พรรคประชาชาติ กับสนาม กทม. ชูธงนำ "พหุวัฒนธรรม"


เพิ่มเพื่อน    

        พรรคประชาชาติ ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรค เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานครครบทุกเขตเลือกตั้ง และมีคิวจะเปิดตัวและปราศรัยย่อย แนะนำผู้สมัครทั้งหมดในวันอาทิตย์ที่ 27 ม.ค.นี้ บริเวณที่ทำการพรรค ณ ซอยสรงประภา 30 เขตดอนเมือง

        สำหรับเขตเลือกตั้งบางกะปิและเขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เลือกตั้งที่ถูกจับตามอง หลังพรรคประชาธิปัตย์ส่ง พริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ ไอติม หลานชายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงแข่งขันกับ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส หรือ ปุ๊น จากพรรคเพื่อไทย

        อย่างไรก็ตาม เขตดังกล่าวพรรคประชาชาติก็ส่งสุภาพสตรี วรลักษณ์ ศรีสอาด หรือจูฟะห์ ผู้บริหารศูนย์อาหารฮาลาล ราม 59 มินิพลาซ่า ซอยรามคำแหง 59 ลงแข่งขัน อันเป็นการลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกของเธอเช่นกัน  

        โดย วรลักษณ์-จูฟะห์ เล่าถึงการลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ ที่ถือเป็นการลงสนามครั้งแรก เพราะไม่เคยลงสมัครเลือกตั้งมาก่อนทั้งระดับชาติและท้องถิ่น แต่เมื่อเห็นว่า เวลานี้ประเทศมีปัญหามากมาย และพรรคประชาชาติเปิดพื้นที่ให้โอกาส ก็เลยตัดสินใจลงสมัคร ยิ่งเมื่อลงพื้นที่หาเสียง ก็มีเสียงตอบรับสนับสนุนในทางที่ดี จึงทำให้มั่นใจพอสมควร

        ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาชาติ เล่าว่า ที่เข้ามาสู่การเมืองการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเราอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งบางกะปิ-วังทองหลาง จึงทราบปัญหาในพื้นที่อย่างดี เพราะอยู่เขตบางกะปิมา 30 ปี จึงรู้ว่าพี่น้องในชุมชนของเราเขามีปัญหาอะไรบ้าง เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้เราเห็นเลยว่าปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลแก้ไข และเมื่อไปอีกบางชุมชน มีการแนะนำให้ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้สูงอายุก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ ก็มารวมตัวกันทำกระเป๋าที่ทำมาจากผักตบชวา เศษผ้า ที่มีคนแนะนำให้ทำ แต่เมื่อทำแล้วก็ไม่ได้มีการไปต่อยอดให้ เช่น ทำแล้วไม่มีสถานที่ขาย เมื่อไม่สุดแบบนี้ ถามว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่ จากการลงพื้นที่จึงได้รับรู้ปัญหาหลายอย่างของประชาชนอย่างแท้จริง

...ที่มาลงสมัครพรรคประชาชาติ เพราะเป็นพรรคของประชาชน และพรรคไม่ได้จำกัดอยู่ว่า พรรคเป็นคนเลือกคนลงสมัคร ส.ส. แต่พรรคได้เล็งเห็นว่าผู้สมัคร ส.ส.จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าถึงประชาชนจริงๆ และที่สำคัญพรรคให้สิทธิ์ เพราะพรรคประชาชาติโดยหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค พูดเสมอว่าพรรคประชาชาติ คือพรรคของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งและประชาชนคือคนที่สำคัญที่สุดของพรรค

...พรรคประชาชาติชูนโยบายที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะเรื่อง พหุวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าคนในสังคมจะมีความแตกต่างในเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ กระนั้นพวกเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งพื้นที่ของเราเองคือเขตบางกระปิ-วังทองหลาง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างบริเวณ วัดเทพลีลา หรือวัดตึก ที่มีชุมชนมุสลิม ซึ่งมีความแตกต่างทางด้านศาสนา และอยู่ติดกับวัดตึก เขาก็มาจากทางใต้ทางมลายู แต่เขาก็อยู่ร่วมกันได้ อันนี้คือสมัยก่อน ส่วนปัจจุบันคนในพื้นที่ เช่น บริเวณตลาดบางกระปิ ไม่ใช่เฉพาะแค่มลายู แต่ยังมีคนต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินที่ตลาดบางกระปิเยอะมาก แต่เขาอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นแนวนโยบายของพรรคคือ พหุวัฒนธรรม จึงเป็นนโยบายที่โดนใจเรา นอกจากนี้ พรรคประชาชาติยังให้โอกาสให้สิทธิเสรีภาพกับบุคคลต่างๆ ที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติให้เข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารพรรค หรือผู้สมัคร ส.ส.ก็ตาม สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้พรรคประชาชาติแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น

-พรรคประชาชาติเป็นพรรคใหม่ ไม่มีฐานเสียงใน กทม. ทั้งอดีต ส.ส.-ส.ก. และ ส.ข. ส่งผลอะไรหรือไม่ในการหาเสียงลงพื้นที่?

พื้นที่ของเราคือ บางกะปิ วังทองหลาง มีทีมงานที่เป็นอดีต ส.ข. ประมาณ 4-5 คน ที่เคยอยู่กับพรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรค แต่รอบนี้เขามาช่วยเราหาเสียงอย่างเต็มที่ สาเหตุเป็นเพราะอดีต ส.ข.เหล่านั้นเขาคือญาติพี่น้องของเรา และเขาเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่จริงๆ จึงรู้ปัญหาในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีปัญหาในพื้นที่ เขาไม่ได้วิ่งไปหาพรรคต้นสังกัด แต่วิ่งมาหาพวกเรา ทำให้เราสัมผัสกับประชาชนจริงๆ

...จากการลงพื้นที่หาเสียงแนะนำตัว กระแสตอบรับดีมาก อย่างในพื้นที่ซึ่งมีคนไทยมุสลิมอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เวลาลงพื้นที่ เมื่อไปเจอคนที่นับถือศาสนาต่างกัน เช่น ผู้นับถือศาสนาพุทธ เมื่อเขาเห็นจูฟะห์แล้ว ได้คุยกันแค่ 2 ประโยค เขาสวมกอดเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เราเมกขึ้น แต่เป็นภาพจริงเวลาเราลงพื้นที่ นั่นคือกำลังใจที่ได้มา ซึ่งก็ทำให้เรามั่นใจว่า ถ้าเราเจอภาพแบบนี้ แล้วมาหลายๆ จุด ซึ่งพื้นที่เลือกตั้งที่ลงมีด้วยกัน 3 แขวง แต่ละแขวงที่เราลงพื้นที่มีความรู้สึกที่ดี คือเขาเปิดรับเรา เพื่อให้เรามาช่วย มาดูแลพวกเขาจริงๆ

...เรื่องนโยบายพรรค พหุวัฒนธรรม ตอนที่หาเสียง เราใช้คำเดียวว่า แม้คุณจะเป็นคนต่างศาสนากับเรา แต่คุณเห็นด้วยกับเราไหมว่าถ้าเราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข อย่างชุมชนที่เราเข้าไปในพื้นที่เขามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แล้วถ้าชุมชนอื่นสามารถทำได้ในทุกๆ ชุมชน ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มันจะดีไหม เราอยู่ด้วยกัน เราต้องเอื้อกัน ใช้การช่วยเหลือ ใช้การแบ่งปัน ถ้าทุกพื้นที่ทั่วประเทศใช้จุดที่เราอยู่ร่วมกันตรงนี้ เป็นต้นแบบ เป็นโมเดลที่ดี คุณว่าดีไหม แค่นั้นเอง เขาก็สวมกอดเราแล้ว

ถามถึงว่าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อใด วรลักษณ์ ศรีสอาด-จูฟะห์ บอกว่า เราก็มีญาติเป็น ส.ข.ในพื้นที่ และสามีก็เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของผู้ประสบความสำเร็จของหลายๆ คนในเรื่องของการเมือง แต่เขาไม่เปิดตัว มีแต่การช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องการเมือง แม้หากไม่สนใจ แต่การเมืองก็จะเข้ามายุ่งกับเราในทุกมิติ ในชีวิตเรา ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรทำอะไรให้มันดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าที่เราทำทุกวันนี้เพื่อตัวเรา เพราะหากทำให้ตัวเรา หมดสิทธิ์พูดเลย เพราะแม้กระทั่งเวลาจะให้ลูก ยังไม่มีเลย แต่เราทำทุกวันนี้ เราจะทำเพื่อประชาชนจริงๆ

"สำคัญที่สุดลูกหลานเราที่จะเติบโตในอนาคต เราต้องการเห็นลูกหลานเรา เติบโตโดยมีชีวิตที่ไม่ใช่แบบปัจจุบัน แต่ต้องดีขึ้น อันนี้คือความคิดของเรา ที่มองว่าหากเราทำได้ มันน่าจะช่วยในการพัฒนาบางสิ่งบางอย่างให้มันดีขึ้น ให้มันน่าอยู่ขึ้น ลูกหลานเราจะได้ไม่ต้องเจอสภาพแบบนี้"

วรลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ ปัญหาที่ประชาชนสะท้อนออกมา ส่วนใหญ่ก็คือเรื่องปัญหาปากท้อง แต่ก็ยังมีอีกบางปัญหา เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน ที่มีอยู่มาก เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา หรือเรื่องความเป็นอยู่

...การแข่งขันในพื้นที่ก็มีสูง แต่ว่าในส่วนของเราที่ทำงานมาตลอดชีวิต ประชาชนรู้และเห็น การช่วยเหลือของเราไม่จำเป็นต้องไปบอกใครว่าเราทำอะไร แต่ ณ วันนี้ จะพิสูจน์ออกมาว่า สิ่งที่พวกเราทำมาตลอด ผลจะเริ่มออกมา เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็จะทราบแล้วว่า สิ่งที่เราทำมา กลับมาหาเรา

"ตอนนี้คน กทม.เขาก็รับรู้ข่าวสารค่อนข้างเยอะ มั่นใจว่าเขาต้องดูแล้วว่า ที่ผ่านมาอาจจะรักพรรคไหนก็แล้วแต่ ทว่าปัจจุบันมีพรรคการเมืองทางเลือก เขาก็คงศึกษานโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเขาหรือไม่ และเป็นนโยบายที่สามารถนำมาทำได้จริงหรือไม่ มั่นใจว่าคนกรุงเทพมหานครเขาจะพิจารณา จะไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราอย่าบอกว่าคน กทม.จำกัดการเลือกแค่บางพรรค เพราะวันนี้เรามั่นใจว่าคน กทม.เขาพิจารณาก่อนเลือกแน่นอน เราก็มั่นใจว่าพรรคประชาชาติจะอยู่ในหนึ่งการพิจารณานั้น" วรลักษณ์ ศรีสอาด-จูฟะห์ ระบุตอนท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"