ช่วงนี้ผมคุยกับใครก็ได้รับคำถามว่าเศรษฐกิจจีนจะไปทิศทางไหน ท่ามกลางตัวเลขการชะลอตัวของการเติบโตของผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ที่หดลงมาที่ 6.6% สำหรับปีที่ผ่านมา
หากฟังคำเตือนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องเฝ้ามองทุกความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิดจริงๆ
เพราะอะไรที่เกิดกับจีนวันนี้พรุ่งนี้ก็จะมีผลกระทบต่อไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
ปักกิ่งเพิ่งประกาศว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปี 2018 ชะลอตัวที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี แม้จะมีคำเตือนว่าตัวเลขอัตราการโตของจีนจะหดตัวลงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีสัญญาณเตือนภัยที่คนทั้งโลกกำลังจับตาอยู่ดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนย่อมมีผลต่อทั้งโลก เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมังกรยักษ์แห่งเอเชียมีสัดส่วนหนึ่งในสามของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทีเดียว
ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าภาวะเศรษฐกิจของจีนเฉื่อยลงจะทำให้จีนมีปัญหาในการจัดการกับหนี้สินที่มีจำนวนมหาศาลของตน
พรรคคอมมิวนิสต์อาจสามารถโอบอุ้มได้ระยะหนึ่ง แต่หากความสึกกร่อนของฐานรากเศรษฐกิจยืดเยื้อยาวนาน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าผู้นำจีนจะ "เอาอยู่" หรือไม่
มีคำเตือนเสมอว่าอย่าได้เชื่อตัวเลขทางการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนมากนัก เพราะสถิติจริงมักต่ำกว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนประกาศออกเสมอ...จะมากหรือน้อยกว่าความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมอ่านเจอที่นักข่าวบีบีซีประจำปักกิ่งเคยประเมินเอาไว้ นั่นคือให้ตัด 1% ออกจากตัวเลขที่รัฐบาลจีนบอกจึงจะได้ภาพที่ใกล้เคียงความจริง
หากถือหลักการนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเมื่อปีที่แล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.6% ไม่ใช่ 6.6% กระนั้นหรือ?
ไม่มีใครรู้ว่าจะประเมินตามระดับนั้นได้หรือไม่
บีบีซีประเมินผลของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงต่อเอเชียไว้น่าสนใจ
รายงานบีบีซีวิเคราะห์อย่างนี้ครับ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยซื้อสินค้าประเภทต่างๆ อาทิ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันดิบ เหล็กกล้า และแร่ทองแดง
ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และไม่ซื้อสินค้าเหล่านี้จากชาติในเอเชียมากเท่าเดิม ก็จะทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธนาคารโลกคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปีนี้จะหดตัวลงมาอยู่ที่ 6% จากอัตรา 6.3% เมื่อปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่า เศรษฐกิจของเอเชียจะขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดนับแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน
นั่นเป็นผลกระทบโดยตรงจากการหดตัวของเศรษฐกิจจีนอีกนั่นแหละ
และต้องไม่ลืมว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็มีส่วนซ้ำเติมภาพลบที่มีอยู่แล้ว
นักวิเคราะห์มองว่าหลายประเทศเอเชียที่ขายของให้จีน ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในหมู่บริษัทเอเชียก็เริ่มสั่นคลอน เพราะมองว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนคือ 1 ใน 2 ข้อกังวลหลักที่จะส่งผลต่อการเติบโตในปี 2019 ส่วนอีกประการคือเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลจีนก็ยังสนับสนุนธนาคารปล่อยกู้
ที่ผ่านมาทางการจีนได้อัดฉีดเงินกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบการเงิน เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยเงินกู้แก่บริษัทต่างๆ โดยหวังว่าเจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะสามารถจ้างคนและสร้างโรงงานเพิ่มได้
แต่ยืนยันไม่ได้ว่ามาตรการนี้ใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด
และเมื่อมีการประกาศลดภาษีให้ธุรกิจระดับกลางและเล็ก ก็มีการคาดการณ์ว่าน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้อีกประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์
คงไม่มีใครมีคำตอบว่ามังกรยักษ์จะล้มป่วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือทุกวันนี้ผู้คนหายใจเข้าออกเป็น "จีน จีน และจีน" จริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |