25ม.ค.62- ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีกกต.ให้ใช้หลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ( 2559-2561) เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ว่า กกต.ได้พูดคุยกันแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมายซึ่งเรามีข้อกังวล แต่เนื่องจากกฎหมายนี้กำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร จึงมีมติว่าหลักฐานภาษีที่จะใช้ต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559 ,2560และ 2561 ซึ่งการเสียภาษีของปี 2561ทางกรมสรรพากรให้เสียภาษีตั้งแต่ 1ม.ค.- 31 มี.ค. 62
"ดังนั้นผู้ที่จะสมัครสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว และขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมายื่นสมัคร ส่วนที่มีบางคนอาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครต่อกกต.ก่อน แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ภายหลังต่อกรมสรรพากร อย่างไรก็ตามการเสนอให้กกต.ผ่อนผันเกณฑ์ดักล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่กฎหมาย"
เลขาธิการกกต.กล่าวถึง การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ว่า ขณะนี้ใครที่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ ก็ไม่ต้องลบแอคเคาท์ โดยสามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัครแต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ระเบียบกกต.ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอคเคาท์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อกกต.จะคำนวณเป็นค่าใช่จ่ายในการหาเสียง
"ยืนยันว่ากกต.ให้อิสระเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐาน ตอนนี้กกต.ได้ประสานกับทุกมีเดีย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ไปหารือกับผู้บริหารกูเกิ้ลเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ประจำประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย"
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครพรรคการเมืองตำหนิกกต.ล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงว่า กกต.กำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครจึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย และผู้ช่วยหาเสียง เช่นกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 10ของจำนวนเขตที่ส่งสมัคร เรื่องการหาเสียงสามารถดำเนินการได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายซึ่งเริ่มนับแล้ว
ส่วนความคืบหน้าถึงการจัดทำบัตรเลือกตั้ง เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ในส่วนนี้มีการจัดงบประมาณสำหรับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ในเว็ปไซด์ของกกต. แต่ยังไม่มีการทำสัญญจัดจ้าง เพราะการดำเนินการจะต้องเริ่มเมื่อปิดรับสมัคร ซึ่งจะรู้จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต เลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบของบัตรจะมีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อและโลโก้พรรค เนื่องจากอยู่ในระเบียบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนบัตรในแต่ละเขตจะมีกี่หมายเลขยังไม่สามารถตอบได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามจำนวนพรรคที่ส่งสมัครในเขตนั้นๆ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมืองในระบบจำนวน 105 พรรค แต่ถึงเวลาปิดรับสมัครจะมีกี่พรรคไม่สามารถตอบได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |