กองทัพเวเนซุเอลาออกโรงค้ำยัน 'มาดูโร' ประธานาธิบดีโดยชอบด้วยกฎหมาย


เพิ่มเพื่อน    

บรรดาผู้นำเหล่าทัพของเวเนซุเอลาตบเท้าประกาศยังสนับสนุนประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ที่โดนประธานสภาจากฝ่ายค้านลูบคมด้วยการตั้งตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการโดยได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐและชาติพันธมิตร ขณะรัฐบาลฝ่ายซ้ายเวเนซุเอลาสั่งปิดสถานทูตในสหรัฐและเรียกนักการทูตทั้งหมดกลับประเทศแล้ว

รัฐมนตรีกลาโหมวลาดิมีร์ ปาดริโน โลเปซ (กลาง) แถลงแสดงความภักดีต่อประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร พร้อมกับบรรดานายพลระดับผู้บัญชาการกองทัพ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 / AFP

    สถานการณ์วุ่นวายรอบล่าสุดในเวเนซุเอลาเริ่มต้นตั้งแต่วันจันทร์ เมื่อทหารกลุ่มหนึ่งก่อกำเริบด้วยการบุกยึดศูนย์บัญชาการในเมืองหลวง แต่ความพยายามปฏิวัติล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ผู้ก่อเหตุ 27 รายโดนจับกุม วันต่อมาประชาชนได้พากันแสดงพลังประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายวัย 56 ปีรายนี้ แต่โดนตำรวจปราบจลาจลสลายการชุมนุม รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคมว่า เหตุการณ์รุนแรงและการปะทะกันช่วง 4 วันที่ผ่านมาทำให้มีคนเสียชีวิตแล้ว 26 คน

    การประท้วงถึงจุดสุกงอมเมื่อวันพุธ เมื่อฮวน ไกวโด ประธานสมัชชาแห่งชาติวัย 35 ปี ประกาศต่อหน้าผู้ชุมนุมนับแสนคนว่า เขาคือประธานาธิบดีรักษาการของประเทศนี้ คำประกาศของเขาได้รับการตอบรับอย่างว่องไวทั้งจากสหรัฐ, อังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส ที่อ้างว่ามาดูโรไม่มีความชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงจากหลายชาติในลาตินอเมริกา อาทิ บราซิล, อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย

    ด้านมาดูโรยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายในภูมิภาคนี้ ทั้งเม็กซิโก, คิวบา และโบลิเวีย รวมถึงจากมหาอำนาจที่ค้ำชูเขาทั้งรัสเซียและจีน ซึ่งประณาม "การแทรกแซง" จากภายนอก

    มาดูโรชนะการเลือกตั้งอีกสมัยเมื่อกลางปีที่แล้วในการเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านบอยคอตและนานาชาติโจมตีว่าไม่น่าเชื่อถือ แต่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของเขายังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพซึ่งทรงอิทธิพลอย่างมากในประเทศนี้ ทำให้สามารถทนทานกระแสต่อต้านทั้งจากภายนอกและภายใน โดยเฉพาะความไม่พอใจต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ประชาชน 2.3 ล้านคนหนีออกนอกประเทศนับแต่ปี 2558 และภาวะเงินเฟ้อที่ทำนายกันว่าจะสูงถึง 10 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้

    เมื่อวันพฤหัสบดี วลาดิมีร์ ปาดริโน โลเปซ รัฐมนตรีกลาโหม พร้อมด้วยนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพต่างๆ 8 นาย ประกาศแสดงความจงรักภักดีและยอมรับการบังคับบัญชาของมาดูโรซึ่งเป็น "ประธานาธิบดีที่ชอบด้วยกฎหมาย" และปฏิญาณว่าจะปกป้องรัฐบาลของเขาจากการ "ก่อรัฐประหาร"

    นอกจากนี้ ศาลสูงสุดของประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ที่ภักดีต่อมาดูโร ก็ย้ำเช่นกันว่า ศาลยังคงซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของมาดูโร

ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ร่วมพิธีเปิดสมัยการพิจารณาคดีประจำปี ที่ศาลยุติธรรมสูงสุด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 / AFP

    ด้านไกวโดได้ให้สัมภาษณ์ยูนิวิชันผ่านทางสไกป์ว่า เขาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเสนอนิรโทษกรรมให้มาดูโรด้วย แบบเดียวกับพวกเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่แปรพักตร์มาเข้าร่วมการถ่ายโอนอำนาจ แต่เขายังต้องประเมินก่อนว่ามาดูโรรับผิดชอบต่อการตายของผู้ประท้วงหรือไม่

    ที่กรุงวอชิงตัน ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ไม่ใช่เวลาที่จะมาโต้เถียงกันอีกแล้ว พร้อมเตือนมาดูโรว่าอย่าได้ใช้กำลังกับผู้ชุมนุม

    มาดูโรออกคำสั่งเมื่อวันพุธให้นักการทูตสหรัฐออกนอกประเทศภายใน 72 ชั่วโมง และวันต่อมาเขาสั่งปิดสถานกงสุลและสถานทูต พร้อมเรียกนักการทูตเวเนซุเอลาทั้งหมดในสหรัฐกลับประเทศ ขณะที่สหรัฐไม่ทำตามคำสั่งของเขา โดยอ้างว่าจะรักษาสัมพันธ์กับรัฐบาลของประธานาธิบดีรักษาการต่อไป แต่ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่สำคัญออกจากเวเนซุเอลา

    ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ปิดบังเรื่องการพิจารณาแทรกแซงทางทหาร โดยกล่าวว่า ยังคงทางเลือกทุกทางไว้ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าทรัมป์อาจเลือกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ สหรัฐเป็นผู้ซื้อน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของเวเนซุเอลา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"