ยกระดับแก้ฝุ่น หากเกิน75มคก. ให้อำนาจผู้ว่าฯ


เพิ่มเพื่อน    


    ยกระดับมาตรการแก้ฝุ่นพิษ เกิน 75 มคก./ลบ.ม.ให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ บี้ทุกหน่วยเร่งส่งแผนป้องกัน สธ.ฮึ่มเอาผิดเพจแพร่ข้อมูลลวงทำคนแตกตื่น รมช.คมนาคมตรวจพื้นที่สร้างรถไฟฟ้า เผยค่าฝุ่นไม่เกินมาตรฐาน
    ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายวิจารย์ สิมาฉายา  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
    นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ หากปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 75-100 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร  (ลบ.ม.) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เป็นการเฉพาะ ก่อนจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจหรือข้อสั่งการเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ลดลงและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
    โดยขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์แก้ปัญหา PM2.5 และจากการประชุมในครั้งนี้ได้มีข้อเสนอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือแม้แต่ คพ.เอง ต้องส่งแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาหากฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 75-100 มคก./ลบ.ม.เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้ผู้ว่าฯ กทม. โดยกำชับให้หน่วยงานเร่งส่งแผนโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม กทม.มี 50 เขตและค่าฝุ่นไม่ได้เกินมาตรฐานในทุกเขต การควบคุมประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งสามารถสั่งยุติกิจกรรมที่ก่อมลพิษเป็นดุลยพินิจของผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งให้มีการระดมสรรพกำลังจากเขตอื่นๆ มาร่วมแก้ปัญหาด้วย
    นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO)  แนะนำไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
    ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตอธิบดี คพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ปรับแก้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ย PM2.5 ของประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ คือ 50 มคก./ลบ.ม. ในอนาคตไทยมีโอกาสปรับค่ามาตรฐานได้หากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ การจราจรคล่องตัว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันให้เข้ามาตรฐานยูโร โดย 5-6 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปรับค่ามาตรฐานในสารมลพิษหลายตัวมาแล้ว ซึ่งต้องดูความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ซึ่งให้อำนาจ รมว.ทส.กำหนดค่ามาตรฐาน โดยคำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยีควบคู่กันไป
    สำหรับค่ามาตรฐานแนะนำ PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นมีอยู่ 3 ระดับ  ประกอบด้วย ระดับเป้าหมายที่ 1 คือไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ระดับเป้าหมายที่ 2 จะเข้มข้นมากขึ้นเป็น  50 มคก./ลบ.ม. และระดับเป้าหมายที่ 3 อยู่ที่ 35 มคก./ลบ.ม. จากนั้นจะเข้าสู่คำแนะนำเข้มข้นที่สุดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. โดยค่าเกณฑ์ขึ้นกับแต่ละประเทศจะเลือกใช้เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง โดยประเทศไทยกำหนดค่าฝุ่นละอองรายปีอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2  สำหรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 75 มคก./ลบ.ม. ถือว่ายังไม่รุนแรงหากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สูงถึง 130 มคก./ลบ.ม. โดยจากนี้มาตรการควบคุมจะช่วยให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น
    เมื่อถามว่า กรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินจริง จนประชาชนแตกตื่นจะมีมาตรการอย่างไร นายสุพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินทางกฎหมายกับเพจที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่อไป
    วันเดียวกัน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายไหม 11 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่าภาพรวมโครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งแล้วเสร็จปี 2562 และเปิดให้บริการปี 2563 ทั้งนี้จากการวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5  บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงดังกล่าว พบว่ามีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 23-24 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือพื้นที่สีเขียว โดยที่ผ่านมามอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำกับผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามกำหนดในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด ให้มีการล้างถนนทุกเช้าก่อนเปิดการจราจร ล้างล้อรถทุกครั้งที่ออกจากพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเป็นการลดการเกิดฝุ่นละออง รวมถึงการตรวจความพร้อมของเครื่องจักรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดควันดำ
    นอกจากนี้ ในส่วนของงานก่อสร้างสถานีตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น รฟม.ได้ติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละออง ซึ่งถือเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี
    กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเวลา 15.00 น.ว่า พื้นที่ริมถนนเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 5 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ทั่วไปอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่ โดยรวมค่าฝุ่นละอองคงที่ มีเพิ่มขึ้นและลดลงบางจุดไม่มากนัก เนื่องจากการจราจรหนาแน่น คาดการณ์วันที่ 25 ม.ค.อากาศลอยตัวได้ ลมพัดอ่อนลง ทำให้ฝุ่นละอองมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้.
     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"