หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันรับสมัคร ส.ส. ระหว่างวันที่ 4–8 กุมภาพันธ์ ไฮไลต์สำคัญกลับไม่ได้อยู่ที่ตัว “ผู้สมัคร” หากแต่คือ “บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี” ของแต่ละพรรค ที่ต้องเสนอในกรอบเวลาดังกล่าว
ตัวผู้สมัคร ส.ส. อาจมีให้จับตาบ้าง โดยเฉพาะบางเขต ที่แต่ละพรรคยังเคาะไม่ลงว่าควรจะเอาใครลงแข่งขัน แต่ “บัญชีรายชื่อนายกฯ” นั้น ถือว่ามีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการหาเสียง หรือยุทธศาสตร์ของพรรคเอง
“พลังประชารัฐ” คือพรรคที่ถูกจับตามากที่สุด เพราะที่ผ่านมาถูกมองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ปัจจุบันยังไม่เคยเปิดปากว่า คือ “บิ๊กตู่” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ขณะที่ตัว “บิ๊กตู่” เองก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่ายังไม่มีพรรคใดมาทาบทามแม้แต่พรรคเดียว และหากเชิญก็ขอดูแนวนโยบายของพรรคนั้นก่อน
ส่วนภายใน “พลังประชารัฐ” เอง เบื้องต้นเบอร์หนึ่งยังคงเป็น “บิ๊กตู่” อยู่ แม้จะมีกระแสข่าวว่าผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันอาจกลับไปใช้สูตร “นายกฯ คนนอก” เหมือนเดิม แล้วไปเชิญมาเป็นนายกฯ เส้นทางเดียวกับที่ ส.ส.เคยไปเชิญ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนก็ตาม
ข่าวดังกล่าวออกมาหลังมีการประเมินว่ากระแสของ “พลังประชารัฐ" อาจไม่เปรี้ยงปร้าง การดัน "บิ๊กตู่" ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค หากพลาดพลั้งพรรคเพื่อไทยชนะแบบมหาศาล ในขณะที่ “พลังประชารัฐ” ได้ไม่ตรงเป้า จะยิ่งลำบากในการขึ้นไปประกบแข่งชิงเก้าอี้ ถึงแม้จะมี ส.ว.คอยสนับสนุน
แต่การกลับสู่สูตร “นั่งลิฟต์” เข้าไปสู่อำนาจ อาจส่งผลกระทบต่อการหาเสียงของ “พลังประชารัฐ” ที่พยายามชูและขาย “บิ๊กตู่” ทางอ้อมในการหาเสียงมาโดยตลอด
กระแสของ “พลังประชารัฐ” อาจจะยิ่งแย่หากไร้หัว เพราะสมาชิกในพรรคต่างเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า หลายคนมีคดีความ เคยอยู่อีกขั้วอำนาจมาก่อน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อภาพรวม
อีก 2 รายชื่อของ “พลังประชารัฐ” คือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อร่างสร้างพรรคนี้ขึ้นมา และคอยดีลกับนักการเมืองจากขั้วเก่าสมัยทำงานอยู่ไทยรักไทย และอีกคนคือ “อุตตม สาวนายน” ในฐานะหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นการให้เกียรติ
ด้าน “เพื่อไทย” ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งโดยตรง 2 ชื่อที่จะถูกใส่เข้าไปคือ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ส่วนใครจะเข้าวินสุดท้ายอยู่ที่ “กระแส” และ “สถานการณ์” ช่วงนั้นว่าเหมาะกับใคร
“ประชาธิปัตย์” ชัดเจนจะส่งเพียงชื่อเดียวคือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ที่ยังคงไว้วางใจให้ถือธงนำอีกครั้ง หลังผ่านการเลือกจากที่ประชุมพรรค
เช่นเดียวกับ “ภูมิใจไทย” ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ประกาศกร้าวว่าพร้อมจะเป็นนายกฯ ในการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ จ.บุรีรัมย์ที่ผ่านมา
ส่วนพรรคสาขาของ “เพื่อไทย” อย่างไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ลงมาเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะใส่ชื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ประธานยุทธศาสตร์ และ “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” หัวหน้าพรรค ขณะที่ “เพื่อชาติ” คล้ายคลึงกันคือ ใส่ชื่อหัวหน้าพรรคอย่าง “สงคราม เลิศกิจไพโรจน์”
ส่องไปที่พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็น “ตัวแปร” อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาเคยประกาศว่าหัวหน้าพรรคคือ “กัญจนา ศิลปอาชา” เหมาะสมที่จะอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค ซึ่งหากเสนอจะใส่เพียงชื่อเดียว
“ชาติพัฒนา” แม้หลายคนคาดการณ์ว่าจะเป็น “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษา แต่กลับมีอีกรายงานว่า สุดท้าย “ชาติพัฒนา” อาจไม่เสนอชื่อนายกฯ เพราะรู้ว่าครั้งนี้พวกเขาไม่ได้เป็นพรรคใหญ่ และคนอย่าง “สุวัจน์” จะไม่เปลืองตัวหากรู้ว่าเสนอไปแต่แพ้
เหมือนๆ กับ “รวมพลังประชาชาติไทย” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ประกาศชัดแล้วว่าจะไม่เสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค และแสดงท่าทีว่าสนับสนุน “บิ๊กตู่”
ด้านพรรคใหม่ไฟแรง “อนาคตใหม่” ใส่ชื่อเดียวคือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค เหมือนกับ “เสรีรวมไทย” ที่ใส่ชื่อ “วีรบุรุษนาแก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ปรารถนาเก้าอี้ตัวนี้อย่างมาก
ซึ่งแม้วันนี้จะยังไม่รู้ว่า 24 มีนาคม ใครจะเป็นผู้ชนะเลือกตั้ง และใครจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหลังจากนั้น แต่นายกฯ คนที่ 30 จะไม่พ้นไปจากนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |