สถานการณ์ฝุ่นพิษทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังไม่คลี่คลาย ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมือง จะเกินมาตรฐานหรือลดลงขึ้นกับสภาพอากาศหรือลมพัดแรงในแต่ละวัน คนเมืองต้องทนรับสภาพกันต่อไป
ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา ปรับสารพัดมาตรการเพื่อไล่ฝุ่นพิษให้ได้มากที่สุด
ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วตัวอันตรายในอากาศ ส่วนใหญ่มาจากภาคขนส่ง รถยนต์จำนวนมากที่ใช้เดินทางบนท้องถนนในกรุงเทพฯ การเผาผลาญที่ไม่สมบูรณ์จากเครื่องยนต์รถ จราจรติดขัด ปลดปล่อยฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ภาคขนส่งนอกจากปล่อยไอเสีย พ่นฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังเป็นตัวการก่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ฉะนั้น การรับมือฝุ่นและโลกร้อน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องผลักดันการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างระบบการขนส่งที่ยั่งยืน
สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศร้อยละ 20 ภายในปี 2573 รวมทั้งสิ้น 115 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ใน 4 สาขา ตามแผนปฏิบัติการนี้ภาคคมนาคมขนส่งจะช่วยลด 35 ล้านตันคาร์บอนฯ ผ่านมาตรการหลีกเลี่ยง ลดการเดินทาง เปลี่ยนรูปแบบเดินทาง และยกเครื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานในยานยนต์
เวทีถอดบทเรียน"การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพฯ"โดย สนข. และ GIZ
จากเวทีถอดบทเรียนโครงการ "การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน" จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินงานลดการใช้น้ำมันของยานพาหนะและลดการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง ตลอดจนทางออกระยะยาวของปัญหา PM 2.5
ชุตินธร มั่นคง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน สนข. กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้ประชาชนตื่นตัวปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคขนส่ง ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ปล่อย PM 2.5 มาก ปัจจุบันการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคขนส่งสูงถึง 60 ล้านตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 19 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย ส่งผลต่อโลกร้อน ในปี 2573 ตั้งเป้าลดภาคขนส่ง 35 ล้านตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า ในจำนวน 10 ล้านตันคาร์บอนฯ เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์
ชุตินธร มั่นคง หน.กลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน สนข.
ภาคขนส่งชูมาตรการลดการเดินทาง เปลี่ยนรูปแบบเดินทาง ไม่เน้นเดินทางโดยรถยนต์ แต่ใช้เดิน ปั่นจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ ชุตินธรระบุว่า หากเอาแผนคมนาคมมากาง หมวดแรก ลดระยะการเดินทาง มีทั้งมาตรการจัดเก็บภาษี การห้ามรถเข้าพื้นที่ ช่วยลดทั้งก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นควัน ถัดมาเปลี่ยนการเดินทาง หากสร้างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถรางคู่เสร็จ ช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯ เพราะจะเปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากรถบรรทุกเป็นรถไฟแทน
" อีกหมวดพัฒนารถโดยสาร รถเมล์ ใช้พลังงานทางเลือก ใช้รถโดยสาร NGV และรถโดยสารไฮบริดมากขึ้น แทนน้ำมันดีเซล ไม่ใช้รถเก่า แต่มาตรการเหล่านี้รวมแล้วลดได้ 18 ล้านตันคาร์บอนฯ ยังไม่ถึงเป้าของภาคขนส่ง เหตุนี้ กระทรวงคมนาคมจึงออกมาตรการเพิ่มเติมและมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น จะช่วยลดได้อีก 16 ล้านตัน จะทำให้ลดมลพิษทางอากาศ และชีวิตในเมืองน่าอยู่มากขึ้น ปัญหาหมอกควันคลุมกรุงเทพฯ จะเบาลงอย่างแน่นอน" ชุตินธร กล่าวถึงแผนลดมลพิษภาคขนส่ง
ด้าน ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการประหยัดเชื้อเพลิง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า โครงการ "การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพฯ" ที่ สนข.ร่วมกับ GIZ ผลักดัน นำมาสู่การปรับปรุงมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทนที่จะดูขนาดเครื่องยนต์ ส่งผลให้ผู้ผลิตปรับตัวลดขนาดเครื่องยนต์ ช่วยลดการใช้น้ำมันเหลือเพียง 6.75 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการผลักดันให้ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องยนต์เพิ่มเติม โดยลดขนาดเครื่องยนต์ในรถบรรทุกที่จะผลิตใหม่ นอกจากรถยนต์ส่วนบุคคล เพราะรถบรรทุกเก่าสร้างปัญหาควันดำ ก่อมลพิษ ปล่อยฝุ่นจิ๋วในเมือง
" แต่ละปีมีรถใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.3 ล้านคัน หากรถประหยัดพลังงานช่วยลดฝุ่นจิ๋ว ลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ จากการสำรวจอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน เมื่อเทียบปี 56 กับปี 61 รถประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น 4% นอกจากมาตรการเข้มข้น จะต้องมีมิติการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป หากภาครัฐและภาคเอกชนเดินไปพร้อมกันจะลดก๊าซคาร์บอนและแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทยให้ดีขึ้น" ดร.นุวงศ์ เน้นย้ำ
ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้เชี่ยวชาญนโยบายประหยัดเชื้อเพลิง MTEC
รถยนต์ไฟฟ้าความหวังหยุดวิกฤติฝุ่นควันพิษ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ไทยควรส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและบรรเทามลพิษภาคขนส่ง ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี เมื่อกระทรวงพลังงานมีแผนลดใช้พลังงาน ตั้งเป้าปี 2579 ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทเสียบปลั๊กได้ จำนวน 1.2 ล้านคัน เริ่มดำเนินการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เริ่มเห็นรถปลั๊กอินไฮบริดในผู้ผลิตหลายค่าย อาคารที่จอดรถตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม มีสถานีชาร์จ รวมถึงคอนโดฯ ใหม่ ซึ่งเพิ่มบริการนี้สร้างจุดขาย ขณะที่สมาคมเร่งผลักดันให้มีสถานีประจุไฟฟ้า 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ ปัจจุบันมี 80 จุดแล้ว ไม่นับภาคเอกชนที่ทำไปแล้วมากกว่า 200 สถานี
"ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้ากว่าหมื่นคัน ขณะที่บีโอไอส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีก 20 ราย คาดการณ์ว่า 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นโมเดลรถออกมามากขึ้น และมีราคาเหมาะสม จับต้องได้ ปัจจุบันเผชิญปัญหาเมืองในหมอกควันพิษ เพราะบ้านเราใช้รถดีเซลจำนวนมาก หากขยับมาตรฐานการใช้รถ และลดใช้น้ำมันดีเซล ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในมาตรการหัวใจสำคัญ " ดร.ยศพงศ์จี้รัฐบาลต้องยกระดับความสำคัญรถไฟฟ้า
ในท้ายนี้ ดร.ยศพงษ์ให้ภาพการควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศต่างๆ ในโลกว่า จากปัญหามลพิษอากาศ นอร์เวย์ประกาศห้ามขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ในปี 2568 ส่วนเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ปี 2573 ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสตั้งไว้ปี 2583 หันมาประเทศจีนที่เผชิญหมอกควันพิษรุนแรง มีนโยบายหนุนรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจน แต่บ้านเรามีเพียงมาตรการส่งเสียง แต่ไม่ได้เน้นให้มีการลงทุนหรือผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยสถานการณ์ฝุ่นจิ๋วที่พบอยู่ปัจจุบัน ต้องทำหลายมาตรการควบคู่กัน ด้วยมีจุดดีและด้อยต่างกัน
" รัฐตั้งเป้ารถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ปี 79 วิกฤติฝุ่นควันปัจจุบันอาจต้องปรับแผนเร่งให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วกว่าเดิม เป็นระยะ 5 ปี หรือ 10 ปี เพราะเป็นยานพาหนะที่ไม่มีมลพิษขณะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แต่มีในขั้นตอนการผลิตรถ ซึ่งสามารถลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิดที่โรงงานได้ จัดการง่ายกว่าปล่อยให้รถดีเซล รถเก่ามาวิ่งพ่นควันเสีย แล้วมาแก้ที่ปลายเหตุ" นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเสนอแนะถึงรัฐบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |