ม็อบต้องมนตร์ งดลุยทำเนียบฯ รอถก'ก.เกษตร'


เพิ่มเพื่อน    

    “กฤษฎา-ทองเปลว” ร่ายมนตร์กล่อมม็อบด้ามขวาน ยาหอมพร้อมรับฟังปัญหาและทบทวน 4 โครงการน้ำ หากคณะกรรมการร่วมลงมติร่วมกันไม่เอา “เครือข่ายฯ” พร้อมคุย ยันหากจบสวยก็ไม่ไปทำเนียบฯ
    เมื่อวันอาทิตย์ เครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่าบนแผ่นดินปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นการวมตัวของตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 4 โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ คลองผันน้ำเมืองนคร ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และประตูกั้นน้ำปากประ  ทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ จ.พัทลุง ได้ชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เป็นวันที่ 3 ต่อเนื่องกัน
    ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ฉบับที่ 3 ระบุว่า ในช่วง 2 วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ชี้แจง แต่ไม่ยอมรับความผิดพลาดในการสร้างเป้าหมายลวง ยังคงดึงดันที่จะก่อสร้าง โดยการเจรจาที่รัฐยื่นข้อเสนอมานั้น คือการปรับในรายละเอียดของโครงการ แต่ไม่ทบทวนโครงการเพื่อการยกเลิกโครงการ สะท้อนให้เห็นเบื้องหลังของวิธีคิดและผลประโยชน์ของการใช้งบประมาณอย่างชัดเจน
    “หน้าที่เราคือการปกป้องดินน้ำป่า และเรามิอาจสูญเสียที่ดินทำกิน บ้านแตกสาแหรกขาด ชุมชนล่มสลาย เพียงเพราะการสร้างเป้าหมายลวงของรัฐบาล เราได้ใช้หลากหลายวิธีในการสื่อสารกับรัฐบาลตลอดมา ในระดับจังหวัด แต่เมื่อเดินมาถึงกระทรวง รัฐมนตรีกลับยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการ หากจะปรับเปลี่ยนก็เป็นเพียงรายละเอียดของโครงการเท่านั้น” แถลงการณ์ระบุ
    แถลงการณ์ระบุอีกว่า ถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่อาจสูญเสียป่าและสายน้ำได้อีก จึงขอประกาศว่า วันจันทร์ที่ 28 ม.ค. เครือข่ายฯ จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ การร่วมกันสร้างอิสรภาพให้แก่การจัดการทรัพยากรของประเทศ เพื่อนำทรัพยากรสาธารณะมาสู่ประชาชนต่อไป 
    ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ได้สั่งการให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใช้ความอดทนและอดกลั้น ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรงใดๆ ขอให้ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงและระเบียบกฎหมาย อย่าได้โต้ตอบด้วยถ้อยคำหรือการกระทำที่รุนแรงอย่างเด็ดขาด เพราะชาวบ้านที่เดินทางมายังมีข้อสงสัยในรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการ ดังนั้นหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนี้ คือชี้แจงรายละเอียดที่ชาวบ้าน รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ให้เข้าใจในข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องทั่วถึง
    นายกฤษฎายังชี้แจงถึงกรณีเครือข่ายฯ ระบุรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการต่อ โดยไม่ฟังข้อท้วงติงของชาวบ้านในพื้นที่ ว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ดึงดันเดินหน้าต่อ เนื่องจากเข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ได้สั่งการให้กรมชลประทานส่งรายละเอียดแผนงาน ผลการศึกษา และขั้นตอนต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วรายงานมา ซึ่งกรมชลประทานได้รายงานถึงโครงการประตูกั้นน้ำปากประ ซึ่งเดิมมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.นางตุง อ.ควนขนุน เมื่อปี 2555 ว่าทำการเกษตรแล้วมีปัญหาน้ำเค็มรุก จึงได้กำหนดแผนป้องกัน แต่หากชาวบ้านขอให้ยกเลิก ไม่ให้ออกแบบโครงการใดๆ โดยระบุว่าคลองปากประไม่มีปัญหาน้ำเค็มรุกแล้ว ภาครัฐก็จะลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน หากเห็นตรงกันว่ายังไม่จำเป็นต้องทำโครงการใดๆ ในเวลานี้ กรมชลฯ ยืนยันจะยกเลิกประตูกั้นน้ำปากประ
    “โครงการอื่นๆ ก็เช่นกัน รัฐให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงต้องการให้มาร่วมกันตั้งเป็นคณะทำงาน ประกอบด้วยชาวบ้าน กรมชลฯ อาจมีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมด้วยตามที่ชาวบ้านต้องการ เมื่อมีความเห็นตรงกันว่า ส่วนใดของโครงการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ภาครัฐจะแก้ไข ส่วนใดที่ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ แต่เห็นตรงกันว่าสามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ จะทบทวน ไม่ดื้อดึงที่จะเดินหน้าตามผลการศึกษาเดิม” นายกฤษฎากล่าว
    สำหรับเรื่องงบประมาณโครงการที่เครือข่ายฯ ระบุว่าตั้งไว้สูงนั้น นายกฤษฎากล่าวว่า หากตั้งคณะทำงานร่วมแล้วพบว่าไม่สมควรทำโครงการขนาดใหญ่ เปลี่ยนเป็นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ งบประมาณต้องลดลงตามขนาดและปริมาณงาน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบ 2,300 ล้านบาท ถ้าตรวจสอบร่วมกันแล้วปรากฏว่าแนวทางการแก้ไขจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ หรือตัด ปรับ ส่วนใดออก งบประมาณต้องปรับลดลงแน่นอน
    “กระทรวงเกษตรฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม หากชาวบ้านร่วมกับภาครัฐเพื่อสำรวจพื้นที่ตามแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด แล้วพบว่ามีส่วนใดไม่ถูกต้อง สามารถชี้ให้ภาครัฐแก้ไขได้ทันที” นายกฤษฎากล่าว
    ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับคำสั่งจากนายกฤษฎา ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจเครือข่ายฯ ตามประเด็นข้อสังเกตและข้อสงสัยของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้เตรียมข้อมูลผลการศึกษาและข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงแผนงานที่ได้ดำเนินการมาเพื่อชี้แจงให้ทั้งทางเครือข่ายฯ ชาวบ้านในพื้นที่ และประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ม.ค. กรมได้พูดคุยกับเครือข่ายฯ แล้ว โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของชาวบ้านมาทบทวนและจัดเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อทำความเข้าใจกัน
    “หากเครือข่ายฯ ร่วมกับภาครัฐเพื่อทบทวนโครงการและมีความเห็นตรงกันว่าแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาแหล่งน้ำในภาคใต้ที่เหมาะสมควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ จึงจะดำเนินการต่อไป สำหรับกระบวนการที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่หากทางเครือข่ายฯ มองว่ายังทำไม่สมบูรณ์ หรือขาดตกบกพร่อง ทางกรมก็พร้อมดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมใหม่ โดยไม่ดึงดันเดินหน้าโครงการต่อโดยที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยแน่นอน”
    สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เครือข่ายฯ แสดงความกังวลนั้น กรมยืนยันว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นขั้นตอนที่จะทำหลังจากที่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมทบทวนโครงการแล้วเท่านั้น
    ด้านนายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวภายหลังรับฟังคำชี้แจงของนายกฤษฎาและนายทองเปลวว่า ขอขอบคุณที่เปิดใจกว้างรับฟังข้อคิดเห็นและข้อท้วงติงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 4 โครงการสร้าง และจะมารับฟังความเห็นชาวบ้านในวันจันทร์ที่ 28 ม.ค. ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่า รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมชลประทานแสดงความจริงใจ ก็พร้อมต้อนรับการมาพบของอธิบดีกรมชลฯ และหวังว่าหลังได้รับฟังข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการ จนได้ข้อเสนอที่ชาวบ้านซึ่งได้รับความเดือดร้อนต้องอพยพออกจากพื้นที่พอใจ เครือข่ายฯ จะหารือเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อไป ว่าจะเคลื่อนม็อบไปทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือถึงนายกฯ หรือไม่ หากได้ผลหารือพึงพอใจก็จะไม่เดินทางไป.
              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"