การแสดงเปลี่ยนหน้ากาก
การแสดงอุปรากรจีน หรืองิ้ว เป็นการแสดงพื้นบ้านของประเทศจีนที่มีมาอย่างยาวนานและสืบทอดถึงปัจจุบัน การแสดงงิ้วมีลักษณะเฉพาะตัว ใช้การขับร้องและเจรจาประกอบท่าทาง อีกทั้งยังมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ เต็มยศ และการแต่งหน้าที่เน้นความเข้มของสีแดงที่แก้มและปาก ที่โดดเด่น บ่งบอกความเป็นตัวตนของงิ้ว โดยเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงเป็นการดำเนินเรื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลง แต่งเติมให้มีสีสัน ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่ในปัจจุบัน แม้ว่างิ้วจะได้รับความนิยมน้อยลง จากกระแสนิยมวัฒนธรรมจากต่างแดน แต่งิ้วก็พยายามที่พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงให้มากขึ้น และไม่ต้องรอชมเพียงในช่วงเทศกาลสำคัญหรืองานศาลเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงโอกาสพิเศษอื่นก็สามารถเห็นการแสดงงิ้วได้
เสียงกลองที่กึกก้อง พร้อมกับจังหวะของดนตรีที่เร้าใจและชวนตื่นเต้น บนเวทีนักแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้ากากเริ่มต้นขึ้น นักแสดงมีทั้งที่เป็นคนสวมหน้ากากและที่เป็นหุ่นมือ สร้างความตื่นเต้นและเสียงปรบมือจากผู้ชมได้เป็นอย่างมาก เมื่อหน้ากากถูกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และตัวละครลิงสามารถทำหัวหล่นลงมาจากคอได้ นี่คือหนึ่งในไฮไลต์ของการแสดงเปลี่ยนหน้ากากที่จะเกิดขึ้นใน "งานมหกรรมการแสดงอุปรากรจีน" โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมอุปรากรจีน จะจัดขึ้นเพื่อสืบสานการแสดงศิลปะพื้นบ้านไทย-จีน ในระหว่างวันที่ 28 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, ศูนย์การค้าไอคอนสยาม และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า นับว่าสมาคมอุปรากรจีนใช้เวลานานมากพอสมควรในการพัฒนาการแสดงงิ้ว เพื่อให้ทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการแสดงเปลี่ยนหน้ากาก ซึ่งคนไทยก็สามารถที่จะหาชมได้ภายในประเทศ ไม่ต้องบินไปดูถึงประเทศจีน หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงส่งเสริมศิลปะการแสดงของจีน แต่จริงๆ แล้วการแสดงอุปรากรจีนที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน ส่งทอดต่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษในประเทศไทย ทำให้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงจนมีความเป็นไทยอยู่ด้วย และนักแสดงก็เป็นคนไทย และการแสดงนี้ประเทศไทยก็ถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้บินไปทำการแสดงในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ต ลาว และกัมพูชา
“นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนบทบาทของศิลปินพื้นบ้าน ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงาน สืบทอดองค์ความรู้ เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรม โดย วธ.ได้เปิดพื้นที่ให้ศิลปินมีเวทีในการแสดง การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างรายได้ให้แก่ศิลปินและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการดำเนินงานวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งการแสดงอุปรากรจีนเป็นหนึ่งในการแสดงพื้นบ้านที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมมาโดยตลอด” รมว.วธ.กล่าว
ตื่นตาตื่นใจกับการแสดงหุ่นมือเปลี่ยนหน้ากาก
ด้านนายพงศกร อนันต์กวิน อุปนายกสมาคมอุปรากรจีน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงอุปรากรจีนว่า การแสดงงิ้วมีมายาวนาน ในอดีตสมัยก่อนจะมีเล่นแค่ในพระราชวัง ที่เรียกว่า งิ้วหลวง ต่อมาประชาชนอยากดูงิ้ว จึงนำมาฝึกการแสดงเอง และพัฒนาต่อมาเป็นงิ้วแร่ ที่จะแสดงตามผู้ว่าจ้าง ปัจจุบันงิ้วที่แสดงกันถือว่าเป็นการแสดงที่ถือเป็นประเพณี เพราะคนจีนที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองไทยในจังหวัดต่างๆ ก็จะสร้างศาลเจ้า ที่เอาไว้กราบไหว้หรือขอพร หากประสบความสำเร็จก็จะนำงิ้วมาจัดแสดงถวายเป็นเหมือนการตอบแทนพระเจ้าตามความเชื่อ งิ้วเป็นการแสดงของคนจีนที่นิยมมาก โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ศาลเจ้าหรือเทศกาลสำคัญ ดังคำหนึ่งที่ว่า “งิ้วอยู่ได้เพราะศาลเจ้าจ้าง” และประเทศไทย งิ้วที่ยังคงอยู่ได้คือ งิ้วแต้จิ๋ว เพราะด้วยเอกลักษณ์ทางสีหน้า ทรงผม ชุดการแสดงที่มีการเปลี่ยนให้มีความหลากหลาย ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันการแสดง เป็นการแสดงสด ดนตรีไพเราะ และเล่นตามบทพูดอย่างถูกต้องไม่บิดพลิ้ว แต่งิ้วแต่ละที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน
“ขณะนี้คณะอุปรากรจีนที่มีอยู่ในเมืองไทยประมาณ 30 คณะ ซึ่งพอดีกับศาลเจ้าที่จะจ้างไปทำการแสดง เพราะหากมากกว่านี้อาจจะมีคณะที่ตกงาน ถึงอย่างนั้นการชมการแสดงงิ้วที่สมบูรณ์แบบทั้งดารางิ้ว เรื่อง การร้องดนตรี องค์ประกอบต่างๆ มีเพียง 2 คณะใหญ่ อีกกว่า 10 คณะก็จะสมบูรณ์ในระดับที่รองลงมา และนอกเหนือจากนั้นก็อาจจะมีความสมบูรณ์น้อยมาก ทำให้คนที่อยากจะแสดงงิ้วลดลง หรือกระแสวัฒนธรรมต่างชาติก็มีส่วนเช่นกัน เพราะงิ้วนับว่าเป็นการแสดงที่ต้องใช้ทักษะและความอดทนในการฝึกฝนทั้งภาษา การขับร้อง การร่ายรำ การเดิน ท่วงท่าต่างๆ บางคนต้องฝึกนานถึง 10 ปี ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจน้อยลงด้วย” อุปนายกสมาคมอุปรากรจีน กล่าว
เรียนรู้วัฒนธรรมจีนผ่านสาธิตการแต่งหน้างิ้ว
อุปนายกสมาคมอุปรากรจีนได้เล่าเสริมว่า เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการแสดงงิ้วให้มีสีสันเพิ่มมากขึ้น อย่างการนำการแสดงเปลี่ยนหน้ากากงิ้วเสฉวนเข้ามาเพื่อเพิ่มสีสันให้กับการชมงิ้ว เพราะคนที่ไม่เข้าใจภาษาจีนก็สามารถรับชมได้ หรือมีการแสดงรามเกียรติ์ในเวอร์ชั่นงิ้วที่จะมีขึ้นในงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งนำบทแปลดั้งเดิมมาแปลเป็นภาษาจีน เพลงจีนที่ทำขึ้นมาใหม่ โดยเคยทำการแสดงเฉพาะพระพักตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว มาแล้ว และมีการปรับให้มีซับไตเติลเป็นภาษาไทย โดยฉายผ่านจอ LED เพื่อให้ผู้ชมที่เป็นคนไทยเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะยังมีแค่คณะงิ้วใหญ่ๆ และในอนาคตก็พยายามที่จะเข้าถึงคณะงิ้วเก่าที่ยังไม่เปิดรับการช่วยเหลือ อาจจะด้วยเหตุผลกลัวโดนหลอกต่างๆ และมีการนำการแสดงออกไปเผยแพร่ทำการสอนให้กับนักเรียนในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับของงานมหกรรมการแสดงอุปรากรจีนในวันที่ 28-29 มกราคม 2562 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จะมีการแสดง อาทิ 28 ทวยเทพเบิกฟ้าหรรษาปีหมู ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก การขับรอง เพลงรักอมตะ อุปรากรจีนเรื่อง คู่วุ่นอลเวง, วีรบุรุษอู๋ฮั่น, เต็กเช็งแม่ทัพทรนง, งิ้วเสฉวนเปลี่ยนหน้ากาก, อุปรากรจีนเรื่อง จุดผกผันท่ามกลางหิมะ และเรื่อง ราชนิกุลชิงกราบทูล
ในส่วนของวันที่ 29 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จะมีการแสดง อาทิ อุปรากรจีนเสฉวน “เปลี่ยนหน้ากาก และมายากล” อุปรากรจีนเสฉวน เปลี่ยนหน้ากาก และมายากล อุปรากรเรื่อง ตอบสาร การแสดงหงอคงถอดหัว หุ่นเปลี่ยนหน้า มายากล อุปรากรเรื่อง ฮัวมู่หลาน วีรสตรีกู้ชาติ การแสดงสานสายใย สายสัมพันธ์ไทย-จีน (คนเชิดหุ่นงิ้ว) ที่พิเศษยังมีการแสดงงิ้วชุดพิเศษร้องไทย พูดไทย เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ตอน พบพระนางลี้ไทเฮา นอกจากการแสดงอุปรากรจีนแล้วยังได้สนุกสนานกับการแสดงกายกรรม เช่น ขี่จักรยานล้อเดียว ความสูง 2 เมตร โชว์ต่อตัว หมุนจานบนเสาเหล็ก กายกรรมมาสเตอร์โชว์ มนุษย์ทรงพลัง คาบโต๊ะ ตัวอ่อน ม้วนตัวดื่มน้ำ
และวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม จะมีการแสดง อาทิ กายกรรมมนุษย์ทรงพลัง คาบโต๊ะ ตัวอ่อน ม้วนตัวดื่มน้ำ งิ้วเสฉวนเปลี่ยนชุดเร็ว เปลี่ยนหน้ากาก หุ่นงิ้วเปลี่ยนหน้ากาก หงอคงเปลี่ยนหน้ากากถอดหัวได้ มหัศจรรย์มนตรามายากล การแสดงงิ้วเรื่องสิริมงคลของชาวจีน ชุดแต่งตั้งขุนพล 6 รัฐ งิ้วร้องไทย พูดไทย ฮัวมู่หลาน วีรสตรีกู้ชาติ การแสดงงิ้วเรื่องสิริมงคลของชาวจีน ชุดปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูสวรรค์ และพลาดไม่ได้กับการแสดง Hi-light ได้แก่ การแสดงลั่นกลองเบิกฟ้า มหามงคล การแสดงจากคณะกายกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน-การแสดงพญาราชสีห์ 9 หัว LED ชิงลูกแก้ววิเศษ-การแสดงพญาราชสีห์ ดอกเหมยอวยพร การแสดงหงส์ฟ้าอำนวยพร พญามังกร 108 เมตร ล่องมหานที พ่นน้ำมนต์ การแสดงพญามังกรพันเสา 9 พญาราชสีห์ เปิดป้ายอวยพร เปิดตัวศิลปิน ดารา และการแสดงฟินาเล และจะได้พบกับการแสดงที่สวยงามคือ การแสดงระบำนางฟ้า งิ้วไทยต้อนรับตรุษจีนแห่งความสุขบารมีแผ่ไพศาล หรือการแสดงงิ้วไซอิ๋ว และการแสดงอื่นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ทาง เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือ www.culture.go.th และสายด่วนวัฒนธรรม 1765.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |