'ปั่นไปไม่ทิ้งกัน' กับคนพิการ


เพิ่มเพื่อน    

        เมื่อต้นสัปดาห์..............

                "ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์" แวะมาเยี่ยม

                จะออกไปรับ

                แต่ท่านใช้ไม้เท้าคลำทางขึ้นบันไดมาแล้ว ผมกราบขอโทษและเรียนท่านว่า

                "จะใช้อะไรผม ให้เด็กนำความมาก็ได้ครับ อาจารย์ไม่ต้องลำบากมาด้วยตัวเองหรอก"

                ท่านก็บอกไม่เป็นไร อยากมาเยี่ยมด้วย

                แต่เมื่ออาจารย์มา ไทยโพสต์ที่ซอมมะซ่อ ดูจะสว่างด้วยรอยยิ้มท่าน

                และตลอดเวลาที่คุยกันร่วมชั่วโมง ไม่มีตอนไหนที่ใบหน้าท่านจะขาดรอยยิ้ม

                ผมมองเห็นท่าน...........

                แต่ท่านไม่เห็นผม เพราะตาท่าน "พิการ" ทั้งสองข้างด้วยอุบัติเหตุ ตั้งแต่เด็ก!

                อาจารย์บอก มีของมาฝาก เป็นชะลอมใบย่อมน่ารัก ในนั้น มีจิ้งหรีดทอดสมุนไพร "ยิ้มสู้" ๒ ถุง  น้ำพริกเผาเห็ด "ยิ้มสู้" ๑ ขวด และลำไยอบแห้ง "ยิ้มสู้" ๑ กระป๋อง

                "ผลิตภัณฑ์ของ 'ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน' ที่เชียงดาว เชียงใหม่น่ะ ศูนย์นี้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการครบวงจรต้นแบบระดับภูมิภาคที่ 'มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ' ริเริ่มขึ้น ผมเป็นประธานอยู่ ทำโครงการนี้ เพื่อเปลี่ยนภาระสังคมเป็นพลัง ด้วยการสร้างอาชีพให้คนพิการ"

                "จิ้งหรีดทอด" แหล่งโปรตีนโลกชนิดใหม่ บอกตรงๆ เคยจับจิ้งหรีดกัดกัน แต่ไม่เคยกินจิ้งหรีดมาก่อน (แต่ชิมแล้ว ทีเดียวหมดถุง) ดูเหมือนอาจารย์เดาความคิดผมได้ อธิบายว่า

                "นี่เป็นสินค้าตัวท็อปของศูนย์เลยเชียวนะ ผลิตไม่ทันขาย ที่ศูนย์ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะมาฝึกอบรม แนะแนวการเลี้ยง การปลูก การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ ตอนนี้ ฝึกอบรมคนพิการไปแล้วกว่า ๔๐๐ ราย"

                ฟังแล้วก็ทึ่ง...........

                ในขณะที่คนอาการครบ ๓๒ ร้องไม่มีงานทำ (ไม่ทำงานมากกว่า)

                แต่คนพิการกลับมานะสู้ แปลงความพิการเป็นพลังให้โลกอิจฉา เริ่มจากอุตสาหกรรมย่อมๆ สร้างตัวเอง ด้วยวัตถุดิบพื้นถิ่น ด้วยน้ำมือตัวเอง      

                คนพิการ นั่งเก้าอี้เข็น..........

                แทนที่จะนั่งแบบเปลืองลมหายใจ กลับเลี้ยงจิ้งหรีดบ้าง เพาะเห็ดบ้าง กลายเป็นสินค้า "ทำไม่ทันขาย" ที่ผู้จัดจำหน่ายหลายเจ้ารุมจอง

                อาจารย์บอก แรกๆ เกรงจะบาป แต่พอดูๆ จิ้งหรีดมาจากไข่ ไม่กี่วันตายเอง ฉะนั้น เอามาเป็นอาหาร ประโยชน์น่าจะคุ้มบาป ไม่ต่างจากกินไข่เป็ด-ไข่ไก่

                "ยิ้มสู้นี่ เป็นแบรนด์ใช่ไหมอาจารย์?" ผมถาม

                อาจารย์เติมหัวเราะในรอยยิ้ม และเล่าว่า

                "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเมตตาคนตาบอดและทรงพระราชนิพนธ์เพลงยิ้มสู้ เพื่อให้กำลังใจกับคนตาบอดได้ต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ด้วยการยิ้มสู้ ทำให้คนตาบอดมีกำลังใจยิ้มสู้กับปัญหาต่างๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิตกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผมด้วย"

                ครับ นี่แหละ ที่มา........

                พบอาจารย์วิริยะที่ไหน จะเห็นคำ "ยิ้มสู้" บ้าง "Yimsoo ยิ้มสู้ ผลิตภัณฑ์คุณภาพของคนพิการ" ใต้รูปอาจารย์สวมหมวกคาวบอยเท่ๆ บ้าง เป็นตราประทับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด

                ที่เล่ามาทั้งหมด บอกเพียงว่า "อาจารย์วิริยะ" คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ออกว่า ใคร..คนไหนหรือ?

                อาจารย์วิริยะ คือ ผู้พิการทางตา ที่เคยเห็นบทบาทในจอโทรทัศน์บ่อยๆ ตอนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั่นไง

                ท่านพบอุบัติเหตุ ตาพิการ คือบอดสองข้างแต่เด็ก แต่สามารถเรียนที่เซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญ  และต่อกฎหมายระดับมหาบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์

                โทที่ฮาวาร์ด สหรัฐฯ เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ ถึงระดับศาสตราจารย์ และเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม

                ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง "มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ" ขณะนี้ มีคนพิการที่ต้องดูแลกว่า ๒ ล้านคน!

                ก็มาถึงประเด็นที่อาจารย์ต้องมา คือท่านบอกว่า ท่านจะจัดงาน

                "ปั่นไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2"

                ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ "คนตาบอด" ปั่นจักรยาน ระยะทาง ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ๑๕ จังหวัด หาทุนก่อสร้าง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน" อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้แล้วเสร็จ

                ใช้เป็นต้นแบบศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการครบวงจรระดับภูมิภาค ช่วยเหลือคนพิการให้ก้าวผ่านจากจน เป็นคนอาชีพมั่นคงและยั่งยืน

                เมื่อปี ๒๕๖๑ จัดมาแล้วครั้งหนึ่ง หาทุนสร้างศูนย์นี้ที่เชียงดาวนั่นแหละ ซึ่งต้องใช้งบ ๑๕๐ ล้าน

                ครั้งนั้น ได้เงินบริจาคไป ๓๒ ล้าน

                ยังขาดอยู่ ๑๑๘ ล้าน

                จึงต้องจัด "ปั่นไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2" ขึ้น ระหว่าง ๙-๒๒ กุมภานี้ รวม ๑๔ วัน พันห้าร้อยกิโลเมตร

                มีเป้าหมายว่า ได้เงินแล้ว นอกจากใช้สร้างศูนย์ที่เชียงดาวให้เสร็จ

                ยังจะสร้าง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน" เพิ่มอีก ๑ แห่ง ที่นครชัยศรี นครปฐม ให้คนพิการในภาคกลางได้ฝึกทักษะอาชีพ

                ๑๕ จังหวัด ๑,๕๐๐ กม.ที่จะปั่น ก็ผ่านที่ กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-สระแก้ว-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา-ลพบุรี-สระบุรี-อยุธยา-ปทุมธานี-สุพรรณบุรี และนครปฐม

                ๙ กุมภาพันธ์............

                วันเปิดโครงการ "ปั่นไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2"

                "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา" เสด็จไปทรงเป็นประธาน

                และทรงนำร่วมปั่นจักรยาน จากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงสมุทรปราการ ระยะทาง ๕๐ กม.

                นี่แหละครับ........

                อาจารย์วิริยะบอกว่า นอกจากชวนร่วมปั่นด้วยกันแล้ว ยังขอเชิญชวนให้ร่วมบริจาคสนับสนุนโครงการนี้ ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งผ่านเส้นทางการปั่นแต่ละจังหวัด

                โอนเข้าบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า ชื่อบัญชีมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เลขที่บัญชี ๑๖๒-๓-๐๗๗๙๗-๙

                หรือ กดหมายเลข *948*6666*100# แล้วโทร.ออก สำหรับบริจาค ๑๐๐ บาท

                (เครือข่าย AIS/CAT/DTAC/TrueMoveH)

                โครงการนี้ จะมีคนตาบอด ๒๐ ท่าน อาสาสมัคร ๒๐ ท่าน ร่วมปั่นตลอด ๑๕ จังหวัด ๑,๕๐๐  กิโลเมตร

                ฟังอาจารย์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการเพื่อคนพิการแล้ว ก็นึกถึง

                "ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์".......

                ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่ารัฐบาลห่วงคนพิการและคนสูงอายุมาก

                ถึงขั้น "พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ" รองนายกฯ ในฐานะประธานบอร์ด สสส.

                ลงไปดูโครงการ "พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ชุมชนร่วมใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ที่ สสส.ตั้งขึ้น ด้วยตัวท่านเอง

                ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ (ศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์) อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

                โครงการนี้ เป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายคนพิการและพัฒนาศูนย์เรียนรู้คนพิการด้วย "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

                สสส.ทำร่วมกับ "มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิต"

                ผมดูแล้ว รูปแบบ วิธีการ เป้าหมาย ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ "กับโครงการเพื่อยกระดับชีวิตคนพิการศูนย์ล้อไม้" ของ สสส.นี้ ไปในแนวทางเดียวกัน

                ยิ่งท่านรองนายกฯ "พลเอกฉัตรชัย" มีแนวคิดถึงขั้น จะจัดงานแสดงศักยภาพคนพิการระดับโลกขึ้นในเมืองไทย ผมคิดว่า

                ในเป้าหมาย "เพื่อคนพิการ".....

                ถ้าประสานแผน-ประสานงานระหว่างมูลนิธิอาจารย์วิริยะกับ สสส.ผมว่า โครงการเพื่อสร้างศักยภาพให้คนพิการ จะเกิดรูปธรรมเข้มแข็งทันตาเห็นทีเดียว

                ท่านรองนายกฯ ฉัตรชัยครับ....

                เพื่อสร้างกุศลให้คนพิการ ช่วยโอบเอื้องานนี้สักหน่อยเถอะครับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"