ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับสังคมมนุษย์อย่างมาก ทุกอย่างได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรองรับกับโลกอนาคต แม้กระทั่งในด้านยานพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางอย่างรถยนต์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและภาคเอกชนหลายคนพยายามผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักคือการลดปัญหามลพิษ ฝุ่นละอองที่กำลังสร้างปัญหาให้กับประชาชนทั่วโลก
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนสำหรับเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนยานยนต์ในอนาคต แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่ ซึ่งมีเรื่องของการเชื่อมต่อ และระบบดิจิทัล เป็นเทรนด์อันดับ 1 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลสำรวจ “20th KPMG Global Automotive Executive Survey (GAES)” พบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
ผู้เล่นแต่ละรายจำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง สร้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากเดิม และผู้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ (original equipment manufacturers – OEMs) หากยังไม่ได้วางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต จะส่งผลต่อกำไรที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมทางการตลาดที่มีมากขึ้น และความต้องการของตลาดที่หดตัวลง
นอกจากนี้ KPMG GAES ยังพบว่า มีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะถูกขับเคลื่อนโดยนโยบาย กฎข้อบังคับ แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะพัฒนาระบบส่งกำลังยานยนต์ที่ตรงกับวัตถุดิบที่ประเทศนั้นมี เช่น สหรัฐอเมริกาจะมุ่งพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ในขณะที่ประเทศจีนจะเน้นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ดังนั้นในจำนวนค่ายรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นถือว่าค่ายโตโยต้าจะมีการเตรียมมากที่สุด ตามมาด้วย BMW และ Tesla
KPMG GAES ยังพบว่านโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปเอเชียและในประเทศสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้ากว่าทวีปยุโรป ซึ่งเห็นได้จาก 83% ของผู้บริหารจากประเทศจีน และ 81% ของผู้บริหารจากสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าประเทศของพวกเขามีนโยบายทางยานยนต์ที่ชัดเจน ในขณะที่มีซีอีโอจากยุโรปตะวันตกเพียงครึ่งเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น
และยังเชื่อว่าภายในปี พ.ศ.2583 ระบบขับเคลื่อนแต่ละระบบจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) 30%, ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) 25%, ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) 23% และรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ZICEs) 23% โดยมี BEVs เป็นผู้นำตลาด ในส่วนของผู้บริโภคนั้นไม่ต้องการเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนทางเลือกแบบเต็มรูปแบบ ระบบไฮบริดจะเป็นทางเลือกอันดับ 1 ของผู้บริโภคสำหรับรถยนต์คันต่อไป โดยมี ICEs เป็นตัวเลือกที่ตามมา
สำหรับประเทศไทยแล้ว เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ได้ระบุว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก แต่ต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ต่างกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ดังนั้นผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง
ซึ่งยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า(EV) สามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ เนื่องจากความต้องการ EV ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EV และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิต EV ในประเทศไทยต่างเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเพิ่มความหลากหลายในการผลิต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทรนด์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งสำคัญนั้นการเปลี่ยนแปลงต้องไม่ใช่การทำลายล้างเหมือนในอดีต จนทำให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ขอให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาภายหลังด้วย และที่ขาดไม่ได้เลยคือ จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมรักษ์โลกของเรา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |