อียูจี้ชาติสมาชิกจำกัด 'วีซ่าทอง' เศรษฐีต่างชาติ


เพิ่มเพื่อน    

คณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องชาติสมาชิกอียูคุมเข้มการออก "วีซ่าทอง" ที่มอบให้นักลงทุนหรือเศรษฐีชาวต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในประเทศนั้นๆ ระบุโครงการนี้เปิดช่องให้พวกคอร์รัปชันและฟอกเงินฉวยประโยชน์ ขณะรัฐบาลบัลแกเรียเตรียมยกเลิกพาสปอร์ตทอง

เวรา จูโรวา (ซ้าย) กรรมาธิการยุโรปด้านการยุติธรรม, ผู้บริโภค และความเสมอภาคทางเพศ และดิมิทริส อฟราโมปูลอส กรรมาธิการยุโรปด้านการย้ายถิ่น, มหาดไทยและพลเมือง แถลงข่าวเรื่องวีซ่าทองที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 / AFP

    สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2562 ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เผยแพร่รายงานเรียกร้องให้ชาติสมาชิกจำกัดการให้สัญชาติหรือสิทธิผู้พักอาศัยแก่ชาวต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน, รัสเซีย และอเมริกัน เพื่อแลกกับเงินลงทุน

    เนื้อหาในรายงานฉบับนี้ระบุว่า โครงการลักษณะนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ ทั้งในด้านความมั่นคง, การฟอกเงิน หรือแม้แต่การเลี่ยงภาษี ซึ่งหากชาติสมาชิกไม่เข้มงวดกฎเกณฑ์และมีความโปร่งใสมากขึ้น คณะกรรมาธิการก็จะดำเนินการถ้าจำเป็น

    รายงานพบว่า มหาเศรษฐีที่ยื่นขอสิทธิพักอาศัยและความเป็นพลเมืองของประเทศเหล่านี้ไม่ได้ถูกตรวจสอบความปลอดภัยหรือปูมหลังอย่างเพียงพอ ที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงหรือฟอกเงิน

    องค์กรเอกชนหลายแห่งเคยยกกรณีของหลายประเทศที่ให้สัญชาติแก่ชาวต่างชาติที่ร่ำรวย เช่น มอลตา, ไซปรัส และบัลแกเรีย ซึ่งทำให้คนเหล่านี้สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในดินแดนเกือบทั้งหมดของอียูที่มีสมาชิก 28 ประเทศ นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ให้สิทธิพักอาศัยแก่นักลงทุนต่างชาติ

    เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจากกรุงเบอร์ลิน และองค์กรโกลบอลวิตเนสจากรุงลอนดอน เคยกล่าวไว้ในรายงานชื่อ "หนีรอดในยุโรป : ภายในโลกอันคลุมเครือของวีซ่าทอง" ว่าการให้สัญชาติหรือสิทธิพักอาศัยในอียูนั้นเป็นเหมือนกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่เงินสามารถซื้อหาได้ และโครงการวีซ่าทองนี้เป็นโอกาสที่ดึงดูดใจสำหรับพวกอาชญากรและพวกคอร์รัปชัน

    รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ชาติสมาชิกอียูหลายประเทศได้ออกพาสปอร์ตแก่บุคคลแล้วราว 6,000 คน และให้สิทธิพักอาศัยแก่บุคคลราว 100,000 คน ภายใต้โครงการเหล่านี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติตอบแทนกลับมาราว 25,000 ล้านยูโร

    มีชาติสมาชิกอียู 4 ชาติ ได้แก่ ออสเตรีย, บัลแกเรีย, ไซปรัส และมอลตา ที่ "ขาย" หนังสือเดินทางของตนแก่นักลงทุนต่างชาติที่มั่งคั่ง ส่วนอีก 12 ประเทศให้เป็นสิทธิพักอาศัย

    รายงานกล่าวด้วยว่า สเปน, ไซปรัส, โปรตุเกส และอังกฤษ คือประเทศที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดเพื่อแลกกับการออกวีซ่าทอง เช่น สเปนนั้นได้เงินถึงปีละ 976 ล้านยูโร และอังกฤษได้ 498 ล้านยูโร

    อีกด้านหนึ่ง เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลบัลแกเรียซึ่งถูกอ้างถึงในโครงการเหล่านี้ด้วย ได้เตรียมปฏิรูปกฎหมายการให้สัญชาติของประเทศ ซึ่งจะรวมถึงการยกเลิกโครงการ "พาสปอร์ตทอง" ที่เป็นข้อขัดแย้งนี้ด้วย

    คำแถลงของกระทรวงยุติธรรมออกที่กรุงโซเฟียเมื่อวันอังคารกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งตามกฎหมายนี้คือการล้มเลิกการให้ความเป็นพลเมืองบัลแกเรียผ่านการลงทุน

    โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 โดยชาวต่างชาติจะสามารถยื่นขอสัญชาติบัลแกเรียได้หากนำเงินมาลงทุนในประเทศนี้อย่างน้อย 500,000 ยูโร (ราว 18 ล้านบาท) แต่กระทรวงกล่าวว่า โครงการนี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ, สร้างงาน และส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"