'เลือกตั้งแข่งทำดี ไม่ทำลายคนอื่น' 'เสมอกัน เที่ยงธรรม' นิวบลัด ชทพ.


เพิ่มเพื่อน    

    ชื่อของ “เสมอกัน เที่ยงธรรม” อาจไม่ได้ใหม่ทางการเมือง หลังผ่านสนามเลือกตั้งมาแล้ว 3 ครั้ง และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็น ส.ส.ในปี 2548 และ 2550
    ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2554 เขาไม่ได้ลงสมัคร เพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กรณียุบพรรคชาติไทย เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2557 “เสมอกัน” พ้นโทษแบน กลับมาลงแข่งขัน ทว่าพลาดการเป็น ส.ส. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
    “เสมอกัน” อาจดูโชกโชนจาก “นามสกุล” อันเป็นตระกูลเก่าแก่ในแวดวงการเมือง ผนวกกับ “พรรษา” ทางการเมืองที่เกิน 10 ปี แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันเขามีอายุแค่เพียง 41 ปีเท่านั้น
    ย้อนกลับไปปี 2548 ในการเป็น ส.ส.ครั้งแรก ตอนนั้น “เสมอกัน” ยังมีอายุไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ ล่วงมา 14 ปี เขาจึงยังถูกรวมอยู่ใน “กลุ่มนิวบลัด” หรือคนรุ่นใหม่ของพรรคชาติไทยพัฒนานั่นเอง
    เพียงแต่ว่า โปรเจ็กต์ “กลุ่มนิวบลัด” ของพรรคต้องพับลง เมื่อมีผู้ใหญ่จากทั่วสารทิศตบเท้าเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ทำให้ต้องนำผู้อาวุโสในพรรคขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เพื่อเป็นการให้เกียรติ
    จากนั้น “นิวบลัด” หลายคนทยอยลาออกไปพรรคอื่น ปัจจุบันเหลือเพียง “วราวุธ ศิลปอาชา” และ “เสมอกัน” 2 คน พร้อมๆ กับกระแสคนรุ่นใหม่ของพรรคที่ซาลงไป
    “ยอมรับว่าเสียดาย แต่อีกมุมหนึ่งผู้ใหญ่อาจจะมองว่าถ้าใช้นิวบลัดอย่างเดียวจะเหมือนทอดทิ้งคนอาวุโสหรือเปล่า ซึ่งผมเคารพการตัดสินใจ แต่จริงๆ มันก็มีข้อดีคือ กลายเป็นการทำงานผสมกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า มันดูสมดุล มันดูซอฟต์ลง เพราะตอนนิวบลัดอาจจะดูสุดโต่งไปหน่อยนึง” เสมอกันเปิดใจ
    อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มี “นิวบลัด” แต่ “เสมอกัน” ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ของพรรค ยอมรับว่า รู้สึกมีไฟอีกครั้ง หลังจากเห็นปรากฏการณ์นักการเมืองหน้าใหม่-รุ่นใหม่ ตบเท้าเข้ามาอาสาทำงานเพื่อชาติเป็นจำนวนมาก
    “ยอมรับว่าที่ผ่านมารู้สึกเบื่อ แต่ก่อนแม้เข้าไปสภาฯ แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ หันไปไหนไม่เจอรุ่นเดียวกัน พอตอนนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ทำให้มีกำลังใจ ได้เห็นคนรุ่นใหม่พูดจาฉะฉานกันมาก คิด วิเคราะห์ แยกแยะกันด้วยความมั่นใจ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ขอเป็นกำลังใจอย่าให้ไฟมอดไปก่อน และอยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจให้กว้างรับฟังก็พอ อย่างน้อยจะมีแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ผู้ใหญ่อาจเป็นรุ่น 3.0 เด็กอาจเป็น 4.0 ทำให้มีตัวเลือก ผู้ใหญ่ก็ใช้ประสบการณ์เป็นตัวตัดสิน ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี”
    แต่กระนั้นในฐานะ “คนรุ่นใหม่” ที่เข้าสู่แวดวง ผ่าน-เห็นความขัดแย้งทั้งในและนอกสภาฯ มาก่อน เขาเองยอมรับว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องความ “สุดโต่ง” ของนักการเมืองรุ่นใหม่บางคนอยู่บ้าง
    “ผมคิดว่าเมื่อเราเข้าไปในสภาฯ อาจจะต้องซอฟต์กันลงหน่อย เพราะบางทีความคิดของเราอาจจะถูกสัก 80% ซึ่งเราน่าจะยอมรับได้แล้ว ส่วนอีก 20% ที่ไม่ตรงกับเราต้องยอมรับฟังเขาด้วย เพราะถ้าเลือกที่จะหักกันเลย ผมว่ามันไปยาก ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มันค่อนข้างรุนแรง พรรคใหญ่เขาฟันธงกันเลยว่าถ้าคุณไม่ไปทางซ้ายก็ต้องไปทางขวา ซึ่งสุดท้ายทั้งซ้ายและขวามันได้เข้าสภาฯ แน่นอน อยู่ที่จะหนักทางซ้ายหรือหนักทางขวาเท่านั้นเอง แต่ว่าถ้าหนักฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แล้วต้องดึงไปฝั่งนั้นเลย ผมว่าสุดท้ายการเมืองไทยไปไม่รอด”
    นอกจากนี้ “เสมอกัน” ยังระบุว่า อยากเห็นการเมืองยุคใหม่ที่สร้างสรรค์ ฝ่ายค้านควรค้านแบบเสนอแนะ ถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่ทำแล้วจะมีแอ็กชั่นอะไรก็ว่ากันไป ไม่ใช่นโยบายหลักคือ จ้องล้มเพื่อให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามันค่อนข้างเป็นแบบนี้เสียส่วนใหญ่  และไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นกลาง แต่อยากฝากคนรุ่นใหม่ว่า ถูก-ผิด ต้องวัดด้วยเหตุผล
    “เท่าที่ผมเจอคนรุ่นใหม่แนวคิดดีมาก แต่ว่าบางครั้งอาจสุดโต่งเกินไป ซึ่งผมเคยเป็นมาก่อน แล้วสุดท้ายมันจะเถียงกันไปกันมา อยากให้มองว่า จริงๆ เราทำงานให้ประชาชนนะ บางทีสิ่งที่เราเสนอเราย่อมคิดว่าเราถูก แต่เราไม่ใช่คนตัดสิน เราต้องมองว่าอะไรที่จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาผมแค่รู้สึกเสียดายโอกาสของชาวบ้าน แทนที่คุณจะมาหักกัน คุณต้องไปหาวิธีการใหม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ไวขึ้นมันน่าจะดีกว่า พูดง่ายๆ คือ ถ้าทะเลาะกันไม่จบ ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย”
    ขณะที่การหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ บุตรชายคนโตของ “จองชัย เที่ยงธรรม” อดีต รมต.หลายกระทรวง ยอมรับว่า ส่วนใหญ่ประชาชนจะสนใจนโยบายของพรรคขนาดใหญ่ ทำให้นโยบายของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
    “ในพื้นที่เราจะชูผลงานตัวบุคคลว่าเราช่วยเหลืออะไรเขาบ้าง และเดินสายชี้แจงว่าผลงานรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นตอนร่วมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคชาติไทยพัฒนาก็มีผลงาน แต่ภาพรวมมันออกมาเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เรามีส่วนผลักดัน เพียงแต่เราไม่ดังเท่าพรรคใหญ่ เพราะเราไม่ใช่เบอร์ 1 ในรัฐบาล”
    ส่วนที่เขต 4 จ.สุพรรณบุรี ที่จะต้องเจอจากคู่แข่งที่แข็งๆ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวว่า คนกันเองอย่าง “ยุทธนา โพธสุธน” หลานชายนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค จะมาลงแข่งนั้น “เสมอกัน” ยืนยันว่า ยังได้ยินแต่ข่าว
    “ถึงตรงนี้ยังไม่มีใครยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่งใครลง และเรื่องพวกนี้ผมได้แต่รับฟัง แต่ว่าสิ่งที่ผมคิดและทำคือ แข่งกับตัวเอง ทำของเราให้ดีไป เราทำแต้มของเราให้ดี ผมไม่ใช่สไตล์ไปจ้องคู่แข่งเพื่อหาจุดอ่อน ผมไม่เคยคิดเรื่องทำลายคู่แข่ง คิดแต่ว่าทำอย่างไรให้ตัวเองดีขึ้น ให้คู่แข่งตามไม่ทันดีกว่า ถ้าไปทำลายกันมันก็ทะเลาะกัน มันไม่ใช่วิสัยทัศน์ของผมและบ้านผม ถ้าอยากจะสู้กันก็แข่งกันทำความดีให้ชาวบ้านเห็น ดีกว่าเราไม่ดีแล้วไปทำให้คนอื่นเขาแย่กว่าเรา ถ้าเป็นอย่างนั้นชาวบ้านเขาจะไม่ได้ของดี”
    ตอนท้ายเขาบอกว่า นโยบายที่จะชูในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ กึ่งๆ สานงานต่อ ก่องานใหม่ เพราะนายบรรหาร ศิลปอาชา วางรากฐานไว้ดี เรื่องพัฒนาเกือบจะเต็มแล้ว มันจึงเป็นเรื่องของการ Maintenance มากกว่า ทำอย่างไรให้มันดีเหมือนเดิม อะไรที่ยังไม่ดีก็ทำให้มันดีขึ้น
    ส่วนคอนเซ็ปต์ของพรรคชาติไทยพัฒนายังคงเดิม ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ถ้ามันเข้ากันไม่ได้เราก็อยู่ของเรา ถ้าเข้ากันได้เราก็ไป.
 

การศึกษา : ปริญญาตรี สาขา Business Administration RICHMOND THE AMERICAN INTERNATIONAL UNIVERSITY IN LONDON ประเทศอังกฤษ, ปริญญาโท สาขา International Marketing Management UNIVERSITY OF EAST LONDON ประเทศอังกฤษ

ประสบการณ์ : ส.ส.สุพรรณบุรี ปี 2548, ส.ส.สุพรรณบุรี ปี 2550, ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน, กรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม, เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"