เวเนซุเอลาวิกฤติ ประธานสภาตั้งตนเป็นประธานาธิบดีแทน 'มาดูโร'


เพิ่มเพื่อน    

การเมืองเวเนซุเอลาวิกฤติ ฮวน ไกวโด ประธานรัฐสภา ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการ สหรัฐนำขบวนชาติพันธมิตรแห่รับรองเป็นผู้นำโดยชอบด้วยกฎหมาย รัสเซีย-จีนประณามต่างชาติแทรกแซง ขณะประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร โจมตีเป็นความพยายามรัฐประหาร สั่งขับทูตสหรัฐพ้นประเทศ พร้อมยืนยันกองทัพยังหนุนหลัง

ฮวน ไกวโด ประธานสมัชชาแห่งชาติ ประกาศตนเป็น "ประธานาธิบดีรักษาการ" ระหว่างการชุมนุมประท้วงของฝ่ายค้านในวันครบรอบ 61 ปีการลุกฮือโค่นเผด็จการทหารเวเนซุเอลา ที่กรุงการากัส เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 / AFP

    การเมืองเวเนซุเอลาอยู่ในภาวะวิกฤติเมื่อผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายต่างระดมพลังสนับสนุน โดยฝ่ายต่อต้านใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ แต่การประท้วงบางจุด เช่นที่ชานกรุง ผู้ประท้วงถูกตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางขับไล่ ขณะฝ่ายมาดูโร ซึ่งใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ชุมนุมที่ด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดีคัดค้าน "การก่อรัฐประหาร" โดยฝ่ายค้านที่มีสหรัฐหนุนหลัง

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 กล่าวว่า คำประกาศของฮวน ไกวโด ประธานสมัชชาแห่งชาติวัย 35 ปี ต่อหน้าการชุมนุมของคนนับแสนคนที่กรุงการากัสเมื่อวันพุธ มีออกมา 2 สัปดาห์ภายหลังเขาเรียกร้องประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายวัย 56 ปีผู้นี้ โดยการชุมนุมช่วง 2 วันที่ผ่านมาเกิดการปะทะรุนแรงที่คร่าชีวิตคนแล้วอย่างน้อย 13 คน

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลปะทะกับตำรวจปราบจลาจลที่กรุงการากัส เมื่อวันพุธ / AFP

    การชุมนุมในสัปดาห์นี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในเวเนซุเอลานับแต่การประท้วงรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนและกรกฎาคม 2562 ที่มีคนสังเวยชีวิตถึง 125 คน

    ผู้นำฝ่ายค้านรายนี้ได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม สถาบันนิติบัญญัติแห่งนี้เป็นเพียงเสาหลักสำคัญ เป็นสถาบันเดียวที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ในคำประกาศเมื่อวันพุธ ไกวโดเรียกร้องให้กองทัพออกมายืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐธรรมนูญ และเขายังเสนอนิรโทษกรรมแก่พวกพ้องของมาดูโรที่แปรพักตร์ด้วย

    ทว่า รัฐมนตรีกลาโหม วลาดิมีร์ ปาดริโน โลเปซ ตอบโต้ด้วยการเตือนว่า พวกผู้นำทหารจะออกมาแสดงความสนับสนุนประธานาธิบดีที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในวันพฤหัสบดี และกองทัพจะแสดงถึงการหนุนหลังอำนาจอธิปไตยของเวเนซุเอลา

ผู้ประท้วงชูมือประกาศตนต่อต้านประธานาธิบดีมาดูโร ขณะชุมนุมที่กรุงการากัส เมื่อวันพุธ / AFP

    ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศว่า มาดูโร "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และว่า สมัชชาแห่งชาติของเวเนซุเอลาเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงแห่งเดียวของประเทศ ทำให้มาดูโรตอบโต้ด้วยการประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาล "จักรวรรดินิยม" ของสหรัฐ และขีดเส้นตายให้นักการทูตสหรัฐออกจากประเทศภายใน 72 ชั่วโมง แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไม่นำพา โดยประกาศว่าสหรัฐไม่ถือว่ามาดูโรเป็นประธานาธิบดีอีกต่อไป คำสั่งของเขาจึงไม่มีความหมาย

    รัฐบาลฝรั่งเศสก็ประกาศสนับสนุนไกวโดเช่นกัน โดยระบุว่ามาดูโร "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และเรียกร้องให้รื้อฟื้นประชาธิปไตยในเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังมีลาตินอเมริกาหลายประเทศที่หนุนหลังไกวโด อาทิ บราซิล, อาร์เจนตินา, โคลอมเบีย และแคนาดา แต่เม็กซิโกและคิวบายังสนับสนุนมาดูโร

มาดูโร (กลาง) พร้อมนางซิเลีย ฟลอเรส (ภริยา) และรองประธานาธิบดีเดลซี โรดริเกซ ปราศรัยกับผู้สนับสนุนที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงการากัส เมื่อวันพุธ / AFP

    มาดูโรชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ในการเลือกตั้งก่อนกำหนดที่ฝ่ายค้านบอยคอตและทั่วโลกประณามว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    ด้านรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของเขา ระบุว่าคำประกาศของไกวโดเป็น "การช่วงชิง" อำนาจ และประณาม "การแทรกแซง" ของต่างชาติในเวเนซุเอลา "นี่เป็นเส้นทางตรงสู่การนองเลือดและความไร้ขื่อแป" กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลง

    กระทรวงการต่างประเทศของจีนโดยหัว ชุนอิง โฆษกกระทรวง ก็แถลงคัดค้าน "การแทรกแซง" กิจการภายในของเวเนซุเอลาเช่นกัน และเรียกร้องให้หา "ทางออกทางการเมือง".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"