สั่งห้ามเผาไร่นา ชี้เพิ่มมลภาวะ! บี้50เขตคุมเข้ม


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ สั่งกำนัน ผญบ.กำชับชาวบ้านห้ามเผาไร่นา ผิด กม.-เพิ่มมลภาวะ ผู้ว่าฯ กทม.บี้ 50 เขตคุมเข้มก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ คพ.ทำโมเดลอากาศยันฝุ่นเขมรไม่เข้ากรุง กรมควบคุมโรคชี้อย่าด่วนสรุปหนุ่มชลฯ ตายด้วยฝุ่นพิษ แจงก่อผลกระทบเฉียบพลันไม่ได้ทำให้เสียชีวิต 
    เมื่อวันที่ 28 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับประชาชนระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่สวนพฤกษศาสตร์พุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ว่า วันนี้ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์มาทำให้รู้สึกเจ็บตา ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสภาวะอากาศ ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศมีค่าฝุ่นละอองมากกว่าไทยหลายเท่า บางประเทศสูงถึง 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ต่อ ลบ.ม.) แต่ของไทยอยู่ที่ 50-70 มคก.ต่อ ลบ.ม. 
    อย่างไรก็ตาม ตนนั่งเฮลิคอปเตอร์มาเห็นว่ายังมีการเผาไร่นาอยู่ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วทำไม่ได้  จึงขอฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล และท้องถิ่น ให้ช่วยกันชี้แจงชาวบ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า การเผาซังตอข้าวนั้นถือเป็นการสร้างมลภาวะเช่นกัน ดังนั้นเราควรใช้วิธีไถกลบและวิธีการอื่นๆ จะต้องไม่ทำให้ปัญหาขยายไปในพื้นที่อื่น
    "เพราะถ้าคิดว่าเราเผาแค่เจ้าเดียวคงไม่เป็นปัญหา ถ้าทุกคนคิดเช่นนี้กันหมดก็จะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านก็มีการเผาเยอะแยะ จึงต้องประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาโลกร้อนเหมือนปัจจุบัน เพราะทุกประเทศต่างมีภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้ชั้นบรรยากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างลงพื้นที่นายกฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่ขับรถยนต์ในขบวนทุกคันห้ามติดเครื่องระหว่างจอดรออย่างเด็ดขาด ตามนโยบายลดปัญหาฝุ่นละออง
    ด้านนางจินดารัตน์ ชโยธิน ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร  (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ  กทม.เป็นประธานประชุม ถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และสถานีตรวจคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 42-59 มคก.ต่อ ลบ.ม. พบมีค่าเกินมาตรฐานกำหนดไม่เกิน 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. รวม 7 บริเวณ ได้แก่ 
    1.เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 วัดได้ 55 มคก.ต่อ ลบ.ม. 2.เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก 57 มคก.ต่อ ลบ.ม. 3.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ 51 มคก.ต่อ ลบ.ม. 4.เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ 55  มคก.ต่อ ลบ.ม. 5.เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน 55 มคก.ต่อ ลบ.ม. 6.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 59 มคก.ต่อ ลบ.ม. และ 7.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด 52 มคก.ต่อ ลบ.ม. ขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ คพ. พบมี 2 พื้นที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน คือ 1.เขตวังทองหลาง บริเวณ สน.โชคชัย ริมถนนลาดพร้าว 53 มคก.ต่อ ลบ.ม. และ 2.เขตวังทองหลาง แขวงพลับพลา 56 มคก.ต่อ ลบ.ม.
    ส่วนกรณีที่ คพ.เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 โดยให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้น  ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันติดราชการอยู่ต่างประเทศและจะเดินทางกลับในวันที่ 29  ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวินไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมมอบหมายให้นายจักกพันธุ์สั่งการเร่งด่วนไปยัง 50 เขต เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น  การฉีดละอองน้ำ การล้างและทำความสะอาดถนน รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
    "นายจักกพันธุ์สั่งการให้ทุก 50 เขต เพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและลดปัญหาฝุ่นละอองพร้อมกัน ทุกบริษัทที่ทำโครงการขนาดใหญ่ต้องยื่นแผนก่อสร้างให้สำนักการและสำนักงานเขตทราบก่อนการดำเนินการ อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบให้การก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน" นางจินดารัตน์ระบุ
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เวลา 15.00 น.ว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ในช่วงบ่ายในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอากาศลอยตัวได้น้อยลง ลมพัดอ่อน และไม่มีฝนตก  ประกอบกับเป็นการทำงานวันแรกของสัปดาห์ที่มีการจราจรหนาแน่น ทำให้ฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น โดยพื้นที่ริมถนนเกินค่ามาตรฐาน 20 สถานี ส่วนพื้นที่ทั่วไปเกินค่ามาตรฐาน 11 สถานี คาดการณ์ในวันที่  29 ม.ค. อากาศจะลอยตัวได้น้อยและลมพัดอ่อนลง ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น
    นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าฝุ่นละอองข้ามแดนจากประเทศกัมพูชานั้น คพ.ได้เฝ้าระวังติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และหมอกควันข้ามแดนจากการเผาในที่โล่งทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านอากาศ ซึ่งเป็นแบบจำลองของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency-EPA)  ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา และองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) เป็นหน่วยงานด้านการจัดการและวิจัยสภาพชั้นบรรยากาศของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นักวิชาการด้านอากาศทั่วโลกใช้อยู่ เพื่อทำการประเมินผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าว
    ล่าสุด คพ.ได้จำลองสถานการณ์ของวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่พบจุดความร้อนสูงสุดในประเทศกัมพูชา มีจำนวน 895 จุด และผลจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า มีการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากประเทศกัมพูชาผ่านเข้ามาทางชายแดนจังหวัดตราด และเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย  ไม่พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจากประเทศกัมพูชาจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์พยากรณ์อากาศอาเซียน ที่รายงานสถานการณ์หมอกควันในภูมิภาคอาเซียนจากทิศทางลม สรุปได้ว่าลมจะพาหมอกควันจากประเทศกัมพูชาลงไปทางตะวันออกแถบชายแดนจังหวัดตราดและลงสู่อ่าวไทย
    สำหรับฝุ่นควันจากการเผาในที่โล่ง 5 จังหวัดปริมณฑล ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดได้สั่งห้ามเผาโดยเด็ดขาดแล้ว รวมทั้ง คพ.ได้มีหนังสือขอความร่วมมือในการห้ามเผาในจังหวัดอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลให้หมอกควันเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท  และสระแก้ว สำหรับสาเหตุและปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง PM2.5 จากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) พบว่าเกิดจากยานพาหนะ (รถดีเซล) ร้อยละ 52, เกิดจากการเผาในที่โล่ง ร้อยละ 35, ฝุ่นจากพื้นที่อื่น ร้อยละ 7 และฝุ่นจากดิน และอื่นๆ ร้อยละ 6.   
    วันเดียวกัน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผลการตรวจชันสูตรศพนายสมชาย กัดทอง อายุ 49 ปี อดีตข้าราชการทหารบกที่เสียชีวิตที่จังหวัดชลบุรี โดยอ้างสาเหตุมาจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า ได้มอบหมายให้สำนักควบคุมโรค เขต 6 ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว แต่คาดว่ากว่าจะได้ข้อสรุปว่าเสียชีวิตจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือไม่นั้นต้องใช้เวลานานกว่า 5-8  ปี เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ายากที่จะพิสูจน์ ทั้งนี้ขออย่าได้ด่วนสรุปว่ามาจากฝุ่นละออง เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เหมือนกับเชื้อโรคติดต่อ แต่เหมือนความเครียด ไขมันในเส้นเลือดซึ่งไม่สามารถบอกได้ ฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบผูกโยงสาเหตุการเสียชีวิต 
    อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจว่าฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดผลกระทบเฉียบพลัน คือคอแห้ง ระคายคอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จาม แต่ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต ส่วนผลกระทบระยะยาวเหมือนกับร่างกายคนเราสูบบุหรี่เป็นเวลานาน เพราะในฝุ่นมีสารเคมีและก่อมะเร็งได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"