะที่นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในวันที่ 30 ม.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งพรรคจะสรุปแน่นอน ว่าจะเสนอ 3 รายชื่อหรือ 1 รายชื่อ ส่วนจะไปทาบทาม พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 1 ก.พ. ตามกระแสข่าวหรือไม่นั้น ต้องรอมติที่ประชุมก่อน
     มีรายงานข่าวจาก พปชร.แจ้งว่า ในวันที่ 1 ก.พ.พรรคจะส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อให้มาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค ทั้งนี้ บัญชีของ พปชร.นั้นขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 เสนอเพียงชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว และ 2.เสนอรายชื่อ 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์, นายสมคิด และนายอุตตม 
ด้านนายสมคิด กล่าวถึงกระแสเป็น 1 ใน 3 ของ พปชร.ที่จะเสนอชื่อว่า ขอบคุณที่ระลึกถึง แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับเขา ยังไม่เคยร่วมประชุมพรรคเลย ตอนนี้เตรียมตัวเกษียณ และวางแผนเที่ยว 
     ส่วนนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการเสนอชื่อนายกฯ ของ ปชป.ว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคจะเสนอชื่อตนเองเป็นนายกฯ เพียงคนเดียว โดยอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนจังหวัดและหัวหน้าสาขา
ในวันที่ 1 ก.พ. ส่วนจะมีรายชื่อสำรองหรือไม่ อยู่ที่การรับฟังความคิดเห็น ซึ่ง กก.บห.จะพิจารณา
     นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ในวันที่ 4 ก.พ. พรรคจะเปิดรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด 500 คน ส่วนบัญชีนายกฯ นั้นพรรคจะเสนชื่อตนเองเพียงคนเดียว
     นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ชทพ. กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคจะเสนอชื่อ น.ส.กัญจนาในบัญชีที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่อยู่ในบัญชี ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 นั้น ได้เคาะชื่อนายวราวุธ ศิลปอาชา 
ทษช.เคาะสัปดาห์หน้า
     ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช.กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนของรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค
ด้านนายวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคได้เคาะชื่อบัญชีนายกฯ ประกอบด้วย 1.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม รองหัวหน้าพรรค 
     วันเดียวกัน กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเพื่อเตรียมความรู้ให้กับประชาชน พร้อมอธิบายขั้นตอนการไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. โดย กกต.ได้เน้นย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรใบเดียว กาเบอร์เดียวจะได้ผล 3 ประการ คือ 1.นำไปคิดคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2.นำคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนทุกเขตเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง มาคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน จะมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ 
     ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเปิดให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนล่วงหน้าในนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรที่มีเหตุขัดข้องตั้งแต่วันแรก ว่ามีสาเหตุจากกรมการปกครองเข้าใจว่าผู้ที่จะลงไปทะเบียนได้เฉพาะคนที่อยู่ต่างประเทศเท่านั้น เขาเลยไปล็อก จึงต้องไปปลดออก ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว ฉะนั้นต้องขอโทษประชาชนและยอมรับว่าผิดจริง ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าวน่าจะเกิดจากการตีความ แต่ก็จะดำเนินการสอบสวน เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความประมาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"