กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุออกกำลังกายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยหมั่นออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ และลดพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุร้อยละ 17.9 มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดประมาณปี พ.ศ.2564 ซึ่งจะถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น คุณหมอระบุว่า สาเหตุเกิดจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความรุดหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้อัตราการเกิดต่ำและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สังคมไทยมีประชากรวัยเด็กลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การที่จะมีอายุยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและพึ่งพาตนเองได้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นพ.สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุควรเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และลดพฤติกรรม เช่น นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี หรือเล่น social media เป็นเวลาทีละนานๆ เป็นต้น โดยรูปแบบกิจกรรมทางกายที่ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1.กิจวัตรประจำวันที่ทำด้วยตนเองที่บ้านหรือในยามว่าง ได้แก่ งานบ้าน กวาดถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้ 2.กิจกรรมการเดินทาง ได้แก่ การเดินไปจ่ายตลาด การเดินไปทำงาน ปั่นจักรยาน 3.กิจกรรมสันทนาการหรืองานอดิเรก เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตใจและสมอง เช่น การร้องเพลง เต้นรำ วาดภาพ ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้ 4.การออกกำลังกายง่ายๆ เช่น ลีลาศ รำไท้เก๊ก รำไม้พลอง
ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่อาจได้รับอันตรายจากการออกกำลังกาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคข้อเข่าเสื่อม ควรได้รับคำแนะนำหรืออยู่ในการดูแลของแพทย์หรือ นักกายภาพบำบัด การออกกำลังกายควรเริ่มด้วยการยืดเหยียด warm up เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมและปรับตัวได้ทัน การออกกำลังต้องไม่หนักเกินไป โดยอาจสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าออกกำลังกายหนักเกินไป เช่น เวียนศีรษะ ใจสั่น จุกเสียดแน่นหน้าอก และก่อนหยุดออกกำลังควรมีการ warm down
"การออกกำลังกายเป็นประจำจะส่งผลดีต่อร่างกายหลายระบบ เช่น หัวใจหลอดเลือด ฝึกการทรงตัวเพิ่มความแข็งของกล้ามเนื้อทำให้ลดความเสี่ยงการหกล้ม ลดการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงลดโอกาสกระดูกหัก กระตุ้นการทำงานของลำไส้ลดอาการท้องอืดท้องผูก และยังทำให้สดชื่นลดการเกิดภาวะซึมเศร้าอีกด้วย" นพ.สกานต์ตอกย้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |