เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษ เสนอคำแปรญัตติหวังให้รัฐบาลยืดเวลาเบร็กซิต เพื่อให้เวลาสภาพิจารณาแผนทางเลือกที่ป้องกันการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงและให้ประชาชนได้ลงประชามติกันใหม่
แฟ้มภาพ วิดีโอเผยแพร่การประชุมของสถานีโทรทัศน์รัฐสภาอังกฤษเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน ขณะอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี / PRU / AFP
ความเคลื่อนไหวล่าสุดภายในสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นภายหลังนายกฯ เมย์ พยายามกอบกู้แผนการถอนสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่เคยอยู่ร่วมกันมานาน 46 ปี เพื่อให้ทันเส้นตายที่กฎหมายการพ้นสมาชิกภาพจะมีผลในวันที่ 29 มีนาคม
ข้อตกลงที่รัฐบาลอังกฤษลงนามไว้กับสมาชิกอียูเมื่อปลายปีที่แล้วถูกสภาสามัญชนแห่งนี้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยผลต่างคะแนนถึง 230 คะแนน หรือคะแนนเห็นชอบ 202 ต่อไม่เห็นชอบ 432 เสียง และนับเป็นความพ่ายแพ้ในการลงมติของสภาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุคใหม่ แต่เมย์สามารถรอดพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจหนึ่งวันถัดจากนั้น และนางได้รับปากจะเจรจากับทุกพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ และนำข้อเสนอใหม่ยื่นต่อสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ข้อเสนอที่มีการปรับแก้หลายประเด็นจะส่งเข้าสภา เพื่อลงมติอีกครั้งในวันอังคารที่ 29 มกราคม
รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม กล่าวว่า เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานในซีกฝ่ายค้าน โจมตีเมย์ว่าไม่ยอมรับเลยว่าการคัดค้านข้อตกลงนี้มีมากถึงระดับไหน และเขาได้ยื่นคำแปรญัตติต่อสภา เพื่อบังคับให้รัฐบาลยอมขยายเวลาแก่สภาในการพิจารณาและลงมติทางเลือกต่างๆ เพื่อป้องกันการถอนตัวแบบ "ไร้ข้อตกลง" ซึ่งรวมถึงทางเลือกว่าด้วยสหภาพศุลกากรกับอียู, การคงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับตลาดเดียวของอียู และการให้ประชาชนได้ลงมติอีกครั้งเรื่องข้อตกลงหรือข้อเสนอ
การยื่นคำแปรญัตติครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หัวหน้าพรรคแรงงานผลักดันข้อเสนอแผนการให้ประชาชนลงประชามติครั้งที่ 2 ซึ่งสร้างความยินดีแก่ฝ่ายต่อต้านเบร็กซิตบางคน แต่พรรคแรงงานแจงว่า คำแปรญัตตินี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคสนับสนุนให้มีการจัดประชามติเบร็กซิตใหม่ และคำแปรญัตติของพรรคคงจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่
คำแปรญัตติของเขาเป็น 1 ใน 6 ของคำแปรญัตติที่เสนอต่อประธานสภาเมื่อวันจันทร์ ซึ่งรวมถึงการขอให้เลื่อนการถอนตัวจากอียู, การลงประชามติครั้งใหม่ หรือแม้แต่การขอให้สภาเป็นผู้ควบคุมกระบวนการเบร็กซิต แต่ใช่ว่าคำแปรญัตติจะถูกส่งให้สภาลงมติทั้งหมด การตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับจอห์น เบอร์คาว ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประกาศผลการเลือกคำแปรญัตติในวันอังคารหน้า โดยบีบีซีกล่าวว่า ช่วงเวลาระหว่างนี้อาจมีการเสนอคำแปรญัตติเพิ่มเติมอีก
นักเคลื่อนไหวฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิต (ขวา) ชูป้าย "เราลงคะแนนเพื่ออิสรภาพ" ส่วนฝ่ายต่อต้านเบร็กซิตถือธงของสหภาพยุโรปและธงสหภาพ ขณะชุมนุมด้านนอกรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 / AFP
นับแต่การลงประชามติของสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่เสียงส่วนใหญ่ 52 ต่อ 48 เห็นด้วยกับการถอนตัวจากอียู จนถึงขณะนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนเศษก็จะถึงวันแยกทาง รัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถหาฉันทมติกันได้ว่าจะถอนตัวจากอียูอย่างไร อนาคตที่ยังคาดเดาไม่ได้นี้มีทางเลือกตั้งแต่การถอนตัวอย่างไร้ระเบียบโดยปราศจากข้อตกลง ซึ่งจะสร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนทั่วโลก ไปจนถึงการจัดประชามติอีกครั้ง เพื่อกลับลำกระบวนการทั้งหมด
เมื่อวันอังคาร คริสติน ลาการ์ด ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวกับสถานีซีเอ็นบีซีว่า การเบร็กซิตที่ไร้ข้อตกลงจะเป็นสภาพการณ์เลวร้ายที่สุดอย่างเห็นได้ชัด
ส.ส.ฝ่ายต่อต้านเบร็กซิตพยายามกดดันให้นายกฯ เมย์ ปฏิเสธหนทางนี้ แต่นางบอกปัด และยังเตือนด้วยว่า ประชามติครั้งใหม่จะยิ่งให้ท้ายพวกที่ต้องการทำให้สหราชอาณาจักรแตกเป็นเสี่ยง และอาจทำลายความสามัคคีในสังคมด้วยการบ่อนทำลายศรัทธาต่อประชาธิปไตย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |