เปิดวันแรกลงทะเบียนใช้สิทธิ์ล่วงหน้าคึกคักถึงขั้นเว็บล่ม กกต.คาดถึง 19 ก.พ.จะมียอดทะลุ 2 ล้านคน เปิดตัวเลขอัพเดต 36 พรรคการเมืองส่ง ส.ส.ได้ พร้อมวางปฏิทิน 8-21 มี.ค.พรรคการเมืองเตรียมโผล่โชว์วิสัยทัศน์ผ่านหน้าจอ ไฟเขียวจัดดีเบตแต่ต้องให้เท่าเทียม “วิชชุดา” เผยเตรียมถกปลัด กทม.จุดติดป้ายหาเสียง “หญิงหน่อย” ปลุกเร้าลูกพรรค ชู “ทักษิณ” หากินบอกผลงานพิสูจน์มาแล้วทำให้เป๋าตุง สะพัด “วงศ์สวัสดิ์” วางมือการเมือง
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ม.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขต ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขต นอกเขต และนอกราชอาณาจักรทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ทาง https://election.bora.dopa.go.th/ectoutvote/ เป็นวันแรก โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.-19 ก.พ.
โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวว่า ระยะเวลาลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.-19 ก.พ.ถือว่าไม่น้อย ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนนอกเขตและนอกราชอาณาจักรสามารถเข้าไปเช็กรายละเอียดได้ทาง www.khonthai.com โดยในเว็บไซต์มีรายละเอียดของแต่ละประเทศและมีขั้นตอนลงทะเบียน ส่วนถ้าผู้ใดที่ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตของตัวเอง ต้องยืนยันด้วยตัวเองในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ์ หรือยืนยันทางไปรษณีย์
ทั้งนี้ การเปิดให้ลงทะเบียนวันแรกในหลายพื้นที่คึกคักอย่างมากจนทำให้เว็บไซต์ล่ม และกลายเป็นที่วิจารณ์อย่างมากในช่วงเช้าหลังเปิดให้ลงทะเบียนในโลกออนไลน์ รวมทั้งยังมีการติดแฮชแท็ก #เลือกตั้งล่วงหน้าติดท็อปเทนแฮชแท็กยอดนิยมประจำวันด้วย
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ได้สอบถามสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเปิดระบบลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตเมื่อช่วง 08.30 น. จนถึงช่วง 09.00 น.เศษ พบว่ามีผู้สนใจเข้าลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์แล้วกว่าพันคน และมีบางคนเข้าระบบไปศึกษาข้อมูลก่อนทำให้ระบบรวนเกิดการขัดข้องไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร แต่ขณะนี้ได้แก้ไขจนสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ตามปกติแล้ว
“กกต.ประเมินว่าจะมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในการเลือกตั้งครั้งนี้เกินกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ทุกคะแนนมีความหมาย ซึ่งหลังปิดการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 19 ก.พ. กกต.จะประกาศยอดลงทะเบียนในการแต่ละประเภทให้สาธารณชนทราบตามที่กฎหมายกำหนด” นายณัฏฐ์กล่าว
ขณะเดียวกันที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ นายอิทธิพรได้มอบนโยบายการปฏิบัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลักเกณฑ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องศึกษาและความทำเข้าใจกฎหมายและระเบียบต่างๆ ตั้งแต่การรับสมัครไปจนถึงการประกาศผลการนับคะแนน เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดบกพร่องจนนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ โดยขอให้ยึดหลักรวดเร็วทันต่อเวลา เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด เพราะการปฏิบัติหน้าที่สามารถให้คุณให้โทษกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง
“การเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันสูง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งจึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเราอยู่ในยุคโซเชียลมีเดียที่มีการส่งต่อข้อมูลทั้งจริงและเท็จเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ทำงานด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง นอกจากนี้ขอให้มีความเป็นจิตอาสาสาธารณะ ให้ความร่วมมือกับผู้ใช้สิทธิ์และผู้สมัครอย่างเต็มที่ เราจะดูแลทุกท่านอย่างเต็มที่ ขอให้ทำงานเต็มความสามารถเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม” นายอิทธิพรกล่าว
แจง 36 พรรคส่ง ส.ส.ได้
ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวถึงสถานะของพรรคการเมืองขณะนี้ว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค.มีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 105 พรรค แต่มีพรรคที่มีคุณสมบัติสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้แล้ว 36 พรรค แยกเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ใน 4 เรื่อง คือทุนประเดิม 1 ล้านบาท, จัดให้มีสมาชิก 500 คนประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับพรรค และประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครบถ้วน รวมทั้งจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแล้ว 14 พรรคประกอบด้วย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.), พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), พรรคเสรีรวมไทย (สร.), พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.), พรรคเพื่อชาติ (พ.ช.), พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.), พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.), พรรคภูมิใจไทย (ภท), พรรคเพื่อธรรม (พธ.), พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคพลังไทยรักชาติ (พทรช.), พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และพรรคเพื่อสหกรณ์ไทย (พ.พสท.)
ขณะที่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งดำเนินการเพียงเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบถ้วนก็สามารถสมัครได้มีทั้งสิ้น 22 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.), พรรคอนาคตใหม่ (อนค.), พรรคทางเลือกใหม่ (ทลม.), พรรคพลังไทสร้างชาติ (พทช), พรรคประชาภิวัฒน์ (ปชภ.), พรรคประชาชาติ (ปช.), พรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.), พรรคเพื่อนไทย (พ), พรรครวมใจไทย (รจท), พรรคไทยธรรม (ทธม.), พรรคเพื่อคนไทย (พคท.), พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.), พรรคแผ่นดินธรรม (ผธ.), พรรคพลังแผ่นดินทอง (พผดท), พรรคไทยรุ่งเรือง (ทรร.), พรรคพลังชาติไทย (พพชท), พรรคพลังแรงงานไทย (พ.รง.ท.), พรรคประชานิยม (ปย.), พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม), พรรคพลังปวงชนไทย (พลท.) และพรรคประชาธรรมไทย (ปธท.)
“ข้อมูลสถานะพรรคการเมือง กกต.จะอัพเดตไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงวันเปิดรับสมัคร โดยเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองที่มีความพร้อมในการส่งผู้สมัครเพิ่มมากขึ้น และ กกต.จะจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณารับสมัคร” นายแสวงกล่าว
มีรายงานว่าใน 36 พรรคที่แจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมายัง กกต.นั้นยังมีเพียง 3 พรรคการเมือง คือ ปชป., รป. และ สร.เท่านั้น ที่มียอดรวมการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบ 77 จังหวัด ซึ่งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 145 กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองใดไม่ประสงค์ส่งผู้สมัครครบ 350 เขตใน 77 จังหวัด ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบทั้ง 77 จังหวัด แต่ตั้งเฉพาะในจังหวัดที่จะส่งเท่านั้นก็ได้
ส่วนนายอิทธิพรกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนมีสิทธิ์ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศแค่ 4 พรรคว่า ไม่กังวลใดๆ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลช่วงประมาณวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งเรื่องดังกล่าวพรรคการเมืองหลายพรรคกำลังเร่งอยู่ เชื่อว่าขณะนี้มีเพิ่มขึ้นอีกมาก คงไม่ได้หยุดอยู่แค่ 4 พรรค ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองที่ดำเนินการตามกฎหมายครบถ้วนแล้วก็เพียงแค่แจ้งให้ กกต.ทราบตามเงื่อนไข หลังจากนั้นจึงจะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ได้
ประชุมติดป้ายหาเสียง
ขณะที่ช่วงเวลา 14.00 น. นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ และ น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ทีมงานโฆษก รปช.เข้าไปยื่นเอกสารประกอบการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนและสาขาพรรค เพื่อแสดงความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่าพรรคจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นวันแรก
ส่วน น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 29 ม.ค.จะไปร่วมประชุมกับปลัด กทม.เพื่อหารือถึงการกำหนดจุดปิดป้ายหาเสียงเลือกตั้งของทั้ง 30 เขตของ กทม. เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการกำหนดสถานที่ จากนั้นจึงจะนำมาประกาศจุดต่างๆ โดยพร้อมกันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ส่วนเรื่องการแจ้งใช้สื่อโซเชียลมีเดียของว่าที่ผู้สมัคร พรรคการเมือง รวมทั้งผู้ช่วยหาเสียงนั้น พบว่ามีว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองหลายพรรคทยอยเข้ามาแจ้งวิธีการและช่องทางหาเสียงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร โดย กกต.กทม.เปิดให้ผู้ประสงค์จะหาเสียงทางสื่อโซเชียลแจ้งได้โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ
น.ส.วิชชุดายังกล่าวถึงสถานที่รับสมัคร ส.ส.กทม.แบบแบ่งเขตว่า จะใช้อาคารกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. ทั้งนี้จะใช้สถานที่สมัครรวม แต่จะจัดจุดรับสมัคร 30 เขต โดยจะมีการจับสลาก 2 ครั้งสำหรับผู้ที่มาก่อน 8.30 น.ของวันที่ 4 ก.พ. โดยครั้งแรกเป็นการจับลำดับการจับสลาก และครั้งที่สองเป็นการจับหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เดินทางมาถึงก่อนเวลา 8.30 น.จำนวนมาก เพราะต่างคาดว่าจะได้เลขที่จำง่าย
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท.ได้ยื่นหนังสือของหัวหน้าพรรคต่อเลขาธิการ กกต.แจ้งการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ของพรรค 5 ช่องทาง คือ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เว็บไซต์ และทวิตเตอร์
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ชทพ.กล่าวว่า เตรียมเสนอปัญหาเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ต่อ กกต.ว่า หลังเห็นภาพตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะใช้ในวันที่ 24 มี.ค.62 พบว่าจะทำให้ผู้ใช้สิทธิ์เกิดความสับสน พรรคจึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนเพื่อเรียงลำดับช่องใหม่ในบัตรเลือกตั้ง โดยเรียงจากหมายเลขผู้สมัคร ช่องกากบาทลงคะแนน ก่อนเป็นโลโก้พรรค และชื่อพรรคการเมือง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่ทำให้ผู้ใช้สิทธิ์สับสน ง่ายต่อการลงคะแนน โดยพรรคได้ทำหนังสือด่วนที่สุดเพื่อเสนอต่อประธาน กกต.เพื่อพิจารณาแล้ว
8-21 มี.ค.พรรคออกทีวี
ส่วน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และนายแสวงพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมือง โดยนายแสวงระบุว่า กกต.อยากขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลในการจัดสรรเวลาออกอากาศ โดย 1 วันขอเวลา 60 นาที ระหว่างวันที่ 8-21 มี.ค. โดย 5 วันแรกเป็นการออกอากาศสปอตโฆษณาของพรรคการเมืองพรรคละ 10 นาที ส่วน 5 วันถัดมาเป็นการออกอากาศเทปการประชันนโยบายของพรรคการเมือง โดยการออกอากาศทั้ง 2 กรณี กกต.จะให้พรรคดำเนินการในเรื่องของการจัดทำสปอต ส่วน กกต.จะจัดทำในเรื่องของเวทีดีเบต โดยรับผิดชอบเนื้อหาและนำส่งให้สถานีไปเผยแพร่ ซึ่งสถานีสามารถเลือกเผยแพร่ได้ในช่วงเวลา 06.00-24.00 น. โดยไม่จำเป็นว่าแต่ละสถานีต้องเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกันเพราะ กกต.เข้าใจถึงผังรายการ
“ประเด็นที่สถานีสอบถามว่าสามารถจัดเวทีดีเบตได้เอง หรือจัดรายการวิเคราะห์การเมืองได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสื่อยังคงทำได้ตามปกติ แต่การจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาดีเบต หรือเสนอข่าวขอให้คำนึงถึงความเท่าเทียม ไม่ใช่ให้น้ำหนักกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะถ้าเกิดกรณีดังกล่าวอาจทำให้สื่อถูกร้องเรียนจากพรรคการเมืองเอง” นายแสวงกล่าว
สำหรับกรณีผลสำรวจความคิดเห็น (โพล) ที่ระบุว่าคนไทยเกือบ 80% เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อเสียงนั้น น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค.กล่าวว่า ไม่แปลกใจต่อเรื่องดังกล่าว ทีมหาเสียงทั้ง 77 จังหวัดรายงานเข้ามาเหมือนกันหมดว่า พรรคการเมืองหลายพรรคใช้เงินจำนวนมากในการจ่ายให้ประชาชนเพื่อไปเลือกพรรคของตัวเอง ตามลักษณะการเมืองแบบเก่าที่มีมากว่า 60 ปี และวัฎจักรเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
“เราเชื่อว่าแม้ประชาชนจะเห็นคนมาให้เงินหรือรับเงิน แต่กาลเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการใช้เงินเล่นการเมืองไม่ได้ทำให้ไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เราเชื่อว่าเงินไม่มีส่วนตัดสินใจ รับเงินแล้วจะเลือกหรือไม่นั่นเป็นเรื่องที่ประชาชนตัดสิน แต่เราเชื่อว่าประชาชนจะเลือกจากนโยบายและจุดยืนของพรรค เราเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย” น.ส.พรรณิการ์กล่าว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรค พท.กล่าวเช่นกันว่า ทราบมาว่ามีไอ้โม่งเดินเข้าไปในชุมชนของกรุงเทพฯ แล้วเสนองบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ และรับปากว่าจะนำความเจริญมาให้ชุมชน เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และถือเป็นการตกเขียวงบพัฒนาจำนวน 5 แสนบาทต่อชุมชน ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีการร้องเรียนว่าข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง มีการสั่งการผู้ใหญ่บ้านเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ขอเตือนว่าวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนมีเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ขอย้ำให้ทุกคนวางตัวเป็นกลาง ตอนนี้พรรคกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดเพื่อเตรียมยื่น กกต.ต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น พรรคเพื่อไทยได้จัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง โดยมีแกนนำพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งกล่าวว่า กว่า 2 เดือนที่ลงพื้นที่ประชาชนต่างสะท้อนปัญหา เศรษฐกิจแย่ หนี้สินเพิ่มขึ้น 28 ปีที่ทำการเมืองมาไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง พวกเขารอคอยให้พวกเราไปช่วยเขาออกจากความทุกข์
หน่อยชูแม้วหาเสียง!
“พรรคการเมืองเกิดขึ้นหลายพรรค แต่สุดท้ายคือ 2 ขั้วเท่านั้น คือขั้วที่ตั้งขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการ และขั้วตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาธิปไตย วันนี้เราไม่ได้อยู่ในสงครามโลกที่ใช้รถถังไปสู้กัน แต่เราอยู่สงครามการค้า เราจึงต้องออกไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ถ้าเราได้รัฐบาลไม่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจคนไทยจะทุกข์มากขึ้น อยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกรัฐบาลที่เชี่ยวชาญด้านการทหาร หรือรัฐบาลเชี่ยวชาญแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย นายทักษิณ ชินวัตรเคยทำสำเร็จมา ทุกครั้งเราทำเศรษฐกิจดีขึ้นทุกครั้ง มีความสุข กระเป๋าตุงทุกครั้ง” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า พรรคจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความสวบสุข ไม่ใช่ความสงบสุขแบบ 4-5 ปีที่ไม่มีเสรีภาพ ความสงบสุขไร้คุณภาพกระเป๋าแฟบ พรรคจะสร้างความสงบสุขบนเศรษฐกิจที่ดี มีบางพรรคการเมืองหรือผู้มีอำนาจบอกปล่อยเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมือง เดี๋ยวบ้านเมืองไม่สงบ ความไม่สงบที่เต็มด้วยความทุกข์กระเป๋าแฟบเป็นทุกข์ พรรคจะสร้างความสุขให้อนาคตประเทศ วันที่ 24 มี.ค.คือวันแห่งชัยชนะของประชาชน หมดเวลาแล้วสำหรับรถถัง ได้เวลาแล้วของผู้บริหารมืออาชีพ
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า ขณะนี้รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยใกล้เสร็จสิ้น 100% จะประชุมเคาะรายชื่อทั้งหมดในวันที่ 31 ม.ค. ในวันที่ 1 ก.พ.พรรคจะมอบใบส่งตัวของพรรคให้แก่ว่าที่ผู้สมัครทุกคนเพื่อให้นำไปสมัคร ส.ส.วันที่ 4 ก.พ. ก่อนส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.ในวันที่ 5 ก.พ. เบื้องต้นมีผู้เสนอตัวจะลง ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว 108 คน ส่วนบัญชีรายชื่อนายกฯ นั้นที่เห็นกันแล้ว 2 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรค แต่รายชื่อที่ 3 ยังไม่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าพรรคจะส่งครบ 3 รายชื่อ
มีรายงานว่า ในการเสวนาพรรคได้แจกลำโพงแบบพกพาที่ผลิตจากประเทศจีน กำลังเสียง 60 วัตต์ พร้อมไมค์ไร้สายสีทองให้แก่ว่าที่ผู้สมัครของพรรคทุกคนที่มาร่วมเสวนาเพื่อให้ไว้ใช้หาเสียง พร้อมแจกเสื้อยืดสีขาวสกรีนคำว่า “พท.พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน” จำนวน 100 ตัวให้ว่าที่ผู้สมัครนำไปใช้ในการหาเสียงด้วย
นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 เชียงราย พท.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ชาวบ้านยังให้การตอบรับพรรคอย่างดี แม้นายยงยุทธ ติยะไพรัช จะไปเป็นกองเชียร์พรรคเพื่อชาติก็ไม่เป็นปัญหา กระแสพรรคยังดีอยู่ แต่กลับได้ยินมามีการไปบอกชาวบ้านว่าพรรคเพื่อไทย-เพื่อชาติฐานเดียวกัน พรรคเดียวกัน ตรงนี้กลัวจะทำให้ชาวบ้านสับสน
นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พท.กล่าวถึงกระแสข่าวนายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ บุตรชายนายสมชายกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยจะมาลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ว่าเท่าที่รู้มาไม่มี เข้าใจว่าคงอยากขอเว้นการเมืองไปสักสมัย
นายนิกรกล่าวถึงการประสรรหาผู้สมัครพรรคของ ชทพ.ว่า จะพิจารณาในวันที่ 30 ม.ค. และจะปฐมนิเทศว่าที่ผู้สมัครของพรรคในวันที่ 1 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราฯ รวมทั้งจะเปิดแผนปฏิบัติการเร่งด่วนชาติไทยพัฒนา 7 ด้านด้วย
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค ชพน.กล่าวเรื่องนี้ว่า พรรคยังมีเวลาที่จะหารือถึงวันที่ 8 ก.พ.คือวันสุดท้ายที่จะส่งรายชื่อผู้ชิง ส.ส.ของพรรค ส่วนการส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม.นั้น พรรคก็ไม่กดดันต่อการแข่งขัน เพราะพรรคเป็นน้องใหม่ในพื้นที่ กทม. โดยจะเน้นการนำเสนอนโยบายกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหา ผ่าน 9 แนวทางสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นสมาร์ตซิตี ส่วนการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรพร้อมยอมรับ
ส่วนที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน พร้อมกรรมการบริหารพรรคได้แถลงวิสัยทัศน์ของพรรคตามอุดมการณ์ของพรรค 3 ข้อ คือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และเท่าเทียมเป็นธรรม โดยมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำ 4 ด้าน คือ 1.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง 2.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและแรงงาน 3.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรม และความรู้ และ 4.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม
“ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ากันว่าคะแนน 9 หมื่นเสียงจะได้ ส.ส. 1 คน พรรคพร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต 17 เขตใน จ.เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, เลย, สกลนคร, สุรินทร์, กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู เป็นต้น ซึ่งต่อให้เราแพ้เลือกตั้งครั้งหน้าต้องมีต่อ ทุกคะแนนที่เลือกมีคุณค่าในการคัดค้านกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม” นายเลิศศักดิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |