เขื่อนภายในเหมืองแร่เหล็กทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลพังถล่มเมื่อวันศุกร์ ทะเลดินโคลนปะปนหางแร่ไหลบ่าเข้าทับถมพื้นที่กว้างใหญ่ กู้ภัยกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้แล้ว 9 ศพ แต่ยังมีคนสูญหายอีกเกือบ 300 คน
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยบราซิลใช้เครื่องจักรค้นหาผู้ที่ถูกฝังใต้ดินโคลน ภายหลังเขื่อนเหมืองแตกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 / AFP
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562 ว่าหายนภัยเขื่อนเหมืองถล่มครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นภายในเหมืองแร่เหล็กของบริษัท วาเล ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบราซิล ใกล้กับเมืองเบโลโอรีซอนตี ในรัฐมีนัสเชไรส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562
บริษัทวาเลแห่งนี้เคยร่วมกิจการกับบีเอชพีกรุ๊ปจากอังกฤษ-ออสเตรเลีย ที่ดำเนินกิจการเหมืองเหล็กที่เมืองมารีอานาในรัฐเดียวกันนี้ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุเขื่อนถล่มเมื่อปี 2558 ส่งกากแร่เหล็กที่เป็นอันตรายหลายล้านตันทับถมพื้นที่หลายร้อยกิโลเมตร และคร่าชีวิตคน 19 คนในตอนนั้น โดยถือเป็นหายนภัยทางสิ่งแวดล้อมครั้งเลวร้ายที่สุดของบราซิล หุ้นของวาเลดิ่งลงทันทีหลังข่าวเขื่อนแตกครั้งใหม่นี้ โดยลดลง 8% ในตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์
หายนภัยเขื่อนถล่มครั้งล่าสุดนี้ทำให้มีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย รายงานเอเอฟพีอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ถูกระดมมาช่วยปฏิบัติการกู้ภัยด้วยว่า จำนวนผู้สูญหายเมื่อเช้าวันเสาร์นั้น เพิ่มเป็นเกือบ 300 คน ซึ่งเพิ่มจากยอดสูญหายเมื่อวันศุกร์ 1 เท่า
โรมีอู เซมา ผู้ว่าการรัฐมีนัสเชไรส์ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต แต่ถึงขณะนี้โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตมีน้อยมาก และมีความเป็นไปได้มากว่าจะกู้ได้แต่ศพของผู้สูญหายที่จมอยู่ใต้ดินโคลน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลท้องถิ่นกล่าวว่า ขณะเกิดเหตุมีคนงานทำงานในเหมืองนี้ 427 คน โดยคนงาน 279 คนรอดชีวิต ที่เหลือสูญหาย
ดินโคลนปะปนกับหางแร่ที่กักเก็บภายในเขื่อนไหลบ่าลงมาที่เมืองบรูมาดินโญซึ่งมีประชากรราว 39,000 คน แต่โชคดีที่ไม่ถล่มเมืองนี้โดยตรง ทะเลโคลนบ่าท่วมถนนหลายสาย, แปลงเกษตรและพื้นที่เพาะปลูก, ทำลายสะพานแห่งหนึ่งขาด และสร้างความเสียหายหรือทำลายบ้านเรือนหลายหลัง ภาพข่าวโทรทัศน์เผยให้เห็นประชาชนถูกดึงขึ้นจากโคลนที่สูงเท่าเอว แล้วส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ที่ถูกส่งมาหลายสิบลำสำหรับปฏิบัติการกู้ภัย เนื่องจากการสัญจรทางบกถูกตัดขาด
ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงกลาโหม, เหมืองแร่ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัย ประสานความร่วมมือจัดการกับภัยพิบัติครั้งนี้ โดยโบลโซนาโรและรัฐมนตรีกลาโหมเตรียมลงพื้นที่ในวันเสาร์
ฟาบิโอ ชวาร์ตส์มาน ซีอีโอของวาเล กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "โศกนาฏกรรมของมนุษย์" และยอมรับว่าอาจมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก เขาแถลงด้วยว่า เขื่อนนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการยกเลิกดำเนินการ แต่เขื่อนแตกอย่างรุนแรงและรวดเร็วมาก เขื่อนนี้กักเก็บหางแร่หรือกากแร่เหล็กปะปนกับน้ำ ซึ่งเอ่อล้นเข้าไปเขื่อนอีกเขื่อนหนึ่ง
ด้านกลุ่มกรีนพีซของบราซิลกล่าวว่า เหตุการณ์เขื่อนแตกครั้งนี้เป็นผลพวงอันน่าเศร้าของบทเรียนที่รัฐบาลบราซิลและบริษัทเหมืองแร่ไม่ยอมเรียนรู้ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการสอบสวน, ลงโทษ และชดเชย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |