ประมาณกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ เป็นระยะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับการคุกคามของมหาอำนาจที่กำลังแสวงหาอาณานิคมอยู่ในขณะนั้น ที่สำคัญคืออังกฤษและฝรั่งเศส ประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการคุกคามนั้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกรุนแรงแข็งกล้ายิ่งกว่าสมัยใดๆ มหาอำนาจตะวันตกที่คอยคุกคามไทยทางด้านตะวันออกคือ ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน จนได้ครอบครองญวนทั้งประเทศ รวมทั้งเขมรส่วนนอกทั้งหมดด้วย แต่ความต้องการของฝรั่งเศสมิได้หยุดเพียงแค่นั้น ฝรั่งเศสยังต้องการครอบครองดินแดนที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีดินแดนบางส่วนอยู่ใต้ความปกครองของไทย การขยายตัวของฝรั่งเศสจึงสร้างปัญหาให้กับฝ่ายไทยตลอดมา โดยเฉพาะความพยายามของฝรั่งเศสที่จะเข้ามาแทรกแซงในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในระยะแรกฝรั่งเศสดำเนินการแทรกแซงโดยวิธีการทูต แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จจึงใช้นโยบายเรือปืนข่มขู่ไทยในบริเวณปากน้ำ ในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติกาลที่เรียกว่า "วิกฤติกาล ร.ศ. ๑๑๒" เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ผลของการปะทะกัน ปรากฏว่าฝ่ายไทยยอมจำนนและทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
ตามสัญญาและอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ นี้ นอกจากไทยจะต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียค่าปรับเป็นจำนวนมากแล้ว ฝรั่งเศสยังได้ยึดจันทบุรีไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตามอนุสัญญาข้อ ๖ ซึ่งระบุไว้ว่าฝรั่งเศสจะยึดจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาและอนุสัญญาดังกล่าวครบถ้วนและจนกว่าจะเกิดความสงบเรียบร้อยทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในระยะ ๒๕ กิโลเมตร
ภาพทหารฝรั่งเศสฉุดลากสาวชาวสยามในลักษณะบังคับข่มขืนใจในขณะที่แก้ตัวแบบขอไปทีกับทหารอังกฤษ บ่งบอกนัยของการเป็นต่อเหนือคู่แข่งของตน (ภาพจาก PUNCH, 29 July 1893)
การยึดครองจันทบุรีของกองทหารฝรั่งเศสนั้นไม่ได้ยึดทั้งเมือง แต่จะยึดเฉพาะบริเวณอันเป็นที่ตั้งของกองทหาร คือที่ค่ายทหารในเมืองจันทบุรีกับค่ายทหารที่ปากน้ำแหลมสิงห์ ฝรั่งเศสได้เข้ายึดตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๓๖ เป็นต้นมา จนกระทั่งได้ถอนออกไปเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๔๗ ภายหลังจากลงนามในอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ในระหว่างการยึดครองฝ่ายฝรั่งเศสได้ก่อสร้างที่พักนายทหารและพลทหารไว้ทั้งในเมืองจันทบุรีและที่ปากน้ำแหลมสิงห์เป็นจำนวนหลายหลัง และเป็นตัวตึกค่อนข้างถาวร ซึ่งยังคงมีหลักฐานอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ภายในบริเวณค่ายทหารจะมีร้านจำหน่ายสินค้าซึ่งลำเลียงสินค้ามาจากไซ่ง่อน และที่ปากน้ำจะมีกองทหารฝรั่งเศสคอยตั้งด่านตรวจเรือเมล์และเรือใบที่ผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมเตรียมระวังป้องกันภัยอยู่เสมอ
ทางฝ่ายไทยจะมีอิสระในการปกครองเขตแดนที่อยู่นอกเหนือจากการยึดครองของกองทหารฝรั่งเศส ความเป็นอยู่ของชาวจันทบุรีในระยะนี้ดีกว่าสมัยก่อน ทั้งนี้เพราะมีการค้าขายอาหารและสิ่งของต่างๆ ให้กองทหารฝรั่งเศส สภาพเศรษฐกิจคล่องตัว การเงินดี จนมีผู้กล่าวว่า "ชาวเมืองจันทบุรีในยุคนั้นพากันฟุ่มเฟือยรุ่มรวยไปตามกัน" นอกจากจะดำเนินธุรกิจในด้านการค้าสิ่งของแล้ว ยังมีการค้าหญิงโสเภณีอีกด้วย ซึ่งปรากฏว่าทำรายได้ให้เจ้าของเป็นจำนวนมาก และเมื่อกองทหารฝรั่งเศสยกออกไปจากจันทบุรีสร้างความเสียดายให้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวจันทบุรีในสมัยนั้นมาก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซาลงไป
อย่างไรก็ตาม การที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ามาตั้งอยู่ในจันทบุรีก็สร้างปัญหาหลายประการให้กับฝ่ายปกครองของไทย เช่น ปัญหากรณีพิพาทต่างๆ อันเกิดจากคนในบังคับฝรั่งเศส ปัญหาเรื่องการหลบหนีภาษี และที่สำคัญคือปัญหาอั้งยี่กำเริบซึ่งนับว่าสำคัญมากในสมัยนั้น เพราะพวกนี้มักจะคอยข่มขู่ประชาชน พลเมืองอยู่เสมอ สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวจันทบุรีในยุคนั้นอย่างมาก แต่ในที่สุดด้วยความร่วมมือจากฝ่ายกองทหารฝรั่งเศส ฝ่ายปกครองไทยก็สามารถปราบพวกอั้งยี่ให้สงบลงไปได้
แม่ทัพฝรั่งเศสบีบคั้นให้เจ้ากรุงสยามลงพระนามในสนธิสัญญา ร.ศ.๑๑๒ (Treaty) ยกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งสหภาพอินโดจีน (ภาพขยายใหญ่จาก PUNCH, 14 October 1893)
เนื่องจากเมืองจันทบุรีเป็นเมืองท่าสำคัญในทางยุทธศาสตร์ที่ควบคุมอ่าวไทยทางด้านตะวันออก ซึ่งเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของกรุงเทพฯ ด้วย ไทยจึงพยายามเสนอที่จะให้มีการเจรจาเพื่อถอนทหารออกไปจากจันทบุรี แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็พยายามหน่วงเหนี่ยวอยู่ตลอดเวลาเพื่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้เริ่มอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๔๒ ถึงต้น พ.ศ.๒๔๔๓ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การเจรจาครั้งต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๕ สามารถยุติลงได้โดยไทยยอมยกเมืองมโนไพร จำปาศักดิ์ และหลวงพระบางให้กับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไปจากจันทบุรี ตามอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๔๕ เนื่องจากสัญญาฉบับนี้ไม่ได้นำเสนอสู่รัฐสภาเพื่อให้สัตยาบัน จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย จนกระทั่งถึงการเจรจาครั้งสุดท้าย การเจรจาครั้งนี้ ไทยได้ว่าจ้างนายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล นักกฎหมายชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษา ประกอบกับขณะนั้นเกิดสงครามในตะวันออกไกลระหว่างรุสเซียกับญี่ปุ่น ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรกับรุสเซียเกรงว่าจะถูกดึงเข้าสู่สงครามจึงรีบลงนามในอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖
ผลของสนธิสัญญาฉบับนี้ ฝรั่งเศสจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่จะไปยึดตราดและด่านซ้ายแทนตามพิธีสารฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๔๗ ทหารฝรั่งเศสจึงได้ถอนทหารออกไปจากจันทบุรี จันทบุรีจึงกลับมาเป็นของไทยอีกครั้งหนึ่งแต่นั้นมา
ในมุมมองของฝรั่งเศสมองเห็นถึงความสำคัญของเมืองจันทบุรี ในทางการเมืองจันทบุรีเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านในการติดต่อกับดินแดนเขมรซึ่งเป็นดินแดนที่ฝรั่งเศสหวังที่จะเข้าไปครอบครอง เป็นที่ที่เหมาะสมในการตั้งมั่นกำลังพล มีพืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะเลี้ยงกองทหาร
อีกทั้งฝรั่งเศสได้สร้างป้อมปราการและสิ่งก่อสร้างในรูปแบบของศูนย์บัญชาการไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งจันทบุรียังเป็นเส้นทางกึ่งกลางระหว่างกรุงเทพกับไซ่ง่อน หากฝรั่งเศสคาดหวังจะเข้ายึดครองดินแดนอินโดจีนการยึดเมืองจันทบุรีได้นั้นจะช่วยทำให้การควบคุมเมืองต่างๆ หรือการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีนทำได้สะดวกมากขึ้น
เรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านพระสมุทรเจดีย์ที่ปากน้ำในลักษณะข่มขู่ด้วยนโยบายเรือปืน มากกว่าเจตนาที่จะบุกเข้ามาทำสงครามโดยตรงกับไทย (ภาพจาก Le Petit Parisien, 6 Aout 1893)
ทำเลที่ตั้งที่อยู่ติดทะเล ทำให้สามารถเป็นเมืองท่าที่ช่วยในการควบคุมเศรษฐกิจในดินแดนอินโดจีนได้ นอกจากนี้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการค้าขายอัญมณีและสินค้าต่างๆ ดังที่ฝรั่งเศสได้บันทึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองจันทบุรีมาโดยตลอดว่า จันทบุรีมีสินค้าที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก อีกทั้งยังสามารถเป็นศูนย์กลางการประมงทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดได้ มีไม้เนื้อแข็งที่เหมาะในการต่อและซ่อมเรือ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจันทบุรีจะมีทรัพยากรอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนว่าการยึดครองของฝรั่งเศสนั้นยังไม่ได้ตักตวงผลประโยชน์จากจันทบุรีได้อย่างเต็มที่ ดังที่ชาร์ล เลอเมียร์ (Charles Lemire) ได้บันทึกไว้ใน ค.ศ.1902 ว่า
"พวกเราไม่ได้ตักตวงผลประโยชน์ใดๆ จากการยึดครองนี้เลย ทั้งด้านทรัพยากร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งๆ ที่ทหารของเราอยู่ที่นั่น และเราไม่ได้คิดที่จะพัฒนาให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด"
ในทัศนะฝรั่งเศสมองว่าต้องการยึดจันทบุรีเพื่อไว้เป็นเครื่องมือต่อรองและการันตีการปฏิบัติตามข้อสัญญาของฝ่ายสยามโดยจริงจัง ไม่ได้คำนึงถึงการหาผลประโยชน์จากดินแดนดังกล่าวมากเท่าใดนัก
ทางด้านสังคมชุมชนในจันทบุรีมีชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาอย่างยาวนาน ซึ่งฝรั่งเศสถือว่าจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ทางภาคตะวันออก จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เมื่อเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลสยาม รัฐบาลฝรั่งเศสเลือกที่จะยึดจันทบุรีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองและเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ การยึดครองที่ยาวนานถึง 11 ปี ทำให้ในจันทบุรีมีมรดกทางวัฒนธรรมรวมถึงสิ่งก่อสร้างเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน.
ทหารพื้นเมืองชาวญวนในกองทัพฝรั่งเศส ถูกเกณฑ์มาใช้งานใน ร.ศ.๑๑๒
-------------
อ้างอิง: การยึดครองจันทบุรีในทัศนะของฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: พวงเพชร สุรัตนกวีกุล, การยึดครองจันทบุรีในทัศนะของฝรั่งเศส: ณัฐพร ไทยจงรักษ์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |