โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. สำนักนายกฯ ออกแถลงการณ์ขอประชาชนช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยและสามัคคีปรองดองจนผ่านพ้นการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กกต.เคาะ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้ง 4-8 ก.พ.เปิดรับสมัคร "วิษณุ" ย้ำรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม โฆษกรัฐบาลเผยพร้อมปรับรูปแบบรายการศาสตร์พระราชาฯ ขณะที่ 4 รมต.เก็บของแล้วพร้อมไขก๊อกเร็วๆ นี้ "ประยุทธ์" ยังปิดปากอนาคตทางการเมือง "สมศักดิ์" สารภาพถ้าบิ๊กตู่ปฏิเสธคงหาเสียงยาก เป็นเรื่องใหญ่ปรับตัวไม่ทัน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มกราคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป มาตรา 4 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ระบุว่า โดยที่มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว สมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา
หลังจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป ใจความสรุปว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่การประสานงานระหว่างรัฐบาลกับ กกต.เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งเท่าที่ผ่านมาได้ประสานเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการแจ้งข้อมูลให้ กกต.ทราบถึงกำหนดการและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งที่จะมีขึ้นก่อน ระหว่างพระราชพิธี และภายหลังพระราชพิธี เพื่อไม่ให้กิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการภายหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งบางเรื่องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมอยู่แล้วไปทับซ้อน หรือเสี่ยงต่อการทับซ้อนกับกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าวหรือพระราชพิธีประจำปีในเรื่องอื่นๆ ตลอดจนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาบรรยากาศในระหว่างนั้นมิให้เกิดความสับสน ความขัดแย้งหรือเสียความตั้งใจดีและการมีจิตอาสาสาธารณะ เพราะประชาชนทั่วไปกำลังปลื้มปีติยินดีมีสมานฉันท์ในอันที่จะได้มีโอกาสร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันหาได้ยากอีกครั้งหนึ่ง นับแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ.2473 เป็นต้นมา
"รัฐบาลเชื่อว่าวันเลือกตั้งที่ กกต.จะกำหนดขึ้นนี้จะไม่กระชั้นชิดเกินควรจนกระทบต่อระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้สมัคร และไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ใด ทั้งจะไม่ช้าเกินควรจนเกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ยาวนานกว่า 150 วันนับจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าการมี ส.ส.และรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเกิดขึ้นในราวกลางปีนี้อันเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้เมื่อหลายเดือนก่อน"
เคาะ 24 มี.ค.เลือกตั้ง
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า รัฐบาลขอให้ประชาชนช่วยกันรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยและความสามัคคีปรองดองดังที่ปรากฏตลอดระยะเวลา 4 ปีเศษที่ผ่านมา ให้ยั่งยืนต่อไปจนผ่านพ้นการเลือกตั้งและการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและเป็นที่ชื่นชมยินดีของนานาชาติ การหาเสียงเลือกตั้ง การชี้แจงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนย่อมทำได้ตามวิถีทางประชาธิปไตยเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นไปได้จริงแก่ประชาชน แต่ความขัดแย้ง ข้อพิพาทบาดหมางจนนำไปสู่วิกฤติของบ้านเมืองดังในอดีต ไม่ควรจะย้อนกลับมาหลอกหลอนเราอีก ขณะเดียวกันขอให้พี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วยกันออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุดให้สมกับที่รอคอย โดยขอให้มีความรู้เท่าทันผู้สมัคร และมีความเข้าใจวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม รัฐบาลหวังว่ากกต.และทุกฝ่ายจะช่วยกันใช้ระยะเวลาที่มีอยู่นับแต่นี้ไปสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้แก่ประชาชน เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย บริสุทธิ์และยุติธรรมสมตามความมุ่งประสงค์ของพวกเราทุกคน
ที่สำนักงาน กกต. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปมีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จึงประชุมและมีมติเสียงข้างมากกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้ง และในวันที่ 28 ม.ค.-19 ก.พ.เป็นวันเปิดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิ์ล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักรได้ลงทะเบียน โดยสามารถยื่นคำขอผ่านนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น สถานเอกอัครราชทูต ผ่านช่องทางไปรษณีย์หรืออินเทอร์เน็ต วันที่ 4-8 ก.พ. เป็นวันรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยสถานที่สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตจะเป็นผู้ประกาศกำหนดภายใน 3 วัน ภายหลัง กกต.ประกาศวันเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาหรือในวันที่ 24 ม.ค. ส่วนสถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นได้ที่สำนักงาน กกต. จากนั้นในวันที่ 4-16 มี.ค.จะเป็นวันออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 17 มี.ค.เป็นวันออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด รวมถึงการออกเสียงเลือกตั้งในสถานเลือกตั้งกลางของผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ
ประธาน กกต.กล่าวถึงเหตุผลในการกำหนดให้วันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้งว่า กกต.มองทุกปัจจัยที่จะเกิดขึ้นหลังมี พ.ร.ฎ. โดยเฉพาะการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า การหาเสียง ซึ่งเดิมเรากำหนดระยะเวลาไว้ 52 วัน ก็อยากให้ประโยชน์ตกแก่ประชาชนและพรรคการเมือง เพราะถ้าจะเลือกวันที่ 10 มี.ค.ก็จะกระชั้นเกินไปหรือไม่ อีกทั้งการกำหนดวันที่ 24 มี.ค.ยังทำให้พรรคการเมืองที่ยังตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัดไม่ครบ ได้มีเวลาดำเนินการเท่ากันได้ผ่อนคลายได้มากกว่าวันอื่นๆ
ส่วนการตีความกรอบเวลา 150 วัน รวมถึงการประกาศรับรองผลเลือกตั้งหรือไม่ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต.เคยคุยกันแล้ว ถ้ามีความจำเป็น กกต.ต้องคุยกันและมีมติที่ชัดเจน แต่ขณะนี้เรามุ่งเน้นในเรื่องเตรียมการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและประกาศผลให้เร็ว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน แต่ถ้าเราทำได้การเลือกตั้งให้เรียบร้อย ก็ประกาศผลได้ก่อนไม่จำเป็นต้องรอถึง 60 วัน
เมื่อถามว่ากรณีว่าที่ผู้สมัครติดป้ายหาเสียงก่อนมี พ.ร.ฎ.สามารถทำได้หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ไม่ควรจะติดเพราะยังไม่ใช่เวลา ตอนนี้ยังติดไม่ได้เพราะ กกต.ต้องหาสถานที่สำหรับติดป้ายหาเสียงก่อน ดังนั้นการติดป้ายก่อนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
รัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยมีการเสนอวันที่เหมาะสม 2 วัน คือวันที่ 10 มี.ค.และ 24 มี.ค. โดยเสียงข้างน้อยเห็นว่าหากกำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.จะสามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในกำหนด 60 วันพอดี แต่ฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่าถ้าเลือกวันที่ 10 มี.ค. ระยะเวลาในการหาเสียงจะเหลือแค่ 46 วันและฉุกละหุกเกินไป โดยในสัปดาห์หน้า กกต.ต้องเปิดรับสมัคร จึงเห็นว่าควรจะให้เวลาในการจัดการและให้พรรคการเมืองหาเสียงให้มาก รวมประมาณ 60 วัน เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่มีแถลงการณ์สำนักนายกฯ เกี่ยวกับ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งออกมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพราะคนอาจจะสับสนเนื่องจากใน พ.ร.ฎ.ไม่ได้ระบุวันเลือกตั้ง จึงต้องขยายความให้ประชาชนเข้าใจว่า พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว กกต.จะออกประกาศเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส.อย่างเป็นทางการภายใน 5 วัน ตนเชื่อว่าใน 1-2 วันนี้ กกต.คงจะสามารถประกาศวันเลือกตั้งได้
"ขอยืนยันอีกครั้งว่าวันนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แม้ใครจะนำไปค่อนขอด รัฐบาลยังมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ แต่งตั้งโยกย้ายอยู่ อีกทั้งหัวหน้า คสช.ก็ยังสามารถใช้ ม.44 เช่นเดียวกัน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลจะปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ แต่จะพิจารณาว่าจะทำอะไรลดลง อะไรค่อยๆ ทำ หรืออะไรจะรั้งรอไว้โดยจะดูตามความเหมาะสม แต่จะหยุดทำงานเข้าเกียร์ว่างไม่ได้"
รองนายกฯ กล่าวว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ถือว่าเริ่มแล้วนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และเริ่มคิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่บาทแรก ส่วนการระดมทุนจะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาทั้งหมด ดังนั้นการหาเสียง การใช้สื่อหรือการระดุมทน หรือแม้แต่การพูดจาอะไรก็ตามหลายเรื่องที่เคยพูดกันได้ เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งจะพูดแบบที่เคยพูดไม่ได้ ทุกอย่างจะอยู่ในสายตา กกต.ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณี กกต.ออกมาเตือนหลายพรรคให้เร่งจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ครบตามที่พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนดไว้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ ซึ่งขณะนี้มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่สามารถส่งผู้สมัครได้ นายวิษณุกล่าวว่าตนไม่ทราบ แต่เรื่องนี้ยังมีเวลา ที่ผ่านมาบางพรรคอาจซุ่มๆ กันอยู่ก็ได้ เพราะยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่เมื่อมีความชัดเจนแล้วทุกพรรคเขาก็ต้องมีความพร้อม
เมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถตั้งสาขาได้ครบตามที่กฎหมายกำหนด จะส่งผลต่อการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้มีการกำหนดไว้ ดังนั้นจะมีพรรคเดียวหรือสองพรรคก็เลือกตั้งได้ แต่คิดว่าไม่เป็นไปอย่างที่เรากลัวกันหรอก สุดท้ายก็มากัน 60-70 พรรคอยู่ดี
ก่อนหน้ามีประกาศ พ.ร.ฎ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยในช่วงท้ายการประชุมนายกฯ กล่าวว่า เป็นข่าวดีของคนที่อยากเลือกตั้ง เพราะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้วเมื่อตอนเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันนี้ สำหรับคนที่อยากเลือกตั้ง คงได้เลือกตั้งสมใจ
'บิ๊กตู่' ปิดปากอนาคตการเมือง
ภายหลังการประชุม นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการตัดสินใจอนาคตทางการเมือง โดยได้แต่ยิ้มๆ ขณะเดินกลับขึ้นไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมยกมือทำสัญลักษณ์โอเคถึงสองครั้ง
ต่อมาผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้ตัดสินใจทางการเมืองแล้วหรือยัง นายกฯ ได้แต่ส่งยิ้มให้อย่างอารมณ์ดี พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปยังห้องทำงานว่า "ยัง"
ต่อมาเวลา 14.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" @prayutoffcial ระบุว่า "พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศแล้ว ผมขอให้ทุกฝ่ายเคารพและเดินหน้าสู่การ #เลือกตั้ง62 โดยความเรียบร้อยเพื่อความสงบสุขของประเทศนะครับ"
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงเรื่องการจัดสรรและบริหารทุกๆ อย่างยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ส่วนแนวทางเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ตรวจราชการของนายกฯ ยังเป็นไปตามปกติ แต่การประชุม ครม.สัญจรคงต้องมาทบทวนดูอีกครั้งว่าจะมีต่อไปหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้กำชับรัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ที่มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว มีข้อกำหนดไว้อยู่แล้วว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ส่วนหากรัฐมนตรีลาออกต้องปรับ ครม.หรือไม่นั้น ต้องสอบถามจากนายกฯ
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ในส่วนของรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางและรูปแบบบ้าง โดยจะเริ่มบางส่วนในวันศุกร์นี้ และในวันศุกร์ถัดไปจะมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่นเรื่องการสื่อสารจะพยายามพูดถึงเรื่องปัญหาประชาชน นำสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว มีผลตอบรับอย่างไร เล่าให้ประชาชนฟัง จะไม่พูดเชิงนโยบาย
"ขอย้ำว่าวันนี้รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติในทุกๆ เรื่อง อำนาจของรัฐบาลยังมีอยู่เต็ม นโยบายใดที่เคยทำมาและเป็นแนวปฏิบัติปกติยังสามารถทำได้เหมือนเดิม แต่อาจจะต้องระมัดระวังบ้างในเรื่องการนำเสนอ หรือการพูดถึงนโยบายหรือบางโครงการ ถ้าไปกระทบหรือเป็นการชี้นำให้พรรคการเมืองพรรคใดก็คงต้องละเว้นตรงนั้น รวมถึงการทำหน้าที่ของนายกฯ ของรัฐมนตรีก็ดี ในเวลาราชการ หรือการพูดขึ้นเวทีแนะนำพรรคใดพรรคหนึ่งก็ไม่เหมาะสม" นายพุทธิพงษ์ระบุ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้เรียกนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์และเลขาธิการพรรค พปชร.เข้าพบ ที่ห้องทำงานชั้น 1 ตึกบัญชาการ โดยใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนายสนธิรัตน์ได้ให้ทีมงานประสานนำรถยนต์ส่วนตัวมารับด้านข้างตึกบัญชาการ 1 โดยเมื่อรถมาจอดรอ นายสนธิรัตน์รีบเดินออกจากห้องทำงานนายสมคิดด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยกล่าวเพียงสั้นๆ กับสื่อมวลชนว่า "ไม่มีอะไร มาเรื่องงาน ขออนุญาตไม่พูด" ก่อนจะรีบเดินขึ้นรถออกจากทำเนียบฯ ทันที
ขณะที่นายอุตตมได้เดินออกมาพร้อมกับนายสมคิด โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงความชัดเจนเรื่องการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายอุตตมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ยัง เดี๋ยวก็รู้ เร็วๆ นี้" ก่อนจะขึ้นรถยนต์ส่วนตัวอีกด้านหนึ่งของตึกบัญชาการ 1 ด้วยเช่นกัน จากนั้นเวลา 13.15 น. นายสมคิดเดินลงจากตึกบัญชาการ 1 ไปยังตึกภักดีบดินทร์เพื่อเข้าร่วมประชุมกับนายกฯ โดยผู้สื่อข่าวถามนายสมคิดถึงกรณีที่เรียกนายอุตตมและนายสนธิรัตน์เข้าพบ นายสมคิดกล่าวทีเล่นทีจริงว่า "เขาคงมาเยี่ยมไข้" เมื่อถามว่าได้พูดคุยกันถึงเรื่องที่ 4 รัฐมนตรีจะลาออกด้วยหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า "ไม่มีอะไรเลย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของนายอุตตมและสนธิรัตน์แจ้งว่าสาเหตุที่ไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง เนื่องจากตอนนี้มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้ว การจะให้สัมภาษณ์อะไรเกี่ยวกับเรื่องการเมืองต้องระมัดระวังมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในเวลาราชการหากผิดพลาดจะมีผลทางกฎหมายทันที
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค พปชร.กล่าวว่า ในส่วนของพรรค พปชร.ยืนยันเสมอว่าเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งออกมาแล้ว 4 รัฐมนตรีที่เป็นผู้บริหารพรรคจะได้หารือร่วมกันเพื่อหาวันที่เหมาะสมในการร่วมกันตัดสินใจตามที่ได้พูดไปหลายหนแล้ว ย้ำว่า 4 รัฐมนตรีจะไปพร้อมกัน โดยจะต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีด้วยเพื่อรายงานให้รู้ถึงการตัดสินใจของพวกตน
ถ้าบิ๊กตู่ปฏิเสธ-พปชร.ปรับตัวไม่ทัน
"ในงานรับผิดชอบของทั้ง 4 คนได้เก็บงานกันเสร็จเกือบหมดแล้ว อย่างของตนหากขึ้นไปดูบอร์ดที่ห้องทำงาน จะเห็นว่าปฏิทินการทำงานของตนถูกขีดออกไปจำนวนมากแล้ว นายอุตตมเองยืนยันว่าเก็บงานไปได้มากแล้ว และมีความพร้อม เพียงแต่จะมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมของพวกเราว่าจะเป็นวันไหน"
เมื่อถามว่าทำไม พปชร.จึงไม่ทาบทาม พล.อ.ประยุทธ์เสียที ปล่อยให้รอนาน นายกอบศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ขอคุยกันภายในคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคได้ระบุไปแล้วว่ามีขั้นตอนของมัน ต้องรอกระบวนการตัดสินใจของพรรคต่อไป
เมื่อถามว่า พปชร.เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ กกต.เตือนว่ายังไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ครบถ้วน ซึ่งอาจจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องปรึกษานายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค ที่เป็นผู้ดูแลด้านกฎหมายต่างๆ ของพรรค แต่เชื่อว่านายวิเชียรจะดูแลได้เรียบร้อย ไม่น่าจะพลาด และมั่นใจว่า พปชร.พร้อม
ส่วนนายวิเชียรกล่าวว่า การประกาศลาออกของ 4 รัฐมนตรี เชื่อว่าหลังจากที่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งแล้วคงจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พปชร.กล่าวถึงความชัดเจนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคว่า พรรค พปชร.ยังไม่มีมติทาบทามบุคคลใดเข้ารับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค แต่จากการประชุมเวทีใหญ่ที่ภาคเหนือได้เลียบเคียงสอบถามประชาชน แทบทุกคนต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ ด้วยหลายเหตุผลที่ดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกหนึ่งสมัย เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอาจทำอะไรได้ไม่เต็มที่ และมั่นใจว่ามติภาคเหนือตอนล่างน่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของพรรค พปชร. แต่ทั้งหมดต้องรอมติพรรคซึ่งจะมีการพูดคุยกันเร็วๆ นี้
"คงหาเสียงยาก เพราะที่ผ่านมาในการรณรงค์หาเสียงได้เดินตามแนวทางผลงานของรัฐบาล ที่ได้พูดมาโดยตลอดถึงนโยบายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบ และพรรคเตรียมจะต่อยอด ซึ่งยอมรับว่าถ้าปฏิเสธคงเป็นเรื่องใหญ่และคงปรับตัวไม่ทัน "นายสมศักดิ์กล่าวเมื่อถามว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับการทาบทามจาก พปชร.จะเป็นเช่นไร
ทางด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุกำลังตัดสินใจว่าจะอยู่ทำงานต่อหรือไม่ ถ้ามีพรรคการเมืองเชิญชวนต้องดูนโยบายก่อนว่าเป็นอย่างไร ว่าความจริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องรอแล้วก็ได้ เพราะคุณลักษณะของพรรคการเมืองที่กล่าวมามีอยู่ในไม่กี่พรรค พรรคที่เอาชื่อโครงการรัฐมาเป็นชื่อพรรคการเมือง พรรคที่มี 4 รัฐมนตรีไปเป็นแกนนำพรรค แล้วถูกเรียกร้องให้แสดงสปิริตลาออก เพราะเกรงว่าอาจมีการใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากร งบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ออก ดูจะเข้าเงื่อนไขมากที่สุดหรือไม่
นายจตุพร พรหมพันธุ์ กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ที่น่าห่วงใยก็คือว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้วว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อของ พปชร.ในตำแหน่งนายกฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช. มิฉะนั้นแม้ว่าเป็นได้แต่จะเป็นปัญหาของชาติ เพราะว่าจะกลายเป็นผู้สมัครตำแหน่งนายกฯ พรรคเดียวที่มีอำนาจปลด กกต. พล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นแบบอย่างของการเสียสละและการไม่เอารัดเอาเปรียบ ณ วันนี้ไม่มีใครได้เปรียบมากกว่าท่านแล้ว อย่าได้เปรียบจนกระทั่งถึงการเอาเปรียบ เพราะวันใดที่คนรู้สึกว่าเอาเปรียบ วันนั้นท่านจะรู้ว่าท่านคิดผิดจริง
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวเช่นกันว่า เราอยากเห็นท่าทีที่ชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะประกาศตัวลงสนามเลือกตั้งเมื่อไหร่ สังคมเข้าใจว่าวันหนึ่งท่านจะเข้าร่วมพรรคการเมืองที่รัฐมนตรีในรัฐบาลไปเป็นกรรมการบริหารพรรค วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องโชว์ความเป็นลูกผู้ชายในการแสดงท่าทีที่ชัดเจน ที่สำคัญท่านต้องทบทวนบทบาทของตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีทั้ง 4 คนคิดเองได้ไม่ต้องให้มีใครมาบอกว่าเมื่อกรรมการจะผันตัวเองมาเป็นผู้เล่นต้องวางตัวอย่างไร
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค ทษช.กล่าวว่า รัฐบาลนี้มาโดยวิธีพิเศษ เลยจะขออยู่อย่างพิเศษ ทำงานอยู่แบบพิเศษ ซึ่งเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ขณะที่ 4 รัฐมนตรีเคยพูดไว้ว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นขอให้เป็นเรื่องของดุลพินิจผิดชอบชั่วดี
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนนี้สตช.เตรียมมาตรการพร้อมในการรองรับที่ กกต.จะสั่งการมาตามรัฐธรรมนุญ ส่วนการชุมนุมอย่ามีแล้วกันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มองอย่างเดียวคนแอบอ้างสถานการณ์เลื่อนเลือกตั้งแล้วจัดชุมนุม แล้วมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซง ในส่วนตำรวจมีแค่นี้ที่ต้องห่วง ตอนนี้มีทั้งกลุ่มหนุนกลุ่มค้านออกมาชุมนุม แต่เชื่อว่าคงไม่รุนแรงขึ้น เพราะยืนยันไปกับทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะบังคับใช้กฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ห่วงคือมือที่ 3 การข่าวขณะนี้ยังไม่มีเหตุ แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีอย่างเหตุการณ์ไม่สงบ 3 จังหวัดก็เลยมา 7 จังหวัด แล้วสถานการณ์ภาคใต้ช่วงนี้เหตุต่อเนื่อง ก็ระวังไม่ให้ขยายมาถึงจุดที่ชุมนุมประท้วง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |