25 ม.ค. 62-กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานแถลงข่าว “วิกฤตมลพิษ PM 2.5: ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” โดย นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยล่าสุดปี 2561 พบว่า พื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM 2.5 คือ 1.ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2.ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 3.ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 4.ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 5.ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 6.ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 7. ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 8.ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 9.ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ 10.ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี
" พื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญมลพิษ PM 2.5 ใน 10 อันดับแรก พบว่า มีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ระหว่าง 19-68 วัน เทียบกับข้อแนะนำองค์การอนามัยโลกที่ระบุไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. มากกว่า 3 วัน ในช่วง 1 ปี จะเห็นได้ว่า คนในเมืองต้องเสี่ยงกับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า จะเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขขยายวงกว้างมากขึ้น
" เป็นเพราะไม่ยอมรับวิกฤต รัฐบาลจึงล้มเหลวแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดของ WHO กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกร่างมาตรฐานใหม่ของ PM 2.5 ในบรรยากาศ ขอให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับค่าเฉลี่ย 24 ชม. เป็น 35 มคก./ลบ.ม. จาก 50 มคก./ลบ.ม. รวมถึงค่าเฉลี่ย 1 ปี เป็น 12 มค./ลบ.ม. ภายในปี 2562 นี้ เพื่อเป็นตั้งเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่ทำได้เลยวันนี้ พรุ่งนี้ รวมถึงตรวจวัดและรายงาน PM 2.5 และปรอทที่ปลายปล่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงรัฐต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการหัวกะทิร่วมแก้ปัญหา หาทางออกใหม่ที่ต่างจากแผนปฏิบัติการเดิมในอดีต " นายธารา กล่าว
ด้าน ผศ. ดร. อริศรา เจริญปัญญาเนตร จากศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ปี 2559-2561 โดยใช้ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ของ WHO ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. พบว่า ปี 59 ค่าความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 ในไทยและเพื่อนบ้านอยู่ในระดับมลพิษสูงกินพื้นที่กว้าง แต่สูงที่สุด คือ ลาว ร้อยละ 95 ของพื้นที่ประเทศ รองลงมา กัมพูชา ไทย และเมียนมา ส่วนปี 60 แม้สถานการณ์ฝุ่นพิษคลี่คลายขึ้น แต่ในไทยกลับรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 32 ของพื้นที่
" ส่วนมลพิษฝุ่น PM 2.5 ปี 61 พบว่าไทยสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจากปี 60 ครองอันดับ 1 ฝุ่นพิษปกคลุมร้อยละ 60 ของพื้นที่ รองลงมาเป็นกัมพูชา ลาว เมียนมา รายงานนี้ยังวิเคราะห์ความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปลายมกราคมถึงกลางพฤษภาคมของทุกปีมักพบค่าฝุ่นเพิ่มสูงในภาคเหนือ แต่หากดูข้อมูลภาคกลางและกรุงเทพมหานครฝุ่น PM 2.5 คลุมตลอดทั้งปี แต่คนกรุงหลงลืมไป จากรายงานยังสะท้อนแม้ช่วงประกาศห้ามเผา พบจุดความร้อนสะสมในไทยนับพันจุด ถ้ารวมเพื่อนบ้าน พบเกือบ 3 หมื่นจุด ปัญหาหมอกควันคลุมเมืองจะแก้ไขไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตอนนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว " ผศ.ดร.อิศรา กล่าว
ผศ.ดร.อิศรา กล่าวด้วยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดจากการเผาในที่โล่ง มีการวิเคราะห์ข้อมูลวันที่ 11-17 ม.ค.ที่ผ่านมา พบจุดสะสมความร้อน หรือ Hot Spot ที่กัมพูชาเยอะมาก ประกอบกับมีลมประจำถิ่นพัดจากตะวันออกมาตะวันตก นำพาควันมาปกคลุมกรุงเทพฯ นอกจากนี้ มีปัญหาฝุ่นพิษภาคคมนาคมขนส่งที่ส่งผลให้รุนแรงขึ้นไปอีก
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแก้วิกฤตฝุ่น จะต้องยอมรับว่ามีปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นความเสี่ยงแบบไม่เต็มใจยอมรับ เกิดผลเสียต่อประเทศ เพราะมีข้อมูลการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในไทยเป็นอันดับ 4 เราถูกยัดเยียดความตาย นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่เคยทำฐานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ ขาดการวางแผนการประเมินมลพิษสะสมและศักยภาพของธรรมชาติในการรองรับมลพิษในไทย ไม่มีกฎหมายควบคุมฝุ่น PM 2.5 ที่ดีพอ ปัญหาต้องแก้ด้วยการป้องกันระยะยาว และเป็นระบบ
" การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นแค่ความพยายามเอาตัวรอดเท่านั้น พ่นน้ำ แจกหน้ากาก ตรวจจับควันดำ ธนาคารโลกรายงานข้อมูลการเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ในไทยอยู่ที่ 50 คนต่อ 1 แสนคน จีดีพีของประเทศติดลบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากร นี่คือ ความเสียหายของประเทศจากฝุ่นพิษ " ผศ.ดร.ธนพล กล่าว
ผศ.ดร.ธนพล กล่าวต่อว่า มีบทเรียนประเทศต่างๆ เผชิญปัญหาฝุ่นมาก่อน แต่ก็สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน ที่สหรัฐฯ หลังเกิดหมวกควันได้ใช้หลักจัดการพื้นที่ที่ไม่สามารถให้อากาศที่ดีแก่ประชาชนนั้น ก่อนอนุมัติโครงการใดๆ ในอีไอเอและอีเอชไอเอต้องมีแนวทางป้องกัน คำนึงถึงมลพิษจากแหล่งกำเนิด ช่วยป้องกัน PM 2.5 ตั้งแต่ขั้นอนุญาติโครงการ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้ามีโครงการคอนโดมากมาย ซึ่งอาคารสูงทำให้การระบายมลพิษได้ยาก
" ปัจจุบันเทคโนโลยีมีจัดการแหล่งกำเนิดดีกว่าโปรยน้ำ ไล่จับฝุ่นในอากาศทีหลัง เรามีแบบจำลองมลพิษทางอากาศสามารถประเมินศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษได้ เพื่อลดมลพิษใหม่เพิ่มเติมจากแหล่งเดิม เรียกร้องให้ประเทศไทยใช้มาตรการเชิงรุกมากกว่าขอความร่วมมือ ต้องผลักดันกฎหมายบังคับใช้ ทั้งปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ลดการเจ็บป่วย มีกฎหมายค่ามาตรฐานปลดปล่อย PM 2.5 จากปลายปล่องโรงงานและรถยนต์ เร่งทำทำเนียบการปล่อย PM 2.5 หากเกินค่ามาตรฐานจะสามารถจัดการได้ถูกจุด ในสหรัฐและอังกฤษหลังใช้กฎหมายเข้มข้นผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอากาศไม่ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศต่างจากจีนมีคนกระทบเกือบ 100% แต่จีนก็ไม่นิ่งเฉย ปี 2561 ออกกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ ต้องลดฝุ่น PM 2.5 ร้อยละ 18 และมีวันอากาศดีอย่างน้อยร้อยละ 80 คำถามคือ กรุงเทพฯ คุณภาพอากาศจะเป็นอย่างไรใน 2 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดันกฎหมาย ออกแบบอนาคตของประเทศ " ผศ.ดร.ธนพล กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |