เป็นประจำทุกปีองค์การอ็อกซ์แฟม (Oxfam International) จะนำเสนอรายงานความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเศรษฐกิจของโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ รายงานฉบับล่าสุดตั้งชื่อว่า ‘Public good or private wealth?’
ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะปัญหานี้ร้ายแรงขึ้นทุกวัน ทำให้คนในสังคมแตกแยก ทางออกคือต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อการุณย์ต่อมวลมนุษย์ด้วยกัน (Human Economy)
ข้อมูลจากธนาคารโลกล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลก 3,400 ล้านคน อยู่ด้วยเงินต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 176 บาท) ผลลัพธ์คือทุกวันนี้เด็ก 262 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน เพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เอื้อให้เกิดรัฐบาลอำนาจนิยม บั่นทอนประชาธิปไตย บั่นทอนสิทธิมนุษยชน สถิติอาชญากรรมสูงขึ้น คนเครียดและป่วยทางจิตมากขึ้น
ผู้หญิงมักเป็นกลุ่มที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด แม้กระทั่งในหมู่ประเทศยากจน ผู้หญิงมักเป็นคนที่ยากจนสุดๆ เหลื่อมล้ำมากสุด เหตุผลง่ายๆ เพราะผู้ชายเป็นผู้ปกครองและเขียนกติกาที่ให้ตัวเองได้ประโยชน์ สตรีเพศจึงมักถูกทอดทิ้ง ได้รับการเหลียวแลเป็นคนท้ายๆ การปรับลดบริการสาธารณะ ลดภาษีเศรษฐี ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบก่อนและเสียหายมากกว่าทุกคน
ข้อมูลระดับโลกพบว่า หญิงมีรายได้ต่ำกว่าชายร้อยละ 23 (ในงานเดียวกัน) ชายมีทรัพย์สมบัติมากกว่าหญิงถึงร้อยละ 50
ประเด็นน่าคิดคือ หญิงต้องทำงานบ้านเลี้ยงดูบุตรหลาน ดูแลคนชรา โดยไม่ได้รับค่าแรง ขาดการเหลียวแลจากรัฐ ถ้าสตรีได้รับการดูแลจากรัฐดีกว่านี้จะลดการละเมิดทางเพศ ลดการกดขี่ทางเพศได้มากมาย
ความจริงอีกข้อคือ เด็กเก่งเด็กฉลาดมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนได้รับการดูแลอย่างสมควร ขาดโอกาสเรียนต่อ ผลคือความสามารถของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นไป เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าในหลายประเทศลูกคนรวยเท่านั้นที่ได้โอกาสทางการศึกษาสูงสุด เด็กหญิงในประเทศเคนยา 1 ใน 250 คนเท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยม
ส่วนสุขภาพคือ สิ่งที่ต้องซื้อด้วยเงิน คนจ่ายได้มากกว่าจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีกว่า คนยากจนจึงมักมีอายุสั้น เด็กในครอบครัวเนปาลที่ยากจนเสียชีวิตมากกว่าลูกคนรวยถึง 3 เท่า
นี่คือสภาพความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เกิดขึ้นและพบเห็นดาษดื่น
Universal public services:
การเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง (Universal public services – เช่น เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี ไฟฟ้า น้ำประปา) เป็นรากฐานของสังคมเสรีและยุติธรรม (free and fair society) เพียงแค่รัฐบาลดูแลเอาใจใส่ให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสาธารณะ มีมาตรการช่วยเหลือทางสังคมอย่างทั่วถึงจะช่วยเพิ่มความเท่าเทียมได้ทันที ได้ประชากรที่มีการศึกษา สุขภาพดีตั้งแต่เด็ก สังคมมีเสรีภาพจริง ไม่มีใครถูกบีบคั้นให้ทำผิดกฎหมายเพราะว่า “จน” การใช้งบประมาณเพื่อการนี้ย่อมดีกว่าใช้งบประมาณแก้ปัญหาอันเนื่องจากสังคมไร้เสถียรภาพ เมื่อคนมีงานทำย่อมไม่คิดปล้นใครกิน ทุกคนใช้ชีวิตเป็นสุขตามสมควร เปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้ากว่าเดิม
รายงานจากอ็อกซ์แฟมชี้ว่าแทบทุกประเทศมีนโยบายลดความเหลี่ยมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน แต่หากจะแก้อย่างจริงจังและได้ผลควรกำหนดเป้าหมาย แผนระยะต่างๆ และแผนปฏิบัติงาน (action plan) ที่ชัดเจน และให้สอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน“ (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ พร้อมกับแนวทางต่อไปนี้
ประการแรก ใช้นโยบายดูแลสุขภาพฟรี ทุกคนได้รับการศึกษาและบริการสาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ให้เงินบำนาญ เบี้ยดูแลเด็ก ช่วยเหลือปกป้องทางสังคมแก่ทุกคนโดยไม่แบ่งแยกหญิงชาย
ประการที่ 2 หญิงที่ทำงานบ้านเลี้ยงดูบุตรหลานดูแลคนชราถือว่าเป็นการทำงานประเภทหนึ่ง รัฐบาลต้องดูแลหญิงเหล่านี้ดั่งคนทำงาน สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างน้ำประปา ไฟฟ้า การดูแลเด็กได้โดยง่าย เพื่อไม่ต้องเสียเวลากับงานเหล่านี้ (เช่น ต้องเดินไปหาบน้ำไกลหลายกิโลเมตร เสียเวลาหลายชั่วโมง)
ประการที่ 3 เลิกลดภาษีแก่เศรษฐีและกิจการเอกชนขนาดใหญ่ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศมุ่งปรับลดภาษีคนมั่งคั่งร่ำรวยกับกิจการเอกชนขนาดใหญ่ เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้มีฐานะดีเสียภาษีต่ำกว่าที่ควร
เหล่านี้เป็นแนวทางที่ทุกรัฐบาลปฏิบัติตามได้ และเป็นวิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ได้ผลจริง
อภิมหาเศรษฐีพันล้านช่วยได้ :
นับจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 จำนวนมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะ 10 ปีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ปีที่แล้วเพียงปีเดียวพวกมหาเศรษฐีพันล้านสร้างความมั่งคั่งเพิ่มถึง 900,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ในขณะที่ความมั่งคั่งของกลุ่มคนยากจนที่สุด 3,800 ล้านคน ลดลงร้อยละ 11 เห็นชัดว่าคนรวย-รวยขึ้น คนจน-จนลง
นอกจากนี้ ความมั่งคั่งกระจุกตัวกว่าเดิม อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุด 26 คนของโลกมีทรัพย์สินเงินทองเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรโลกหรือ 3,800 ล้านคน (นับจากคนยากจนที่สุดขึ้นมา) จากปีก่อนที่จะต้องรวม 43 อภิมหาเศรษฐีจึงจะเทียบเท่า
ถ้าอภิมหาเศรษฐีพันล้านยอมเสียภาษีเพิ่มอีกนิดเพียงร้อยละ 0.5 จากทรัพย์สินของพวกเขา เด็ก 262 ล้านคนจะได้ไปโรงเรียน ผู้ป่วย 10,000 คนในแต่ละวันจะไม่เสียชีวิตเพราะได้รับการรักษาพยาบาล (หรือราว 3.6 ล้านคนต่อปี)
ปัญหานั้นมีอยู่และบรรเทาได้ถ้ายอมเสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว อภิมหาเศรษฐีจ่ายภาษีมากกว่าเดิม เก็บภาษีผู้รับมรดก (Inheritance Tax) ภาษีทรัพย์สิน (Wealth Tax) เพียงเท่านี้รัฐจะมีงบประมาณสำหรับการบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง และมีเหลือสำหรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
และหากสามารถแก้การทุจริตคอร์รัปชัน การเลี่ยงภาษีด้วยวิธีต่างๆ รัฐจะมีงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศในทุกด้าน
จะมีนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้ปกครองคนใดที่จะดำเนินนโยบายลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างจริงจัง นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมีเรื่องนี้หรือไม่
ไม่มีประโยชน์ที่ดีแต่พูด แต่ไม่ทำจริง :
ทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนอยู่ภายใต้รัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่มีใครสามารถอยู่แยกโดดเดี่ยว รัฐหรือรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยจากอันตรายทั้งภายในและนอกประเทศ รักษาความยุติธรรมในสังคม ให้ความช่วยเหลือพลเมืองผู้ยากไร้ เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีรัฐหรืออยู่ใต้อำนาจรัฐบาลต่อไป พลเมืองทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือและเอาใจช่วยหากรัฐบาลทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวม
องค์การอ็อกซ์แฟมรายงานว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขความยากจน ทำให้จำนวนคนยากจนลดน้อยลง แต่ปัญหายังคงอยู่และมีปัญหาใหม่ และเช่นเดิมที่แทบทุกรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำแต่ยังทำน้อยเกินไป แก้ปัญหาช้าเกินไป เหตุเพราะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพียงพอ เกิดคำถามว่ารัฐบาลกำลังบริหารประเทศ “เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความร่ำรวยของไม่กี่คน”
รัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ ยอมรับมากน้อยเพียงไร ความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกำลังก่อตัวเป็นปัญหาหนักขึ้นทุกวัน เราเห็นการประท้วงในหลายประเทศ แม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว กรณีร้ายแรงสุดคือเกิดขั้วต่อต้านรัฐบาลแบบสุดโต่ง นำสู่ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ อาจกลายเป็นชนวนสงครามกลางเมือง คนชาติเดียวกันเข่นฆ่ากันเองด้วยอาวุธสงคราม ต่างชาติเข้าแทรก เมื่อถึงเวลานั้นประเทศยากจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป กลายเป็นรัฐล้มเหลว ประชาชนนับแสนเสียชีวิต นับล้านต้องอพยพลี้ภัยกลายเป็นผู้ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง เหตุเพราะผู้มีอำนาจปกครองในปัจจุบันไม่ตระหนัก ไม่ยอมรับปัญหา ไม่คิดหรือไม่กล้าลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง.
------------------------
ภาพ : สลัมกับตึกสูง
ที่มา : https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/620599/bp-public-good-or-private-wealth-210119-en.pdf
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |