เยาวชนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในการป้องกันตัวเองเรื่องเพศและการตั้งครรภ์
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่ประเทศไทยจะเปิดประชุมใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นกับงานประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 นับเป็นโอกาสสำคัญที่รวบรวมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเยาวชนที่ทำงานด้านสุขภาวะทางเพศมาร่วมแชร์ความรู้ ประสบการณ์ และถ่ายทอดเรื่องราวที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคยเกิดขึ้นจริงในไทย
ปีนี้หัวข้อหลัก คือ “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน " ใช้ขับเคลื่อนการประชุมสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค. 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ หน่วยงานที่ร่วมจัด ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ. )กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ยูนิเซฟประเทศไทย มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง นอกจากนั้น ยังมีภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการจัดประชุม
สำหรับเส้นทางการจัดประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ เริ่มจากสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงปี 2551-2555 สถิติแม่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้ได้เกาะกินอนาคตอันสดใสของเด็กไทย ปี 2555 มีวัยรุ่นที่เป็นแม่ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี สูงถึงวันละ 350 คน หรือ 1.3 แสนคนต่อปี
ประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 เวทีป้องกันท้องในวัยรุ่น
เหตุนี้ ปี 2555 สสส.ร่วมกับหลายหน่วยงานเริ่มทำงานทั้งด้านการประมวลความรู้ บูรณาการทำงานร่วมระหว่างต่างหน่วยงาน และสนับสนุนการพัฒนาโมเดลเรื่องท้องวัยรุ่นในระดับจังหวัดขึ้น 20 จังหวัด จนสามารถรวบรวมบทเรียนและชุดความรู้จากการทำงานนำมาใช้ขับเคลื่อนระดับนโยบาย
จากนั้น ปี 2557 สสส. ร่วมกับหน่วยงานหลักและภาคีจัดประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งแรกขึ้น ชูประเด็น “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เพื่อกระตุกให้ทุกฝ่ายในสังคมได้รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้ สสส. และ สธ. ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง สามารถขับเคลื่อนผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่ง สนช. สนับสนุนและผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้เดือน ก.ค. ปี 2559
ปี 2560 ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้รับการต่อยอดอีกครั้งในการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น: เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ” เพราะสิ่งสำคัญของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่นได้อย่างยั่งยืน ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น และเปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้เรื่องเพศช่วยให้วัยรุ่นปลอดภัยจากทั้งเรื่องท้องไม่พร้อมและปัญหาอื่นๆ
ห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เป็นไปไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นได้เรียนรู้และมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมและปลอดภัย ในการประชุมครั้งนั้นตรงกับช่วงประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 10 ปี ตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงนำเป้าหมายลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลง 50% ภายในปี 2569 สื่อสารให้สังคมรับรู้ร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 3 สสส. ร่วมกับหน่วยงานหลักและภาคีเครือข่ายกำหนดหัวข้อหลักการประชุมคือ “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” เพราะหลังจากพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และมียุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อลดการคลอดในวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2569 แล้ว ขณะนี้ 5 กระทรวงหลักได้เตรียมออกกฎกระทรวงเพื่อให้หน่วยปฏิบัติทุกระดับเข้าใจบทบาทภารกิจของตนตาม พ.ร.บ. โดยมีสาระสำคัญดูแลสนับสนุนให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงมีสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา การได้รับบริการคุมกำเนิดและอนามัยการเจริญพันธุ์ การได้เรียนต่อเนื่องแม้ตั้งครรภ์ รวมถึงได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
“ หลังจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ประกาศใช้เป็นเวลากว่า 3 ปี มีแนวโน้มว่าสถานการณ์หญิงคลอดบุตรในช่วงอายุ 10-19 ปี กำลังลดลงจาก 5 ปีที่แล้ว มีวัยรุ่นต้องเป็นแม่วันละกว่า 350 คน ปี 2560 ลดลงมาวันละ 250 คน ผลจากหน่วยงานต่างๆนำนโยบายมาพัฒนาสู่การปฏิบัติจริง โดย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และลงลึกถึงระดับพื้นที่ เดือนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะได้นำข้อมูล ความรู้ บทเรียน และประสบการณ์การทำงานช่วงที่ผ่านมา ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านการประชุมระดับชาติสุขภาวะเพศ ครั้งที่ 3 ” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในการอภิปรายย่อยที่น่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ คือ การสื่อสารนโยบายเด็กท้องต้องได้เรียนใน Symposium 1.5 โดยเชิญตัวแทนสถานศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนถึงวิธีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้ได้กลับไปทบทวนถึงวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพบริบทภายในสถานศึกษา
อีกหนึ่งห้องที่น่าสนใจ Symposium 3.5 การทำงานกับพ่อแม่ใน 3 settings: โรงเรียน ชุมชน และสถานประกอบการ “การสื่อสารเชิงบวกในบ้าน ป้องกันปัญหาได้ทุกเรื่อง” สำหรับห้องนี้ ทพ.ศิริเกียรติ บอกว่า มีที่มาจากความเชื่อมั่น ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นในบ้านมีคนเข้าใจ รับฟัง เป็นห่วง สามารถพึ่งพิงได้เมื่อกำลังเผชิญกับปัญหา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศ แต่การจะเข้าถึงพ่อกับแม่ได้อย่างไร คือโจทย์สำคัญของเรื่องนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง เริ่มจากการทำงานร่วมกับพ่อแม่ของสถานศึกษา พ่อแม่ที่อยู่ในชุมชนเมืองและชนบท รวมทั้งพ่อแม่ที่เป็นพนักงานอยู่ในสถานประกอบการ
สสส.และสธ.หนุนเยาวชนมีสิทธิเรียนรู้เพศวิถี จัดประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศต่อเนื่อง
สำหรับร่มใหญ่ของการประชุมปีนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน 2.เพศวิถีและสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น และ 3.นวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆในการดำเนินงาน โดยมีการประชุมรวม (Plenary) จำนวน 4 ห้อง ควบคู่ไปกับการนำเสนอหัวข้อสำคัญ (Symposium) อีกมากกว่า 40 หัวข้อ แต่ที่พลาดไม่ได้ เป็นช่วงพิธีเปิดวันที่ 28 ม.ค.เวลา 10.00-12.00 น. กับการปฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประเทศไทยกับการขับเคลื่อนเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” โดย พลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และร่วมรับชมการแสดงพลังเยาวชน โดยแกนนำเยาวชนหลายภูมิภาค ตลอดจนเพลิดเพลินกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ที่ “ลานเรียนรู้ ปฏิบัติการชุมชนสู่สุขภาวะทางเพศ” ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมสามารถสมัครได้ทาง goo.gl/oronKx สอบถาม โทร. 097-0454410 หรือ อีเมล์ [email protected]