ครม.คุมค่ารักษาพยาบาล


เพิ่มเพื่อน    


    ครม.ไฟเขียวยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาขึ้นบัญชีควบคุม เตรียมตั้งอนุ กก.ตัวแทนทุกฝ่ายเคาะมาตรการที่เหมาะสม ยันรัฐไม่แทรกแซง บี้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องติดค่ารักษาให้เห็นชัดเจน รพ.เอกชนดักคออย่ากระทบพัฒนาจนด้อยลง ผู้บริโภคขอบคุณ รมว.พาณิชย์ หวังทำได้มากกว่าขายไม่เกินราคาข้างกล่อง 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายสนธิ​รัตน์​ สนธิจิร​วงศ์​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวง​พาณิชย์​ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี​ ​(ครม.)​​ ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 จำนวน 52 รายการ จำแนกเป็น 46  สินค้า​ และ​ 6 บริการ​ ตาม​มติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)​ โดยให้ยา  เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุมใหม่
    ทั้งนี้​ การขึ้นเป็นบริการควบคุมในทางการแพทย์นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไปคุมราคาขั้นสูงสุดกับการรักษาพยาบาล​ เนื่องจากการรักษาพยาบาลนั้นเป็นบริการที่มีความจำเพาะเจาะจง ไม่เหมือนสินค้าทั่วไปที่มีราคาเดียว ซึ่งในที่ประชุม กกร.ได้มีมติชัดเจนแล้วว่า​ เมื่อขึ้นเป็นบริการควบคุมแล้วก็ให้มีอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย​ เช่น​ ตัวแทนของรัฐบาล คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนภาคธุรกิจคือโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน และตัวแทนของภาคประชาชน​เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการร่วม เพื่อกำหนดมาตรการที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง​ รวมถึงประชาชนที่จะต้องใช้บริการในการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลเอกชน เป็นการรักษาทางเลือก อีกทั้งให้ความเป็นธรรมโปร่งใสแก่ประชาชนที่รับบริการ​ โดยให้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการออกมาตรการ
    "ขอเรียนว่า​เวลาขึ้นเป็นบริการหรือสินค้าควบคุมนั้น​ มีทั้งมีมาตรการและไม่มีมาตรการ ในส่วนของเรื่องมาตรการก็มีความชัดเจนแล้วว่าให้ไปหารือเพื่อออกมาตรการที่เห็นชอบพร้อมกันทั้งหมด ขอย้ำว่าไม่อยากให้เป็นความตระหนกตกใจ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของตลาดทุน ว่ารัฐบาลจะเข้าไปควบคุมราคาสูงสุดของค่าบริการต่างๆ ทางการแพทย์​ ซึ่งไม่เป็นความจริง ในอดีตรายการสินค้าและบริการควบคุมทั้งหมดที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์กว่า 50 รายการนั้น​ มีเพียงน้ำตาลทรายตัวเดียวที่ควบคุมราคาสูงสุดไว้​ ส่วนตัวอื่นจะเป็นราคาที่เหมาะสมของสินค้าแต่ละเรื่อง เช่น การแจ้งต้นทุน ราคาแนะนำ จึงขอให้สบายใจว่ากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข​ทำเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ​เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย" นายสนธิ​รัตน์ระบุ
    รมว.พาณิชย์กล่าวว่า​ ตาม​พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีเรื่องแพ็กเกจของราคาแนะนำอยู่แล้ว​ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับรู้กันในวงกว้าง หรือรับรู้แต่ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ส่วนค่ายานั้นขึ้นเป็นตัวสินค้าควบคุมมานานพอสมควรแล้ว เช่น ไม่ให้ขายยาเกินกว่าราคาข้างกล่อง แต่เมื่ออยู่ในโรงพยาบาลอาจต้องมาดูในรายละเอียดกันต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย​ เนื่องจากต้นทุนการประกอบการไม่เหมือนกัน​ จึงต้องให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวดูในรายละเอียดต่อไป ซึ่งเมื่อแต่งตั้งแล้วสามารถประชุมได้ทันทีเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสม 
     อย่างไรก็ตาม ครม.ขอให้สบายใจว่ารัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซงแต่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำว่า​ให้กระทรวงพาณิชย์และคณะอนุกรรมการฯ ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ทั้งสองด้าน นำไปสู่ความเป็นฮับของประเทศไทยในอนาคต
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวว่า เป็นการทำตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้ต้องปรับปรุงรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกๆ  2 ปี ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลการดำเนินการของโรงพยาบาลเอกชนในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งต้องดูแลผู้ให้และผู้รับบริการทางการแพทย์ โดยมี รพ.เอกชนบางแห่งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จึงต้องพิจารณาความแตกต่างตรงนี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้คือ การมอบหมายให้ไปกำหนดมาตรการที่เหมาะสมออกมา ต้องดูกฎหมายหลายฉบับ และไม่ใช่จะไปควบคุมราคาได้ทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม จึงขอทุกฝ่ายอย่าเพิ่งวิตกและอย่าไปเคลื่อนไหวหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
    นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมคือ มี พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งควบคุมดูแลสถานบริการทางการแพทย์ และกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีป้ายแจ้งจุดที่ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบสิทธิของตน หรืออัตราค่าบริการทางการแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ ขณะที่ผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยได้รับทราบเพื่อใช้ในการตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษา จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำตรงนี้ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ หากใครพบว่ามี รพ.แห่งใดที่ไม่ติดป้ายดังกล่าวสามารถร้องเรียนมาได้ หรือหากใครเข้ารับบริการทางการแพทย์แล้วรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางรับเรื่องร้องเรียน 
    ทั้งนี้ ขออย่าเอาทุกอย่างไปขยายความอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับผู้รับบริการ รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านสถานพยาบาล ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องมาตรฐานของการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องมีมาตรฐานและความโปร่งใสในด้านราคาค่าบริการด้วย 
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นบัญชีสินค้า แต่ยังไม่ได้บังคับใช้ช่วงนี้ เพราะต้องให้กระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมคณะอนุกรรมการจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดราคาค่าบริการให้เหมาะสม โดยจะเร่งรัดให้ประชุมโดยเร็วที่สุดเพื่อเร่งบังคับใช้เรื่องค่ารักษาพยาบาล ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่าเห็นด้วย  เพื่อให้ค่ารักษาและเวชภัณฑ์ของ รพ.เอกชนใกล้เคียงกับ รพ.ของรัฐ หรือไม่แตกต่างกันมากเกินไป
    ด้าน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า จากนี้อยู่ที่การพิจารณาวางหลักเกณฑ์ของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งเราคงไม่ไปร้องขออะไร คงต้องปฏิบัติตามนั้น แต่เพียงอยากชี้แจงเรื่องต้นทุนของเราต่างกัน โรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในการเป็นทางเลือกของประชาชนซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ของ รพ.เอกชน อย่างไรก็ตามรู้สึกขอบคุณนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ที่พูดตรงกันว่า การจะเปลี่ยนแปลงอะไรอย่าให้ไปกระทบกับการพัฒนาโรงพยาบาลเมดิเคิลฮับของไทย ดังนั้นจะแก้ไขอย่างไรก็อย่าให้กระทบกับประสิทธิภาพของ รพ.เอกชน หรือกระทบกับทางเลือกของประชาชนจนด้อยลงไป เพียงเพราะไปแก้ปัญหาของคน 2-5% แล้วกระทบคนส่วนมาก 95% ที่มาใช้บริการ รพ.เอกชนเป็นประจำ ทั้งนี้หากไม่เกิดการพัฒนาก็ห่วงว่าผลสุดท้ายคนไทยเองจะลำบาก เพราะไม่มี รพ.ดีๆ แล้วต้องบินไปรักษาที่ รพ.ต่างประเทศเหมือนในอดีต
    คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชม รมว.พาณิชย์ที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ ทั้งนี้ขอให้เร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม โดยเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการไว้แล้ว จึงคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้จะสามารถเดินหน้าได้ทันทีในการเสนอมาตรการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) เพราะนี่จะเป็นบทพิสูจน์การแก้ปัญหาค่ารักษาแพงของโรงพยาบาลเอกชน ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"